ผู้ใช้เน็ตแสดงพลัง #ไม่เอาแล้ว รัฐธรรมนูญจากรัฐประหาร

รวบรวมความเห็นผู้ใช้เน็ต อะไรที่ไม่เอาแล้วบ้างในร่างรัฐธรรมนูญ หลังเว็บประชามติชวนแฮชแท็ก #ไม่เอาแล้ว พบคนไม่เอากระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วม ไม่เชื่อในระบบคนดี ไม่เอานิรโทษคณะรัฐประหาร ไม่เอารัฐซ้อนรัฐ

12 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกิจกรรมที่เว็บไซต์ประชามติ Prachamati.org เชิญชวนประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คช่องทางต่างๆ ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญแบบไหนไม่เอาแล้ว?” พร้อมกับติดแฮชแท็ก #ไม่เอาแล้ว เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2558 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. จากการรวบรวมความเห็นของประชาชนที่ร่วมกันพูดถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ประมาณ 300 ความเห็น ส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกันว่าไม่เอารัฐธรรมนูญที่มาจากการร่างของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และเบื่อหน่ายกับการร่างรัฐธรรมนูญแล้วถูกฉีกซ้ำๆ

ผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่ กล่าวโจมตีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดผู้แทนที่มีจุดยึดโยงกับประชาชน หรือมาจากการแต่งตั้งโดยตรง บางคนเสนอว่าคนที่จะมาร่างต้องไม่มาจากคณะรัฐประหาร การร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่เขียนภายขึ้นใต้บรรยากาศการจับกุมและดำเนินคดีการเมืองกับคนคิดต่าง

ผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่ง ไม่เชื่อในระบบการสรรหา "คนดี" เพราะเห็นว่าคนเหล่านี้จะไม่ฟังเสียงประชาชน และหลายคนไม่ต้องการกระบวนการร่างตามแนวทางของ คสช. ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด หากยังไม่ได้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับ ซึ่งเท่ากับสร้างเงื่อนไขว่าหากภารกิจร่างรัฐธรรมนูญไม่สิ้นสุดก็จะเป็นการต่ออายุของคณะรัฐประหารต่อไปไม่สิ้นสุดเช่นกัน

ในด้านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่า ไม่อยากได้รัฐธรรมนูญที่ขาดหลักประกันและกลไกในการคุ้มครอง "สิทธิเสรีภาพของประชาชน" หลายคนให้ความสำคัญกับการทำให้เสียงของประชาชนมีความหมาย มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลสถาบันการเมือง บางความคิดเห็นบอกว่าไม่เอารัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องของตน ไม่กระจายอำนาจ ไม่เอื้อให้เกิดการบริหารจัดการกันเองในพื้นที่

ขณะที่หลายคนแสดงความเห็นว่า ไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่เขียนเพื่อปูทางสู่การสืบทอดอำนาจ ไม่ต้องการให้ข้าราชการทั้งในตำแหน่งและข้าราชการเกษียณเข้ามามีอำนาจทางการเมืองโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งและไม่มีการตรวจสอบ ไม่ต้องการองค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากประชาชนแต่มีอำนาจเหนือรัฐบาลของประชาชน และไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่ทำให้นักการเมือง ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ อ่อนแอกว่าฝ่ายตุลาการ

นอกจากนี้คนจำนวนไม่น้อยเสนอว่าไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่ไม่ไว้วางใจต่อประชาชน เช่น การกำหนดให้มี ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ 'นายกคนนอก' และไม่เอาองค์กรที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลมาคอยกำกับดูแลอีกที

ทั้งนี้มีข้อเสนอสิ่งที่ไม่เอาแล้วที่น่าสนใจ เช่น ไม่เอารัฐธรรมนูญที่เขียนว่า "ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ไม่เอาการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร ไม่เอาการรับรองสถานะของประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร ไม่เอาการแก้ปัญหาด้วยกฎหมายเบ็ดเสร็จมาตราเดียว

พอจะสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อชวนผู้ใช้เน็ตพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ มีน้อยคนมากที่พูดถึงเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายมาตรา หรือเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 ที่ถูกคว่ำไปแล้ว ส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญประชาชนจะพูดเรื่องการเมือง เรื่องกระบวนการที่พวกเขารู้สึกเบื่อหน่าย รู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนร่วม และแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการร่างที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับแก้ปัญหาสังคมไทยได้

แหล่งข่าว: 
ประชาไทออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด