หวงและห่วงคำ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มา:มติชนรายวัน 12 ต.ค.2558

มีคำอยู่สองคำในภาษาไทยที่ถูกใช้ไปในทางที่ไม่ตรงกับความเข้าใจของผม แค่นี้ไม่แปลกนะครับ เพราะที่จริงคงมีอีกเป็นหลายร้อยคำด้วยซ้ำ เพราะส่วนหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงด้านภาษาคือการเคลื่อนความหมายไปได้เรื่อยๆ โดยที่คำสั่งของรัฐหรือครูหรือคนแก่ไม่อาจยับยั้งมันได้ ดังนั้น ในชีวิตจริงนอกห้องสอบจึงไม่มีผิด-ถูกในภาษา อย่างมากก็ใช้อย่างพิสดารกว่าที่เขาใช้กันทั่วไป ความพิสดารนี้ไม่น่าห่วง เพราะมันมีข้อจำกัดในตัวเอง พิสดารจนคนอื่นไม่รู้เรื่อง ภาษาของเขาก็สูญเสียหน้าที่ทางสังคม และต้องตายไปในเร็ววัน ถึงตัวคนที่ใช้ภาษาพิสดารสุดกู่ไม่ตายตามไปด้วย แต่คงอดอยากน่าดู

ความหวงและห่วงสองคำในภาษาไทยที่จะพูดถึงนี้ ไม่ใช่เรื่องผิด-ถูก แต่ผมระแวงว่าเป็นการใช้อย่างฉ้อฉล คือผู้ใช้รู้อยู่แล้วว่าความหมายที่แท้จริงของสองคำนี้มิได้เป็นอย่างที่ตนพยายามสร้างขึ้นใหม่แต่อย่างไร หากพยายามยัดเยียดความหมายใหม่นี้เพื่อมุ่งประโยชน์แก่อำนาจของตนหรือกลุ่มตน โดยอาศัยเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ความหมายของสองคำนี้อย่างแน่ชัด ก็แน่นอนนะครับ จะฉ้อฉลคำได้ ก็ต้องฉ้อฉลกับคำที่คนทั่วไปไม่ชัดเจนในความหมายทั้งนั้น

คำแรกคือคำประชารัฐ ผมไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เริ่มฉ้อฉลความหมายของมันก่อน ระหว่าง คสช.กับองค์กรกลุ่มตระกูล ส. เพราะในปาฐกถาและข้อเขียนของท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ก็มีเรื่องความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชน แม้ท่านไม่ได้ใช้คำประชารัฐเพื่อแทนความหมายนี้ แต่หลังจากที่หัวหน้า คสช.พูดถึงความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชนว่าเป็นความหมายของประชา+รัฐแล้ว โครงการขององค์กรตระกูล ส. ก็เริ่มพูดถึงประชารัฐว่าคือการร่วมมือกันระหว่างประชาและรัฐ

แต่ประชารัฐไม่ได้มีความหมายอย่างนั้น หากเป็นคำที่บัญญัติขึ้นใหม่ในภาษาไทย เพื่อให้ตรงกับคำว่า nation-state หรือ national state (อาจจะโดยกรมหมื่นนราธิปฯ แต่ผมไม่แน่ใจ)

ผมไม่ได้สืบค้นว่า เมื่อตอนที่เขาเอาคำนี้ไปแทนที่คำว่าประชาธิปไตยในเนื้อร้องเพลงชาตินั้น เขาเพิ่งบัญญัติขึ้นหรือคำนี้ถูกบัญญัติขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ความหมายของ national state นั้นไม่มีในภาษาไทย ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะมันก็ไม่มีในภาษาอื่นๆ ทั้งโลกมาก่อนทั้งนั้น เพราะประชารัฐเป็นรัฐแบบใหม่ซึ่งไม่เคยมีในโลก จนเมื่อเกิดขึ้นในยุโรปเมื่อประมาณช่วงก่อนและหลังปฏิวัติฝรั่งเศสนี่เอง บางภาษาแปลงความหมายของคำเก่ามาใช้ บางภาษาบัญญัติคำขึ้นใหม่ (นักวิชาการตะวันตกบางคนเชื่อว่าอย่างน้อยแนวคิดเรื่องชาติมีมาตั้งแต่โบราณแล้ว คือความรักผูกพันกับคนร่วมวัฒนธรรมและถิ่นกำเนิด แต่ผมไม่เห็นด้วย)

ภาษาอังกฤษ (และยุโรปอีกหลายภาษา) เอาคำว่า nation มาใช้ ความหมายที่แท้จริงของคำนี้คือการเกิด, แหล่งเกิด, คุณลักษณะบางอย่างของคนในวัฒนธรรมนั้นๆ ที่ติดตัวมาแต่เกิด อย่างเดียวกับคำว่า "ชาติ" ในภาษาไทยเก่า ซึ่งมักใช้ด้วยคำซ้อนว่าชาติภาษาอยู่เสมอ

และคำว่าชาติซึ่งใช้ในภาษาไทยปัจจุบัน ดังในคำขวัญว่า "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ก็เช่นเดียวกับคำ nation คือแปลงความหมายเก่ามาใช้ในความหมายถึงประชารัฐ

โดยสรุปก็คือ เมื่อไรเราพูดถึง "ชาติ" หรือ nation เรากำลังพูดถึงประชาชน การเกิดในภาษายุโรปก็คือคนเกิด ในศัพท์บัญญัติของเอเชีย คำว่า "ชาติ" ต้องมีคำว่าประชาชนผสมอยู่ด้วยเสมอ ในภาษาจีนคำว่าเหยินหรือหมิงซี่งแปลว่าคนและประชาชนจะเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของคำว่าชาติเสมอ กว๋อหมิงต่างคือพรรคชาตินิยม จงกว๋อเหยินหมิงคือสาธารณรัฐประชาชนจีน (อย่าเอาจริงนักนะครับ เดาทั้งเสียงและความหมายเอาเอง) ผมเปิดดิกชันนารีอังกฤษ-จีน พบว่าคำว่า nation เขาแปลว่า "หน่าเหยิน" ถามคนรู้ภาษาจีนแบบงูๆ ปลาๆ เขาว่าแปลตามตัวคือ "ประชาชนนั่น" ผมเดาต่อว่า "นั่น" คือทำให้ประชาชนกลายเป็นองค์รวมทั้งหมด ไม่ใช่ประชาชนเป็นคนคนไป

แต่ทั้งนี้ยกเว้นภาษาไทยครับ คำว่า "ชาติ" อาจมีความหมายถึงคนก็ได้หากยังนึกถึงรากศัพท์ซึ่งเกี่ยวกับการเกิด แต่มันถูกใช้ในความหมายที่ห่างไกลจากคนหรือประชาชนไปทุกทีจนความหมายคนหายไปแล้ว "ชาติ" ในสถาบันหลักทั้งสามของเราหมายถึงอะไรครับ? ที่สอนให้เด็กรัก "ชาติ" นั้นให้รักอะไรครับ? มันคลุมเครือไม่ชัดเจนเสียจนเราหันไปยึดวัตถุที่เป็นตัวแทนของ "ชาติ" มากกว่าประชาชน เช่นธงชาติและการเคารพธงชาติอย่างเคร่งครัด ซ้ำซาก และน่าเบื่อ หรือเขาพระวิหารกับที่ดิน 4.6 ตร.กม. จนเราสามารถยกระดับความขัดแย้งขึ้นมาถึงขนาดปะทะกับเพื่อนบ้านด้วยกำลังอาวุธ และ "ประชาชน" ชายแดนเดือดร้อนแสนสาหัสได้ เราอยากได้เรือดำน้ำมาป้องกัน "ชาติ" ความหมายคือป้องกันอะไรครับ? ผมคิดว่าไม่มีใครในหมู่ผู้อยากซื้อกระจ่างแจ้งสักคน

แต่ถ้าคิดว่าป้องกัน "ชาติ" คือป้องกัน "ประชาชน" ก็จะเห็นได้ว่าไม่ซื้อดีกว่า ไม่ใช่เพราะประชาชนไม่ถูกเบียดเบียนจากสถานการณ์ภายนอกเลยนะครับ ถูกเบียดเบียนอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน เช่น ยาเสพติด, การปล้นสะดมและลักขโมยจากชุมโจรซึ่งอยู่ต่างประเทศ, นายทุนต่างชาติซึ่งทำร้ายประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนต้องอิงอาศัยในการดำรงชีวิต ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้เรือดำน้ำช่วยป้องกันไม่ได้สักเรื่อง จึงไม่รู้ว่าจะเอาเรือดำน้ำไปทำไม

เพราะ "ชาติ" ไม่ได้มีความหมายถึงประชาชนนี่แหละครับ จึงทำให้คนที่คิดว่าตัวเป็นเจ้าของ "ชาติ" มากกว่าคนอื่นเช่นกองทัพ ทำอะไรต่อมิอะไร นับตั้งแต่ซื้ออาวุธและยึดอำนาจบ้านเมือง โดยไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าจะเป็นผลดีต่อ "ประชาชน" อย่างไร ได้แต่อ้างว่าจะเป็นผลดีต่อ "ชาติ" เท่านั้น จริงหรือไม่เราก็เถียงไม่ได้ เพราะ "ชาติ" หมายถึงอะไรก็ไม่มีใครรู้สักคน

นักวิชาการในรุ่นหลังคงมีสำนึกถึงข้อจำกัดของคำว่า "ชาติ" เหมือนกัน จึงได้บัญญัติศัพท์คำว่า nation ขึ้นใหม่ว่า "รัฐประชาชาติ" คือรัฐที่เป็นของประชาชน ไม่ใช่รัฐที่เป็นสมบัติของฮ่องเต้, กองทัพ หรือนายทุน แต่ที่จริงคำนี้ถูกบัญญัติไว้แล้วคือ "ประชารัฐ" ประเทศไทยในปัจจุบันอาจเป็น "ราชอาณาจักร" ก็จริง เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่โดยเนื้อแท้ซึ่งสำคัญกว่าก็คือ เราเป็นประชารัฐ ซึ่งทำให้เราต่างจากกรุงศรีอยุธยา, ตามพรลิงค์, ลพบุรี, ทวารวดี, สุโขทัย, ล้านนา, ล้านช้าง ฯลฯ ซึ่งก็เป็นราชอาณาจักรเหมือนกัน

แม้แต่การแก้คำว่าประชาธิปไตยในเพลงชาติให้เป็น "ประชารัฐ" ก็ไม่เสียความหมายมากนัก เพราะตราบเท่าที่รัฐไทยเป็นประชารัฐ ประชาชนก็ต้องเป็นใหญ่เพราะเป็นรัฐของประชาชน

คำนี้แยกจากกันไม่ได้ จึงไม่สามารถมีความหมายว่าประชาชนกับรัฐร่วมมือกัน เพราะขอประทานโทษเถิดครับ รัฐของมึงเป็นหน่วย (entity) ที่เกิดขึ้นมาเป็นอิสระต่างหากออกไปได้อย่างไร

ผมจึงหวงและห่วงคำว่า "ประชารัฐ" ไม่อยากให้ถูกฉ้อฉลไป เพราะเรามีคำที่หมายถึง nation-state น้อยอยู่แล้ว ซ้ำยังไม่ค่อยยอมใช้กันด้วย จึงเปิดโอกาสให้มีคนหลากหลายประเภทฉกฉวยเอาคำว่า "ชาติ" ไปหาประโยชน์ทางอำนาจและทรัพย์ศฤงคารใส่ตัว

อีกคำหนึ่งที่ผมห่วงมากกว่าหวงคือคำว่า "ประชานิยม"

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่าคำนี้บัญญัติขึ้นเพื่อแทนคำภาษาอังกฤษว่า populism แต่ในภาษาอังกฤษมันมีสองความหมาย หนึ่งคือความหมายที่สื่อและนักการเมืองชอบใช้เพื่อโจมตีคนหรือพรรคที่ตัวไม่ชอบว่าทำอะไรมุ่งแต่จะหาเสียงเท่านั้น กับอีกความหมายหนึ่งคือนโยบายหรือความเชื่อต่อนโยบายที่ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องหรือประโยชน์ของประชาชน ความหมายนี้จะถือว่าดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ เช่นความเคลื่อนไหวของกลุ่ม Occupy ทั้งหลายก็เป็นประชานิยม ดีเพราะคานอำนาจของนายทุนและรัฐนายทุน ที่ดึงประโยชน์ทุกอย่างไปปรนเปรอนายทุนเสียหมด แต่ก็ไม่ดีนัก เพราะเกิดการทำลายระเบียบสังคมไปอย่างกว้างขวาง ก็แล้วแต่จะมองนะครับ

นโยบาย New Deal ของประธานาธิบดีรูสเวลต์ ซึ่งช่วยให้รายได้กระจายไปถึงคนเล็กคนน้อยอย่างทั่วถึง และกระตุ้นการผลิตของคนทุกระดับ จนทำให้สหรัฐหลุดพ้นจากเศรษฐกิจตกต่ำก็เป็นนโยบายประชานิยมเหมือนกัน ตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าก็คือตอบสนองต่อความจำเป็นพื้นฐานของประชาชนจำนวนมากซึ่งตกงานและกำลังจะอดตาย ทั้งยังประสบความสำเร็จอีกด้วย จึงเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีและเหมาะสมกับสถานการณ์ของสหรัฐในช่วงนั้น

ผมอยากเรียกประชานิยมในความหมายนี้ว่าเป็นความหมายกลางๆ ดีหรือไม่ดีก็ดูที่ผลของมัน และเถียงกันได้ เพราะนโยบายประชานิยมบางชนิดก็อาจดีในระยะสั้น แต่ไม่ดีในระยะยาว หรือกลับกัน อันที่จริงในประชารัฐทั้งหลายของโลกสมัยใหม่ ประชานิยมเป็นเรื่องปกติที่อำนาจทางการเมืองทั้งหลาย (พรรค, รัฐบาล, ฝ่ายค้าน, คณาธิปไตย, อุดมการณ์ทางการเมือง ฯลฯ) ล้วนต้องสมาทานทั้งนั้น เพียงแต่เน้นมากเน้นน้อยต่างกัน ฮิตเลอร์ไม่ใช่เยอรมันคนเดียวที่เห็นว่ายิวเป็นภยันตรายต่อประชารัฐเยอรมัน แต่มีคนเยอรมันอีกไม่น้อยที่คิดอย่างเดียวกัน การขจัดยิวออกไปจากสังคมจึงตอบสนองเสียงเรียกร้องของประชาชนส่วนหนึ่งด้วย

มูลนิธิของเจ๊ปวีณา หงสกุล ก็ตอบสนองต่อคติไทยๆ ที่ว่า คนตกทุกข์ได้ยากเพราะถูกรังแกควรได้รับความช่วยเหลือจากคนที่สั่งสมอำนาจไว้กับรัฐและสังคมด้วย จะเรียกว่าประชานิยมก็ได้ นอกจาก TDRI ต้องพิสูจน์คุณค่าของตนแก่ผู้ให้ทุนแล้ว ก็จำเป็นต้องพิสูจน์คุณค่าตนเองแก่ประชาชนในสังคมด้วย จะเรียกว่าประชานิยมก็ได้เหมือนกัน

ดังที่กล่าวแล้วแหละครับว่า ในประชารัฐของโลกปัจจุบัน ประชานิยมเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสาธารณะของทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทย คำว่าประชานิยมกลับถูกใช้ในความหมายด้านเดียว คือด้านไม่ดี เหมือนที่นักการเมืองและสื่อฝรั่งใช้ในการโจมตีกัน ก็ไม่เป็นไรนะครับ เราจะจำกัดความหมายของศัพท์บัญญัติไว้เพียงครึ่งเดียวหรือเท่าไรก็ได้ แต่ที่ทำให้ยุ่งในกรณีนี้ก็เพราะว่า เมื่อประชานิยมกลายเป็นสิ่งไม่ดี ผู้ปกครองที่ใช้นโยบายตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด หรือเพียงบางกลุ่มก็ต้องคอยย้ำว่า นโยบายนั้นไม่ใช่ประชานิยม นั่นก็ยังไม่สู้กระไรนะครับ แต่เพราะประชานิยมมีความหมายเพียงครึ่งเดียว จึงทำให้เกิดความลำเอียงในทางปฏิบัติไปด้วย เมื่อไรที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของคนหมู่มาก เมื่อนั้นก็จะกลายเป็นประชานิยม แต่หากตอบสนองผลประโยชน์ของข้าราชการ ทหาร และกลุ่มคณาธิปไตย ซึ่งเป็นคนหมู่น้อย เมื่อนั้นก็ไม่ใช่ประชานิยม

นโยบายจำนำข้าวเป็นประชานิยมที่เลวร้าย เพราะคนจำนวนมากได้ประโยชน์ (ตัวเลขรายได้ของเกษตรกรและแรงงานภาคเกษตรที่ลดลงหลังจากยกเลิกนโยบายนี้พิสูจน์ให้เห็นอยู่แล้ว) แต่การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ, เพิ่มเบี้ยเลี้ยงและรายได้ทหาร, อนุมัติโครงการเหมืองทองแก่ต่างชาติที่ร่วมทุนกับนายทุนไทย ฯลฯ ภายใต้คณะรัฐประหาร ไม่ใช่ประชานิยม ทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่ามีประชาชนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และน่าจะเรียกร้องความนิยมจากประชาชนกลุ่มนั้นได้

ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ ประชานิยมไม่ว่าในความหมายที่ดีหรือร้าย ล้วนเป็นความเห็นเท่านั้น เหมือนคำว่าโง่-ฉลาด, เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ-ไร้เดียงสาทางเศรษฐกิจ, หยาบคาย-สุภาพ ฯลฯ ล้วนเป็นความเห็นทางการเมืองเท่านั้น ถ้าเห็นนโยบายของรัฐบาลใดว่าเป็นประชานิยม ก็ต้องชี้แจงให้เห็นว่า ไม่เกิดผลดีในระยะสั้นหรือระยะยาวแก่ประชาชนโดยรวมอย่างไร

ที่ผมเป็นห่วงกับความหมายของคำประชานิยมก็อยู่ตรงนี้แหละครับ คือเปิดให้สามารถลำเอียงเชิงนโยบายสาธารณะแก่ผู้ที่ได้เปรียบอยู่แล้วหนึ่ง และเปิดให้คนบางคนที่มีเสียงดัง สามารถสั่งได้โดยไม่ต้องชี้แจงข้อมูลและเหตุผลว่านโยบายสาธารณะใดดี และนโยบายสาธารณะใดไม่ดีได้อีกหนึ่ง

แหล่งข่าว: 
มติชนออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด