บทสัมภาษณ์ อาชนัน เกาะไพบูลย์

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

ศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
ให้สัมภาษณ์ ‘เช้าทันโลก’ FM96.5 วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ถาม – มอง TPP อย่างไรได้บ้างเมื่อ 12 ชาติตกลงกันได้แล้ว
ตอบ – ขณะนี้ที่คนส่วนใหญ่มอง TPP อย่างกังวล ส่วนหนึ่งเพราะ TPP เป็น FTA ที่ใหญ่ เป็น mega FTA ครอบคลุม 40% ของจีดีพีโลก และที่สำคัญคือ มีอเมริกาซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ในนั้น และมีคู่แข่งของไทย อย่างมาเลเซียและเวียดนามอยู่ในนั้น ทำให้คนกังวลว่า ถ้าไทยไม่เข้าจะตกชบวน สำหรับผมคิดว่า เราต้องถามก่อนว่าเราอยากได้อะไรจาก TPP หรือ FTA นี้ แล้วอะไรที่เราจะเสียจากการที่เราไม่ได้เข้า

ประการแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่า TPP นั้นเหมือนกับเป็นความตกลงทางการค้า (Trade Deal) แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศอยู่เยอะเหมือนกัน เพราะอย่างปัญหาในทะเลจีนใต้ หรือปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีที่ทำให้หลายๆประเทศ ญี่ปุ่นเอย เกาหลีเอย หรือแม้แต่เวียดนามเอง ก็อยากจะเข้าไปเพื่อลดอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ เพราะฉะนั้นมันเป็นทั้งการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกัน ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า บางประเทศที่เข้า เข้าเพราะเรื่องของการเมือง

ประการที่ 2 ต้องมองว่าเราจะเสียอะไรจากการไม่ได้เข้าร่วม TPP ผมคิดว่า ความกังวลมันอยู่ที่ว่า สินค้าประมาณ 3 รายการด้วยกันที่จะเจอปัญหา คือ รถยนต์ เสื้อผ้า และอาหารแปรรูป เพราะสินค้า 3 รายการนี้เป็นสินค้าที่สหรัฐฯยังมีภาษีที่สูง ภาษีของสหรัฐฯอยู่ที่เฉลี่ย 3-6% แต่กับสินค้า 3 รายการนี้ ภาษีอยู่ที่เลขสองหลัก รถยนต์อยู่ที่ 25% เสื้อผ้าอยู่ที่ประมาณ 16% อาหารอยู่ที่ประมาณ 10% พอไทยไม่ได้อยู่ใน TPP คนก็กังวลว่า ผู้ส่งออกของไทยจะเจอภาษีขณะที่คู่แข่งของเราไม่เจอภาษี ฉะนั้นนี่จึงเป็นความกังวลที่จะตกขบวนส่วนหนึ่ง แต่หากมองลึกๆ ผมคิดว่า ไทยไม่น่าจะตกขบวน เพราะอย่างรถยนต์เป็นสินค้าที่มีแบ่งเขตการขายชัดเจนเพราะบรรษัทข้ามชาติควบคุมอยู่แล้ว ดังนั้นยังไงๆ รถยนต์เราก็ไม่ไปอเมริกา อาจมีไปบ้างนิดๆหน่อยๆแต่ไม่ได้ไปอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ส่วนอาหารแปรรูปกับเสื้อผ้า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตัวเสื้อผ้า หลายๆส่วนของอุตสาหกรรมนี้ของไทยเริ่มประสบปัญหา เราขาดแคลนแรงงาน มีผู้ประกอบการไทยย้ายฐานไปเวียดนาม ย้ายไปเนื่องจากว่า โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเวียดนามหลายส่วนเอื้อต่อการทำเสื้อผ้าบางชนิดมากกว่าไทย ไม่ว่าจะมี TPP หรือไม่ก็ตามเขาก็ไป ถามว่าเมื่อมี TPP แล้วเราไม่ได้เข้าร่วม เราจะเสียให้กับเวียดนามมากไหม ผมว่ามีน้อย

สุดท้ายมาที่อาหารแปรรูป คล้ายๆกัน ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารแปรรูปรายใหญ่ของโลก อาจมีการ swing บ้างจากการที่เราไม่ได้อยู่ใน TPP แต่ไม่น่าจะเยอะ เพราะทุกวันนี้ เราอยู่ในจุดที่ผลิตอาหารราคาถูกมาไกลแล้ว เพราะฉะนั้นความต่างของภาษีนิดหน่อยไม่น่าจะมีผลเท่าไร

ถาม – แต่บางสถาบันวิจัยหรือทางกระทรวงพาณิชย์จะอ้างว่า กฎแหล่งกำเนิดสินค้าของ TPP จะทำให้ไทยสูญเสียการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต (supply chain) จะมีการย้ายฐานการลงทุน ส่งผลกระทบการจ้างงาน 
ตอบ – อย่างที่บอกต้องดูที่ 3 สินค้านี้ ถามว่ากฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) จะเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดไหม ผมคิดไม่เปลี่ยน เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยเปลี่ยน สหรัฐฯเซ็นข้อตกลงการค้าอเมริกาเหนือ (NAFTA) กับเม็กซิโก แคนาดา คนคิดว่าสิ่งทอจะไหลไปเม็กซิโก เพราะสหรัฐเขียนกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่เรียกว่า Yarn Forward ต้องใช้เส้นใยของอเมริกาทำด้ายเป็นผ้าขึ้นมา เป็นแบบนี้ใครๆก็คิดว่า การลงทุนอุตสาหกรรมสิ่งทอจะไปที่เม็กซิโก นั่นคือเมื่อปี 1990 คือเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว มาทุกวันนี้สิ่งทอเม็กซิโกก็ไปสหรัฐฯไม่ได้เยอะมาก และมีแนวโน้มลดลงทุกปีด้วยซ้ำไป เพราะการขยับของ supply chain ไม่ได้มาจากภาษีเล็กๆน้อยๆ แต่มาจากโครงสร้างพื้นฐาน การที่จะไปตั้งโรงงานสักที่หนึ่ง เราจะเอาแค่ส่วนลดเพียง 5% 10% หรือ แต่ต้องพิจารณาว่า โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดเอื้อไหม เอาเงินเราร้อยล้านพันล้านเพื่อจะผลิตสินค้า ดังนั้นที่ว่าเช่นนั้นคือการ overestimate (การประเมินที่เกินจริง)

แต่สิ่งที่ผมอยากจะเน้นคือ ประการที่ 4 สิ่งที่เราจะไม่เสียจากการไม่เข้า TPP เพราะ TPP ไม่ใช่เฉพาะเรื่องภาษี แต่มีเนื้อหาที่เยอะกว่านั้น ซึ่งบางครั้งคนอาจมองว่าเป็นแรงกดดันให้ปฏิรูปแต่บางเรื่องจะกลายเป็นภาระซึ่งเราต้องทบทวนอีกที เช่น การเปิดภาคบริการ การรับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยา ตรงนี้เราต้องร่วมกันกำหนดท่าที เพราะเนื้อหาในส่วนนั้นเท่าที่ปรากฎอยู่ข้างนอก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า TPP นั้นเป็น secret deal เป็นความลับไม่มีการเปิดเผย แต่จากเอกสารที่มีอยู่เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา อุตสาหกรรมยาจะโดนเยอะมาก และไม่ใช่การคุ้มครองผู้ประกอบการในประเทศ แต่เป็นเรื่องของการช่วยผู้ผลิตยาข้ามชาติมากจนเกินไป ต่อไปนี้การผลิตยาต้องทำสอบอะไรเองทั้งหมดที่เรียกว่าการทดสอบชีวสมมูล ซึ่งเป็นภาระมากสำหรับผู้ประกอบการไทย และอันที่จริงเขาทดลองไว้หมดแล้ว ได้รับความคุ้มครองแล้ว ทำไมต้องให้ทดลองซ้ำเป็นการเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ จุดนี้ การที่เราไม่เข้า TPP ก็ทำให้เราไม่ต้องรับตรงนี้เข้ามา

อีกมุมหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องมาตรฐานแรงงาน ซึ่งส่วนหนึ่งแฝงไว้ด้วยการกีดกันทางการค้า เพราะหากไปดูคำแถลงของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ป่าวร้องในอเมริกา เขาจะลุยไปทางประเทศที่เป็นสมาชิก เขาจะเปิดตลาด จะ export มาประเทศเหล่านี้ให้มาก จะ import เข้าสหรัฐฯให้น้อย เพราะฉะนั้นจะเป็นการ block มากกว่า มาตรฐานแรงงานก็จะกลายเป็นเครื่องมือหนึ่ง หลายๆคนก็วิเคราะห์ว่า เวียดนามจะโดน labour standard เวียดนามต้องมีการตั้งสหภาพขึ้นมา ดังนั้นค่าแรงของเวียดนามอาจจะไม่ถูกอย่างที่เคยเป็นก็ได้ นั่นคือสิ่งที่ต้องคิด

ถาม – ประเด็นที่อยากฝากคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา
ตอบ – ผมคิดว่า สิ่งที่เราต้องคิด เราอยากจะได้อะไรจาก TPP ถ้าอันนั้นเป็นสิ่งที่ดีกับประเทศเราโดยพื้นฐาน เราก็ควรที่จะเริ่มทำก็ได้ เช่นเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการ เราไม่จำเป็นต้องเปิดให้กับสหรัฐฯคนเดียว เราก็ตั้งโจทย์สำหรับประเทศเราขึ้นมาว่าเราต้องการภาคบริการอย่างไร เราก็ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศเรา และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการที่ให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันกันไม่ใช่ favour เปิดให้ชาติใดชาติหนึ่งเป็นการเฉพาะ ผมว่าตรงนี้เราต้องตั้งโจทย์ให้ดีก่อน แล้วค่อยพิจารณาว่าเราตกขบวนจริงหรือเปล่า

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: