กลุ่มอนุรักษ์นามูล ตั้งข้อสงสัย เหตุใดนายทุนทำงานง่ายในช่วงรัฐประหาร

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด จ.ขอนแก่น เข้ากรุงฯ อ่านแถลงการณ์ ตั้งข้อสงสัย ทำไมนายทุนปิโตรเลียม จึงได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนการละเมิด EIA ของ ‘อพิโก้’

13 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. บริเวณหน้าสถานฑูตสหรัฐอเมริกา ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือต่อสถานฑูตสหรัฐอเมริกา พร้อมกับอ่านแถลงการณ์ต่อกรณีการดำเนินการขุดเจาะปิโตรเลียม ของบริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด ซึ่งสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ และมีกระบวนการบางประการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า เพราะเหตุใดเจ้าหน้าที่ทหาร จะได้อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทจนทำให้กระบวนการมีความรวดเร็วผิดปกติ และไม่เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ในรายงาน EIA พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ เร่งดำเนินการเอาผิดต่อบริษัทข้ามชาติด้วย

แถลงการณ์

การใช้อำนาจรัฐประหารเพื่อเร่งรัดและเอื้อประโยชน์ ต่อการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด พื้นที่หลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมดงมูล 5 ซึ่งเป็นหลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหลุมหนึ่งของโครงการพัฒนาแหล่ง ผลิตปิโตรเลียมดงมูลที่อยู่ในแปลง L27/43 ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 9/2546/66 ปัจจุบันมีบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด บริษัทลูกของบริษัท อพิโก้ แอลแอลซี เป็นเจ้าของสัมปทานแต่เพียงผู้เดียว

นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา การเอื้อประโยชน์ของหน่วยงานราชการไทยให้บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เข้าไปดำเนินการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่หลุมดงมูล 5 มีความรวดเร็วผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง ไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมายของไทยหลายประการ เช่น ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ในรายงาน EIA ซึ่งเป็นข้อบังคับตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่ง แวดล้อม พ.ศ. 2535 มีข้อสงสัยว่าอาจจะมีการติดสินบนว่าจ้างทหาร คสช. ในพื้นที่ให้ช่วยอำนวยความสะดวกขนเครื่องจักรอุปกรณ์ในการขุดเจาะสำรวจและ ผลิตปิโตรเลียมเข้าไปในพื้นที่ โดยเฉพาะสองเหตุการณ์สำคัญ

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13 - 19 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ทหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดขอนแก่น (กอ.รมน.ขอนแก่น) นำทัพบัญชาการโดยพันเอกจตุรพงษ์ บกบน รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ขอนแก่น พร้อมกำลังผสมตำรวจ อาสาสมัครและพลเรือน ประมาณ 200 คน คุ้มกันรถขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 100 กว่าคัน ของบริษัทอพิโก้ฯผ่ากลางหมู่บ้านนามูล-ดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เข้าไปในพื้นที่หลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมดงมูล 5 (DM-5) ที่อยู่ห่างออกไปราวหนึ่งกิโลเมตร ท่ามกลางและรายรอบไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ซึ่งเป็นหลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหลุมหนึ่งของโครงการพัฒนาแหล่ง ผลิตปิโตรเลียมดงมูลที่อยู่ในแปลง L27/43 ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 9/2546/66 ที่บริษัทอพิโก้ฯได้มาจากการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 18 โดยกองกำลังนำโดยรองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ขอนแก่น ทำการสกัด บังคับ ข่มขู่ ชาวบ้านไม่ให้ประท้วงต่อต้านขัดขวางใด ๆ เป็นภาพข่าวในสื่อประเภทต่าง ๆ หลายสำนัก รวมทั้งสื่ออิสระทั่วไปด้วยนั้น ได้สะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจทหารทำการกดขี่ข่มเหงจิตใจประชาชนอย่างรุนแรง

เหตุการณ์ที่สอง เกิดขึ้นในกลางดึกของ วันที่ 5 ตุลาคม 2558 ในระหว่างที่ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังนอนหลับพักผ่อน ส่วนหนึ่งเตรียมออกไปกรีดยาง ขบวนรถบรรทุกขนาดใหญ่ขนอุปกรณ์เผาก๊าซกว่า 20 คัน วิ่งผ่านหมู่บ้านเข้าไปยังหลุมเจาะ โดยไม่มีการประกาศแจ้งเตือนประชาชน การขนอุปกรณ์กลางดึกโดยไม่บอกเจ้าของบ้าน เป็นพฤติกรรมราวกับกลุ่มผู้ไม่หวังดี ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐคอยอำนวยความสะดวก ไม่ว่าสถานการณ์ของบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะใด ปรกติหรือไม่ปรกติสิ่งที่ชาวบ้านต้องการก็เพียงแค่การมีส่วนร่วมในการพัฒนา บ้านเมือง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกและการชุมนุม รวมทั้งต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงของทางราชการและบริษัทเอกชน อย่างเปิดเผยและเป็นจริง แต่ในสถานการณ์รัฐประหาร แทนที่บริษัท อพิโก้ฯจะเปิดกว้างและเข้าใจประชาชนไทยว่ากำลังประสบวิกฤตทางสังคมและการ เมืองอย่างหนัก กลับอาศัยสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปรกติ ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉวยโอกาสเพื่อผลักดันการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้ได้รับความสะดวก และรวดเร็วโดยสงสัยว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่ทหาร คสช. ในพื้นที่มาข่มขู่ กดขี่ บังคับ ให้ชาวบ้านกลัวจนไม่สามารถออกมาต่อต้านหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายและ ความวิตกกังวลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าบริษัทอพิโก้ฯดำเนินธุรกิจสวนทางกับความรับผิดชอบต่อสังคมและ หลักธรรมาภิบาลหรือไม่ ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่คำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศตัวเองที่ถือเป็นต้นแบบประชาธิปไตยให้แก่ ประเทศอื่น ๆ ทั่วทุกมุมโลก มีท่าทีสนับสนุนรัฐประหารอย่างเปิดเผยด้วยข้อสงสัยว่าอาจจะมีการว่าจ้างทหาร คสช. ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมารังแกชาวบ้านเพียงเพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ ธุรกิจของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการและวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนคนเล็กคน น้อยในสังคมไทยที่เดือดร้อนและวิตกกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการ ขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ดังนั้น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด จึงได้เดินทางไกลมาเพื่อเรียกร้องต่อสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย รวมทั้งให้ส่งต่อจดหมายฉบับนี้ถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศสหรัฐ อเมริกา เช่น รัฐบาล สภานิติบัญญัติ คณะกรรมาธิการในสภานิติบัญญัติ หรือองค์กรอื่น ๆ ที่ตรวจสอบความโปร่งใสหรือธรรมาภิบาลของการลงทุนข้ามชาติของบริษัทสัญชาติ อเมริกา ให้ดำเนินการเอาผิดต่อบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท อพิโก้ จำกัดด้วยโทษที่รุนแรงและถึงที่สุด จากเหตุการณ์ที่สงสัยว่าอาจจะมีการว่าจ้างติดสินบนเจ้าหน้าที่ทหาร คสช. ให้ใช้อำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารกดขี่ข่มเหงและรังแกชาวบ้าน นอกจากนี้ จะได้จัดส่งจดหมายฉบับที่ยื่นแก่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในวันนี้ ให้แก่หน่วยงาน/องค์กรในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำหน้าที่กำกับดูแลความรับผิด ชอบและธรรมาภิบาลของบริษัทสัญชาติอเมริกาที่เข้ามาลงทุนในประเทศอื่น เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบเอาผิดแก่การกระทำของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ต่อชาวบ้านและชุมชนนามูล-ดูนสาด

ด้วยความเคารพ
13 ตุลาคม 2558
ณ หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2558 10.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกระทรวงพลังงาน โดยขอให้มีคำสั่งยุติการเผาทดสอบการรอบที่ 2 ของบริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบการขออนุญาตการเผาทดสอบก๊าซดังกล่าวด้วย เนื่องจากบริษัทฯ แจ้งว่าจะเผาทดสอบก๊าซตลอด 24 ชั่วโมง นานติดต่อกัน 15 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก เช่นล้มตายของต้นยางพาราจำนวนมาก เกษตรกรบางส่วนไม่สามารถทำการเกษตรต่อไปได้ รวมทั้งระหว่างการเผาก๊าซมีกลิ่นเหม็นส่งผลให้ชาวบ้านเจ็บป่วยหลายราย

ด้าน วิศรุต ตั้งสุนทรขัณฑ์ วิศวกรปิโตรเลียมชำนาญการพิเศษ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตัวแทนรับมอบหนังสือ ระบุว่า จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป อย่างไรก็ตามกรณีของบริษัทอพิโก้ฯ นั้นมีรายงาน EIA ที่ได้รับอนุมัติโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งมีการตรวจสอบทุกขั้นตอน และผลที่ออกมาก็เป็นไปตามรายงาน และตอนนี้ไม่สามรถสั่งยุติการเผาก๊าซได้เนื่องจาก ขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนที่ระบุไว้ใน EIA ขั้นตอนต่อไปจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ และบริษัทที่จัดทำรายงาน EIA ที่จะต้องไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่

ต่อมาในเวลา 13.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เดินทางมายัง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน ขอให้มียุติการเผาทดสอบก๊าชครั้งที่ 2 และขอให้มีการตรวจการอนุญาติการเผาทดสอบดังกล่าว

ทั้งนี้ สุโข อุบลทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เชิญชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์เข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจในห้องประชุม โดยมี ดำรงค์ เครือไพบูลย์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มพลังงาน และ สิทธิชัย ปิติสินชูชัย นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ เข้าร่วมชี้แจงต่อกลุ่มอนุรักษ์ฯ ด้วย

ในการพูดคุยกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ถามถึงความชอบธรรมในการเผาทดสอบก๊าชครั้งที่ 2 ของบริษัทอพิโก้ เนื่องจากมีการประกาศปิดหลุ่มไปแล้ว เหตุใดจึงสามารถมีการเผาทดสอบก๊าซได้อีก ทั้งที่นี้ EIA ไม่ได้ระบุว่าจะมีการเผาทดสอบครั้งที่ 2 ด้านดำรงค์ได้ชี้แจงว่า การเผาทดสอบก๊าซนั้นบริษัทสามารถจะทำกี่ครั้งก็ได้ ถือเป็นสิทธิของบริษัท ทั้งนี้กระบวนการที่บริษัทจะต้องทำคือ การแจ้งให้สารถล่วงหน้าว่า จะมีการเผาทดสอบก๊าซภายนีระยะเวลา 15 วัน ก่อนที่จะทำการเผาก๊าซ พร้อมทั้งระบุด้วยว่าการเผาก๊าซนั้น จะส่งเผากระทบน้อยกว่าการปล่อยก๊าซดิบ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงก๊าซที่เป็นพิษให้มีปริมาณน้อยลง คือการเปลี่ยนก๊าซต่างๆให้เป็น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบน้อยกว่า

“โครงการพัฒนาต่างๆ แล้วไม่มีผลกระทบเลย เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทาง ต้องอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร การทำโครงการมันต้องมีผลกระทบอยู่แล้ว แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้” ดำรงค์กล่าว

ทั้งนี้ด้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปว่า เคยได้กลิ่นก๊าซกระจายเข้ามาในชุมชน ทั้งที่ไม่ได้มีการเผาก๊าซด้วย ซึ่งขณะนั้นทางกลุ่มไม่ทราบว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักมาตราการตามรายงาน EIA

ด้านสุโข ได้ชี้แจงต่อไปว่า สผ. มีหน้าที่เพียงเห็นชอบ EIA ไม่ได้มีอำนาจการสั่งระงับยุติการดำเนินการของบริษัท อย่างไรก็ตามหากมีผลกระทบเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไม่ทำตาม EIA หรือทำตาม EIA แล้วแต่มีผลกระทำที่เกิดไปกว่าการประเมิน ชาวบ้านสามารถที่จะศึกษา EIA และร้องเรีย

แหล่งข่าว: 
ประชาไทออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด