การเข้าร่วมใน “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership – TPP) ซึ่งมีประเทศต่างๆ 12 ประเทศเข้าร่วม โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำนั้น จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ประชาชนส่วนใหญ่ และต่อทรัพยากรชีวภาพของประเทศ มากกว่าผลประโยชน์ที่ประชาชนไทยจะได้รับ
วัตถุประสงค์ของการเข้าร่วม TPP ของสหรัฐๆคือ การเปิดตลาด “การสร้างบรรทัดฐานทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง (set high-standard trade rules) และนำเสนอประเด็นทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21” ซึ่งในทางปฏิบัติ วัตถุประสงค์ดังกล่าวคือการบรรจุความตกลงที่เกี่ยวกับขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร และการเปิดเสรีสินค้าและบริการที่สหรัฐฯเป็นผู้นำเช่น จีเอ็มโอ และผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปลงพันธุกรรม ที่หลายประเทศไม่ยอมรับ
การเข้าร่วม TPP จะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมและทรัพยากรชีวภาพใน 2 ประเด็นสำคัญคือ
1) การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิต (patent on life) และการยอมรับระบบกฎหมายพันธุ์พืช UPOV1991
ภายใต้ความตกลง TPPP ประเทศสมาชิกต้องให้สัตยาบันในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty on the International Recognition of the Deposit of Microorganisms for the Purposes of Patent Procedure และสนธิสัญญา UPOV1991 ( International Convention for the Protection of New Varieties of Plants) (Article QQ.A.8) และต้องให้การคุ้มครองสิทธิบัตรในทุกประเภทเทคโนโลยี (in all fields of technology) ถ้าเข้าเงื่อนไข 3 ประการของการคุ้มครองสิทธิบัตร (Article QQ.E.1)
ภายใต้ความตกลงนี้ครอบคลุมการให้สิทธิบัตรในจุลินทรีย์ พืช และนวัตกรรมที่ได้จากพืช แต่ยกเว้นสัตว์ในสัตว์ (Article QQ.E.1)
ประเทศไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร และกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งจะส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ การเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านจะกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การผูกขาดเมล็ดพันธุ์จะขยายจาก 12 ปีเป็น 20 ปี เมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้นตั้งแต่ 2-6 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรายงานการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) พบว่า ผลกระทบของระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของสหรัฐฯจะทำให้
-
เกษตรกรต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงเพิ่มขึ้น จาก 28,542 ล้านบาท/ปี เป็น 80,721-142,932 หรือเพิ่มขึ้น 52,179-114,390 ล้านบาท/ปี
-
การสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10,740 – 48,928 ล้านบาท/ปี
-
ผลกระทบระยะยาวจากการถูกกีดกันการพัฒนายาสมัยใหม่สมัยใหม่ที่มาจากสมุนไพรซึ่งมี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 59,798 ล้านบาท/ปี
รวมมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 122,717 - 223,116 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการสูญเสียอธิปไตยเหนือทรัพยากรซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าได้
2) การถูกบีบบังคับให้ยอมรับพืชจีเอ็มโอและมาตรการปกป้องผู้บริโภคเกี่ยวกับฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม
การเข้าร่วมเป็นภาคีใน TPP อาจทำให้ไทยต้องถูกบีบบังคับให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ และอาจต้องยกเลิกการติดฉลากหรือมาตรการอื่นๆที่เป็นการปกป้องสิทธิผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารดัดแปรพันธุกรรม ทั้งๆที่กระแสผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มต่อต้านพืชและผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ดังที่เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สกอตแลนด์ เวลส์ และประเทศต่างๆในอียูรวมกัน 16 ประเทศประกาศแบนพืชจีเอ็มโอเมื่อเร็วๆนี้ เช่นเดียวกับรัสเซีย นอรเวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
การอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอจะทำให้ระบบเกษตรกรรมของประเทศไทยต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติสหรัฐ เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับทรัพยากรชีวภาพซึ่งเป็นรากฐานของระบบเกษตรกรรมและอาหารในอนาคต การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเรื่องความปลอดภัยทางอาหารจะยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมกำลังหดแคบลง ไม่เฉพาะในยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงตลาดสหรัฐเองด้วย เนื่องจากผู้บริโภคอเมริกันมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ปฏิเสธผลิตภัณฑ์ที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม
หมายเหตุ
-
เนื้อหาใน TPP กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างการคุ้มครองสิทธิบัตรกับทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันมิให้มีการจดสิทธิบัตรที่ไม่ถูกต้องในทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ไม่ใช่ประเด็นการแบ่งปันผลประโยชน์ และมิได้ยกเว้นสิทธิบัตรในทรัพยากรพันธุกรรมจากพืชแต่ประการใด
-
ความตกลงนี้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ค่อนข้างมาก แต่โดยส่วนใหญ่เป็นการเปิดช่องให้สหรัฐอเมริกาสามารถใช้เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) หรือระบบอื่น (sui generis) เพื่อการคุ้มครองแทนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้