จับตานโยบาย "เหมืองทองคำ" ทูตออสซี่วิ่ง "ล็อบบี้" กระทรวงอุตฯ

หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศร่างนโยบายทองคำฉบับใหม่ และเริ่มเปิดทำประชาพิจารณ์เมื่อต้นปี 2558 นับจากนั้นกลุ่มชาวบ้านรอบเหมืองทองคำ ที่ได้รับผลกระทบจากการทําเหมืองแร่ และมีการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม ต่างออกมายื่นหนังสือเคลื่อนไหวคัดค้านให้กับหลายหน่วยงาน โดยมีจำเลยคือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองทองรายเดียวในประเทศไทยตอนนี้ ในชื่อ "เหมืองทองชาตรี" ซึ่งถูกปลดล็อกจากคำสั่งให้ดำเนินธุรกิจต่อได้ภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อที่ต้องดำเนินตาม หลังจากที่ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว 30 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2558

พลิกปมเปิด "เหมืองทองคำ"

การเปิดให้อัคราฯดำเนินธุรกิจต่อ ถูกจับตามองความเชื่อมโยงระหว่างรัฐและอัคราฯ เนื่องจากคำสั่งให้เปิดดำเนินการต่อขณะนั้นอยู่ในยุคของ "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนายจักรมณฑ์เองเคยดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ช่วงปี 2556-2557 จึงมีการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า การยกเลิกคำสั่งนี้มีนัยซ่อนเร้นหรือไม่ และอาจนำไปสู่การเปิดให้อาชญาบัตรสำรวจแก่อัคราฯเพิ่มในอนาคต

ระหว่างการเปิดให้อัคราฯดำเนินธุรกิจต่อ "บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดฯ, ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ 48% หรือบริษัทแม่ของอัคราฯได้บินมายังประเทศไทย และพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ติดขัด รวมถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยนำประชาชน 254 คนที่มีสารโลหะหนักในปัสสาวะหรือเลือดไปรับการรักษาทุกคน และมีการนำผลการศึกษาประเมินสารหนู และแมงกานีสในสิ่งแวดล้อมของโครงการทำเหมืองแร่ทองคำ ทั้งในเขต จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ที่จัดทำเสร็จแล้ว ไปจัดทำเวทีสาธารณะด้านวิชาการ สถานที่ละ 1 ครั้ง โดยบริษัทต้องจัดแผนทั้งหมดเสนอให้ กพร.ภายใน 45 วัน

ขณะที่ตามขั้นตอนของกฎหมายการจัดทำร่างนโยบายทองคำฉบับใหม่ จะเสร็จสมบูรณ์ได้ต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์ระดมความคิดเห็นกับ 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และชาวบ้านในพื้นที่ โดยที่ผ่านมาชาวบ้านมีการคัดค้านและไม่พร้อมให้เปิดเวทีประชาพิจารณ์ จนกว่าภาครัฐและบริษัทจะพบวิธีการทำเหมืองที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ถึงค่อยอนุญาตให้ทำเหมืองได้

30 วันชี้ชะตาเปิด-ไม่เปิด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2558 ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจเหมืองทองคำ ได้รวมตัวจัดตั้งประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) และในวันที่ 22 ก.ย. 2558 กลุ่มชาวบ้านและ ปปท.ได้รวบรวมรายชื่อจากชาวบ้านประมาณ 20,000 คนยื่นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีคำสั่งให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ระงับนโยบายทำเหมืองทองและเหมืองต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม กลับไปทบทวนผลกระทบที่ผ่านมา ประชาชนต้องการอะไร เรียกร้องอะไร ฉะนั้น ต้องไปแก้ทั้งระบบ พร้อมกับย้ำว่าจะยังไม่มีการเปิดเหมืองทองคำเพิ่มจนกว่าจะเรียบร้อย ถ้าไม่เรียบร้อยก็เปิดไม่ได้

หลังจากนั้นไม่กี่วัน นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กพร.ไปรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่อีกครั้ง รวมถึงการพิจารณาออกมาตรการดูแลในกรณีที่ในอนาคตหากมีการเปิดให้สำรวจเหมืองทองในพื้นที่ใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน1เดือนหลังจากนั้นจะรวบรวมข้อมูลนำเสนอ ครม.พิจารณา

ส่งผลให้บริษัทเอกชนที่มายื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 13 บริษัท ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิจิตร จันทบุรี ระยอง พิษณุโลก ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว นครสวรรค์ สตูล สุราษฎร์ธานี รวมทั้งสิ้น 177 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,618,539 ไร่ รวมถึงบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต้องรอความชัดเจนของนโยบายต่อไป

ทูตออสเตรเลียล็อบบี้ "อรรชกา"

อีกด้านหนึ่งทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทอัคราฯได้นำกลุ่มชาวบ้านที่ส่วนหนึ่งเป็นพนักงานของบริษัทอัคราฯและกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับการสนับสนุนจากทางบริษัทอัคราฯในการพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยมาตลอดประมาณ10กว่าคนเดินสายไปพบสื่อมวลชนหลายสำนัก เพราะเกรงว่าหากเหมืองของอัคราฯหยุดประกอบกิจการ เกรงจะ "ตกงาน" และที่ผ่านมายืนยันว่าไม่เคยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ การที่บริษัทอัคราฯเข้าไปทำเหมืองส่งผลให้ชาวบ้านมีงานทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะบริษัทอัคราฯเองเข้าไปให้ความสนับสนุนในด้านการเงินในการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ มากมาย

และเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย "นายพอล โรบิลลียาร์ด" ได้ทำเรื่องขอเข้าพบ "นางอรรชกา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือเรื่องความชัดเจนนโยบายทองคำของไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเปิดเกมรุกของบริษัทอัคราฯโดยการส่งทูตมาครั้งนี้ได้ผลทันที เมื่อนางอรรชกามีกำหนดการด่วนเตรียมเดินทางลงพื้นที่ "เหมืองทองชาตรี" และ "บริษัทอัคราฯที่จังหวัดพิจิตร" ในวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2558 โดยจะเป็นการเผชิญหน้ากับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านและที่เห็นด้วยกับการเดินหน้านโยบายทองคำ พร้อมด้วย "นายปกรณ์ สุขุม" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอัคราฯ และเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากคิงส์เกตฯ

จึงเป็นที่น่าจับตาดูท่าทีของรัฐบาลต่อจากนี้ว่า นโยบายการเปิดพื้นที่สำรวจเหมืองทองคำจะเกิดขึ้นในรูปแบบอย่างไร และจะเป็นเฉกเช่นเดียวกับกรณีของนโยบายเรื่องแร่ใยหินไครโซไทล์หรือไม่ จากที่ ครม.เคยประกาศให้ยกเลิกภายใน 5 ปี เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ชัดถึงอันตรายในหลายประเทศที่ใช้ แต่ในที่สุด ครม.มีคำสั่งให้กลับมาทบทวนอีกครั้ง หลังจากการเดินทางมาเยือนของผู้บริหารระดับสูงในคณะรัฐบาลรัสเซีย

5 หลักการนโยบายทองคำ

สำหรับ "นโยบายทองคำ" ประกอบไปด้วย 5 เรื่องหลักคือ 1.ด้านการบริหารจัดการแหล่งแร่ทองคำ ในพื้นที่ที่รัฐมีข้อมูลจะกำหนดให้มีการประมูลสิทธิ์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน การขออนุญาตสำรวจในพื้นที่ที่อื่นที่รัฐไม่ได้กำหนดให้ขออาชญาบัตรพิเศษเท่านั้น กำหนดให้แยกทองคำบริสุทธิ์ภายในประเทศเท่านั้นห้ามส่งออกโลหะผสมไปต่างประเทศ กำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้พนักงานชาวไทยให้ทำงานแทนได้ภายใน 5 ปี กำหนดให้มีการจ้างเหมางานก่อสร้างพัฒนาทำเหมืองหรือบริการไทยเป็นหลัก และไม่ให้สิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมการลงทุนในด้านต่าง ๆ

2.ด้านผลประโยชน์ตอบแทนแก่ภาครัฐและท้องถิ่น โดยปรับปรุงผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐให้เหมาะสมคุ้มค่าและเป็นธรรมต่อภาครัฐมากขึ้น ปรับเพิ่มผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ อบต.ที่มีประทานบัตรตั้งอยู่ และ อบต.ที่อยู่ติดกันด้วย รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ โดยตัวแทนจากชาวบ้านเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

3.ด้านความปลอดภัยการป้องกันรักษาคุณภาพกำหนดให้ผู้ประกอบการวางหลักประกันการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูพื้นที่ตั้งแต่ขั้นตอนสำรวจ ผู้ประกอบการต้องจัดตั้งกองทุนจัดการด้านสิ่งแวดล้อม กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม กำหนดให้ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและตรวจสุขภาพของประชาชนในชุมชนรอบพื้นที่โครงการก่อนการทำเหมือง เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบผลกระทบที่อาจเกิดจากการทำเหมือง

4.ด้านการกำกับดูแลสถานประกอบการ โดย กพร.จะกำกับดูแลการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสำรวจ การทำเหมือง การประกอบโลหกรรม การจัดการของเสีย การป้องกันแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ กพร.จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยให้มีตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมตรวจสอบการประกอบกิจการในทุกขั้นตอนในกรณีที่มีการร้องเรียนผู้ประกอบการต้องถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกพร.โดยเร่งด่วน

5.ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามและผ่านการทวนสอบมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมอุตสาหกรรมแร่ และเข้าร่วมโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของ กพร.และชุมชนอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข่าว: 
ประชาชาติธุรกิจ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด