4องค์กรสื่อส่งจม.ถึงปธ.กรธ. ยก40,50เป็นแนว แนะใส่หลักประกันเสรีภาพสื่อ(มีเงื่อนไข)ในรธน.

19 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ทำจดหมายถึงประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เพื่อขอเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ

โดยจดมายระบุว่า รัฐธรรมนูญต้องมีหลักประกันเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

รัฐธรรมนูญต้องมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพของพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชน รวมทั้งข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน ให้มีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อ

นอกจากนี้ ต้องมีบทบัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการกระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หากฝ่าฝืน ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลใช้บังคับ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ

รัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ปราศจากการครอบงำจากการเมืองและธุรกิจ และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และบุคคลผู้ด้อยโอกาสในทุกด้าน รวมทั้งต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม จัดให้ชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึง และมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ มีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาด และครอบงำข่าวสาร และการดำเนินการทางธุรกิจ ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน

โดย จดหมายดังกล่าวยังระบุด้วยว่า หลักการเหล่านี้ได้ถูกตราไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 มาแล้ว เป็นหลักการสำคัญที่เป็นที่เข้าใจร่วมกันและเป็นหลักที่ช่วยให้มีการพัฒนาการมาในทางที่ดีมาโดยตลอด

จดหมาย 4 องค์กรสื่อถึงประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ :
เรื่อง ​ขอเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ
เรียน​ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ร่วมกันหารือกำหนดแนวทางและเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชนที่จะบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน โดยคำนึงถึงหลักสากลของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย

เพื่อให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ......... ยังดำรงไว้ซึ่งการรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ตลอดจนมาตรการคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและกลไกการป้องกันการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ รวมทั้งการมีองค์กรจัดสรรและกำกับกิจการคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมที่มีความเป็นอิสระจากการเมืองและธุรกิจ องค์กรวิชาชีพสื่อฯ จึงขอเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมูญในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญต้องมีหลักประกันเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

นอกจากนี้ ยังควรมีบทบัญญัติในการป้องกันการแทรกแซงสื่อมวลชน อาทิ ห้ามการสั่งปิดกิจการสื่อมวลชน การห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพนี้ รวมทั้งห้ามการให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในสื่อมวลชน เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อความมั่นคง

ขณะเดียวกัน ยังควรมีบทบัญญัติให้เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย และห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว รวมทั้งห้ามรัฐในการให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนสื่อมวลชนอื่นของเอกชน

2. รัฐธรรมนูญต้องมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพของพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชน รวมทั้งข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน ให้มีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อ

นอกจากนี้ ต้องมีบทบัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการกระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หากฝ่าฝืน ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลใช้บังคับ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ

3. รัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ปราศจากการครอบงำจากการเมืองและธุรกิจ และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และบุคคลผู้ด้อยโอกาสในทุกด้าน รวมทั้งต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม จัดให้ชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึง และมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ มีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาด และครอบงำข่าวสาร และการดำเนินการทางธุรกิจ ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน

ทั้งนี้ โดยหลักการเหล่านี้ได้ถูกตราไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 มาแล้ว เป็นหลักการสำคัญที่เป็นที่เข้าใจร่วมกันและเป็นหลักที่ช่วยให้มีการพัฒนาการมาในทางที่ดีมาโดยตลอด

​จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

แหล่งข่าว: 
ประชาไทออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด