เปิดตัวหนังสือ"หีบบัตรกับบุญคุณ" ว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงเครือข่ายอุปถัมภ์ในสังคมไทย

สังคมไทยรับรู้เรื่องราวของ "เจ้าพ่อ" มานานหลายทศวรรษ...

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญ โดยเฉพาะระบบการเมืองและการเลือกตั้งที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นกรอบกติกาของสังคมไทย กระทั่งเจ้าพ่อ ที่หลายคนมีประวัติไม่ดีนัก เข้ามาสู่แวดวงการเมือง เป็นนักการเมืองผู้มีอิทธิพลให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งเป็นข้ออ้างลุกลามไปถึงการต่อต้านและเรียกร้องให้ล้มระบอบเลือกตั้ง ที่ถูกเหมารวมว่านำคนพวกนี้เข้าสู่ถนนการเมือง

การด่านักการเมืองท้องถิ่น ว่ามีคนไม่ดีจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์นั้นจริงๆแล้ว อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่คำถามสำคัญของ ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือการพยายามตอบคำถามว่า จากปัจจัยเชิงโครงสร้างเช่น ระบบการเลือกตั้ง การเมืองแบบประชาธิปไตยที่เพิ่งลงหลักปักฐานในสังคมไทย มันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของเจ้าพ่อกับประชาชนในท้องถิ่นอย่างไรบ้าง?

มติชนออนไลน์ พาไปฟังบรรยากาศการพูดคุยเรื่องหนักๆ เกี่ยวกับข้อถกเถียงทางวิชาการในงานเปิดตัวหนังสือการเมืองท้องถิ่นเล่มล่าสุด

โดยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา หลักสูตรการเมืองและการจัดการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานรัฐศาสตร์เสวนา ครั้งที่ 2 เปิดตัวหนังสือ "หีบบัตรกับบุญคุณ" โดย ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ มีผู้ร่วมเสวนาคือ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อ.คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดยสิทธิพล พาเจริญ

โดย ผศ.เวียงรัฐ กล่าวถึงที่มาของหนังสือเล่มดังกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เกิดจากงานวิจัยที่เน้นไปที่เครือข่ายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในท้องถิ่น เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2554 -2555 และมีการเเก้ไขเรื่อยมา โดยพยายามจะตอบคำถามการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2544 ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาว่า มีการเปลี่ยนไปอย่างไร รวมถึงไม่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และเราจะเข้าใจความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนในระบบเลือกตั้งได้อย่างไรโดยเฉพาะคำถามเรื่องพรรคการเมืองระดับชาติที่มีปฎิสัมพันธ์กับเครือข่ายทางการเมืองในท้องถิ่นโดยศึกษาจากเครือข่ายตัวอย่างทางการเมืองทั้งทางภาคเหนือภาคอีสานและจังหวัดทางภาคใต้ วิเคราะห์ข้อมูลจากพลวัตในการเปลี่ยนแปลงการวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบอุปถัมป์จากรณีตัวอย่าง 3 พื้นที่

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า นักการเมืองท้องถิ่นมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ มีความสนใจเชิงนโยบายมากขึ้น กว่าในอดีตที่สนใจเรื่องความมั่นคงทางอำนาจ เพราะประชาชนมีความเปลี่ยนแปลงเรื่องข้อเรียกร้องที่เปลี่ยนรูปมาในเชิงนโยบาย งบประมาณ โครงการมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการปฎิรูปการปกครองท้องถิ่น ขณะที่ลักษณะนักการเมืองระดับชาติกลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่านักการเมืองท้องถิ่น เพราะโครงสร้างทางการเมืองถูกแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ เช่นการรัฐประหารในปี 2549

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มการเมืองท้องถิ่นจะดูเหมือนมีพลวัต แต่กลับมีปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมืองในระดับชาติ เพราะขณะนี้การเมืองไทยมีปัญหาหีบบัตรเลือกตั้งถูกปิดและ การเมืองปัจจุบันความสัมพันธ์ทางอำนาจกลายเป็นเรื่องของบุญคุณ

ด้าน ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง กล่าวช่วงหนึ่งว่าหนังสือมีความน่าสนใจมาก โดยเฉพาะในงานวิจัยเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่น ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบการเลือกตั้ง โดยตนเองเคยอ่านงานเขียนของเวียงรัฐ ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาเรื่องเจ้าพ่อกับการเมืองในอดีตอย่างมาก

"ผมถูกบังคับให้อ่านงานของเวียงรัฐ ตั้งแต่สมัยปริญญาตรีเพราะถูกอาจารย์บังคับ ถือว่ามีชื่อเสียงมาก เพราะเป็นคนแรกที่ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของกำนันเป๊าะ คือตอนนั้นประมาณปี 2531 -2532 มันมีปรากฎการณ์เรื่องเจ้าพ่อ มีงานสองชิ้นที่เกี่ยวข้อง คืองานของ สนธิ ลิ้มทองกุล กับงานของเวียงรัฐ ซึ่งถือเป็นงานเชิงสถาบัน ที่ไม่ได้พูดอยู่บนฐานของความเป็นรัฐ แต่อยู่บนฐานของสังคม เป็นงานที่พยายามหาปฎิบัติการณ์ทางการเมืองที่สัมพันธ์และทำงานในพื้นที่สังคม" ดร.พิชญ์ กล่าว

โดยในส่วนการศึกษาระบบอุปถัมภ์นั้น ดร.พิชญ์กล่าวว่า ในอดีตการศึกษาระบบอุปถัมภ์ถูกอธิบายว่าเป็นเรื่องไม่ดี ไม่เหมือนปัจจุบันที่ ถูกมองอยู่กับคนกลุ่มเดียว

"ในยุคที่ผมเรียนหนังสือ เมื่อ 20 ปีก่อนไม่ได้คิดแบบปัจจุบัน ระบบอุปถัมภ์มันไม่ดี นักการเมืองก็ชั่ว ข้าราชการก็ชั่ว คนดีที่ใช้ระบบอุปถัมภ์ก็ชั่ว แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยน ระบบอุปถัมภ์มันถูกมองกับคนกลุ่มเดียว คือในสมันก่อนระบบอุถัมภ์ต่อให้ถูกใช้โดยคนดี มันก็ยังชั่ว ไม่ได้ชั่วเฉพาะคนกลุ่มเดียวที่เรียกว่าคนโกง" ดร.พิชญ์กล่าว

ทั้งนี้เชื่อว่าการเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ไม่ได้ง่าย และการเปลี่ยนแปลงสังคมก็อาจเกิดจากการรวมตัวกันต่อสู้ในลักษณะการจัดตั้งองค์กรหรือเป็นขบวนการของคนในสังคมท้องถิ่นหรือขบวนการคนจนอาจไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายแบบในระบบอุปถัมภ์

ด้าน รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง กล่าวว่า เวลาพูดคำว่าระบบอุปถัมภ์ ต้องเข้าใจว่ามันมีคุณสมบัติสองอย่างคือมันเป็นการแลกเปลี่ยน โดยงานของเวียงรัฐจะบอกว่ามันเป็นการแลกเปลี่ยนทั้งเชิงโครงสร้างและเครือข่าย ทั้งนี้ การเเลกเปลี่ยนในระบบอุปถัมภ์เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางการเมือง นอกจากนี้การเเลกเปลี่ยนในระบบอุปถัมป์ยังอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ผู้ให้อยู่เหนือกว่าเสมอ ขาที่ไม่เท่ากันของสองฝ่าย จึงสามารถอธิบายโครงสร้างของสังคมนั้น โดยระบบแบบนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ประเทศไทย แต่มีพัฒนาการมาแล้วทั่วโลก และผันตัวมาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง

ทั้งนี้พัฒนาการของพรรคการเมืองในยุคแรกโครงสร้างพรรคจะเน้นเรื่องของชนชั้นนำ ซึ่งโครงสร้างแบบนี้จำเป็นต้องพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์ แต่เมื่อสิทธิในการเลือกตั้งมีพัฒนาการและขยายออกไป ทำให้ระบบอุปถัมภ์แบบเดิมเริ่มไม่มีความจำเป็น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบบอุปถัมภ์ในไทยเปลี่ยนได้ยาก เพราะไทยยังเป็นรัฐรวมศูนย์ ระบบราชการของไทยมีความเข้มเเข็งเช่นกรณีผู้ว่าราชการที่มาจากการแต่งตั้งอยู่ไม่เกินหนึ่งปีก็ย้ายจังหวัด ทั้งนี้นโยบายของพรรคการเมืองมักได้ประโยชน์ต่อคนไทยเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นจึงบอกได้ว่าสังคมก็เป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างและพลวัตทางการเมืองเช่นกันซึ่งขณะนี้โครงสร้างระบบอุปถัมภ์ยังคงมีความเข้มแข็งและอยู่ได้เพราะมันยังถูกใช้ประโยชน์อยู่เช่นเดียวกับพรรคการเมืองไทยที่เป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างทางสังคมนั่นเอง.

จากงานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า การซื้อเสียงแบบคืนหมาหอนมันไม่ได้นำมาสู่การถูกเลือกตั้งเสมอ การแลกเปลี่ยนอุปถัมภ์หรือการซื้อใจจากนโยบายมันเกิดขึ้นบนความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เท่ากันมากขึ้น เชื่อว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจะเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการปรับตัวระบบอุปถัมภ์ โดยแม้เมืองไทยจะเปลี่ยนยาก แต่เชื่อว่าหากความคิดในสังคมไทยเปลี่ยนและมีเสรีภาพมากขึ้น การเลือกตั้งก็จะเปลี่ยนโครงสร้างระบบอุปถัมป์ได้

ขณะที่ ดร.พวงทอง ภวัครพันธ์ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แสดงความเห็นช่วงหนึ่ง ว่า นโยบายที่เกิดจากพรรคการเมืองอย่างพรรคไทยรักไทยนั้น ตอนเริ่มต้นอาจไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมว่าเป็นอย่างไร คงหวังเพียงยกระดับชีวิตคนในต่างจังหวัด แต่ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา คนต่างจังหวัดกลับคำนึงถึงความสำคัญของการเลือกตั้งและสิทธิทางการเมืองของตนมากขึ้นมาตลอดหลายปี มีการเคลื่อนไหว รวมกลุ่มต่อรองกับพรรคไทยรักไทยเอง เพื่อผลักดันให้พรรคการเมืองเปลี่ยน คนในชนบทไม่รู้สึกว่าตัวเองมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าคนในเมือง ทุกคนรู้สึกมีสิทธิเท่าเทียมกัน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมที่สำคัญมากๆ

ทั้งนี้เชื่อว่าหากไม่มีรัฐประหาร โครงการรถไฟความเร็วสูงก็จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของประชาชนไปอย่างมาก จึงน่าเสียดายว่านักเศรษฐศาสตร์เองยังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภค ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หลังเคยมีมาก่อนในสมัยสฤษดิ์

ทิ้งท้าย ผศ.เวียงรัฐ ฝากด้วยว่าหากใครสนใจหนังสือดังกล่าว หาซื้อได้ในงานสัปดาห์หนังสือเเห่งชาติได้เลยนะครับ !!

แหล่งข่าว: 
มติชนออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด