วันที่ 20 ตุลาคมนี้ พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) 2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา จะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเเล้ว
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ นั้น ครอบคลุมในหลายกรณี ทั้งกรณีที่ผู้ประกันตนเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และที่สำคัญคือ มีการกำหนดมาตรการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใสและความมีมาตรฐานจากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน
โดยสามารถสรุปสาระสำคัญการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ดังนี้
เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน
๑. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (มาตรา ๖๓)
เพิ่ม : ค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีได้รับความเสียหาย จากการรับบริการทางการแพทย์
๒. กรณีคลอดบุตร (มาตรา ๖๕)
มีสิทธิได้รับไม่จำกัดจำนวนครั้ง
๓. กรณีสงเคราะห์บุตร (มาตรา ๗๕ ตรี)
มีสิทธิได้รับสำหรับบุตรอายุ ๐-๖ ปี คราวละไม่เกิน ๓ คน
๔. กรณีว่างงาน (มาตรา ๗๙/๑)
เพิ่ม : ให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตน กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่นกรณีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม
๕.ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง(มาตรา๗๓/๑)
เพิ่ม : สิทธิประโยชน์กรณีตายแก่ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ
๖. ผู้จงใจให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพและตาย (ยกเลิกมาตรา ๖๑)
เพิ่ม : สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนที่จงใจทำให้ตนเองบาดเจ็บทุพพลภาพ และตาย หรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น
๗.กรณีทุพพลภาพ
เพิ่ม : ๗.๑ผู้ประกันตนซึ่งสูญเสียสมรรถภาพ ไม่ถึงร้อยละ ๕๐ ของร่างกาย มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ (มาตรา ๗๑)
๗.๒ ผู้ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๘ ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิต (บทเฉพาะกาล)
๘. กรณีตาย (มาตรา ๗๓) เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย
เพิ่ม :
- ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่สามสิบหกเดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยยี่สิบเดือน
ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายเดือนที่คำนวณได้ ตามมาตรา ๕๗ คูณด้วยสี่
-ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยยี่สิบเดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายเดือนที่คำนวณได้ตามมาตรา ๕๗ คูณด้วยสิบสอง
๙. ปรับปรุง หลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์
เพิ่ม : (มาตรา ๗๗ จัตวา)
๙.๑ ผู้ประกันตน สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ ไว้ล่วงหน้าได้ โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท หากไม่มีทายาท หรือไม่มีบุคคลที่ทำหนังสือระบุ จะให้สิทธิแก่พี่ น้อง ปู่ ย่าตา ยาย ลุง ป้า น้า อา
๙.๒ ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจาก ๑ ปี เป็น ๒ ปี (มาตรา ๕๖)
ขยายความคุ้มครอง
๑. ลูกจ้างส่วนราชการ (มาตรา ๔)
- ขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ
๒.ขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและไปประจำทำงานในต่างประเทศ(มาตรา๔)
๓. แก้ไขนิยามคำว่า ลูกจ้าง
- แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่าลูกจ้างเพื่อให้ครอบคลุมถึงลูกจ้างทั้งหมด (มาตรา ๕)
ความโปร่งใส ตรวจสอบได้
๑. คณะกรรมการตรวจสอบ (มาตรา ๒๔/๑)
- กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้ง เพื่อกำกับดูแลความโปร่งใส ได้มาตรฐาน โดยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกันสังคม
๒. คณะกรรมการประกันสังคม (มาตรา ๘)
- กำหนดวิธีการได้มา คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของกรรมการประกันสังคม และต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
๓. ที่ปรึกษา (มาตรา ๘/๑)
- มาจากการสรรหาตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ
๔. คณะกรรมการการแพทย์ (มาตรา ๑๔)
- กำหนดวิธีการได้มา โดยให้มาจากการสรรหาตามระเบียบที่รัฐมนตรี กำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกันสังคม กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการการแพทย์
การบริหารการลงทุน (มาตรา ๒๖ วรรคสาม )
- กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานประกันสังคมได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนไม่เป็นที่ราชพัสดุจะมีผลทำให้สำนักงานประกันสังคมสามารถนำเงินกองทุนไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงได้
เงินสมทบ
๑. รัฐบาลสามารถออกประกาศลดหย่อนการออก เงินสมทบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนและนายจ้างให้ได้รับผ่อนปรนการเก็บเงินสมทบในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติ (มาตรา ๔๖/๑)
๒. แก้ไขเพิ่มเติมเกณฑ์การคำนวณเงินเพิ่มกรณีนายจ้างค้างชำระเงินสมทบโดยกำหนด ให้จำนวนเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย (มาตรา ๔๙)
๓. กำหนดให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ประกันตน มาตรา ๔๐ ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน (มาตรา ๔๐)
คลิก ดาวน์โหลดตารางสรุปสาระสำคัญการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เปรียบเทียบพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๘