อ่าน 8 ประเด็นสำคัญในคดีสวล.ของกลุ่มรักษ์บ้านแหง ก่อนยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวอาทิตย์หน้า
วันนี้ 22 ตุลาคม เมื่อเวลา 11:00 น. ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ตัวแทนชาวบ้านกว่า 100 ชีวิต จากกลุ่มรักษ์บ้านแหง ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันจากชาวบ้านหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 11 ใน ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ที่ร่วมกันคัดค้านโครงการสร้างเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ในตำบลบ้านแหง นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 ได้รวมตัวกันส่งเอกสารคำฟ้องต่อศาลปกครอง
สำหรับความเป็นมาของความขัดแย้งในพื้นที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากบริษัทเขียวเหลือง จำกัด เข้าไปซื้อที่ดินของชาวบ้านกว่า 1,500 ไร่ โดยให้เหตุผลว่าจะนำพื้นที่ไปปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อทำกระดาษ แต่ภายหลังพบว่าจะขอเปิดเหมืองลิกไนต์แทน โดยบริษัทยื่นคำขอประทานบัตรต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2553
ต่อมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการ ตรวจสอบพื้นที่เพื่อทำรายงานการไต่สวนพื้นที่ตามคำขอประทานบัตร ทำให้ชาวบ้านออกมาต่อต้านตั้งแต่นั้นมา โดยกลุ่มรักษ์บ้านแหงแย้งว่าการอนุญาตให้ใช้ป่าสงวนฯ นั้นผิดระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 เนื่องจากการที่บริษัทจะยื่นคำขอและได้รับอนุญาตตามคำขอเพื่อใช้ประโยชน์ ที่ดินในการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามคำขอที่ 4-8/2553 ได้ กฎหมายกำหนดว่า “จะต้องเป็นพื้นที่ไม่มีความขัดแย้งกับราษฎร และต้องได้รับความตกลงยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ในการเข้าทำประโยชน์เสียก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มรักษ์บ้านแหงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่า และใบอนุญาตแผ้วถางป่าซึ่งออกโดยกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2557
รายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมอ่านได้ที่ กลุ่มรักษ์บ้านแหงจัดงานครบรอบ 5 ปี ต้านเหมืองลิกไนต์-ลำปาง เดินหน้าต่อสู้ทางกฎหมาย พิทักษ์สิทธิชุมชน
ส่วนรายละเอียดของการยื่นฟ้องวันนี้ เป็นการยื่นฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม โดยนายเจตน์ ศรีเงิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง และชาวบ้านรวม 386 คน ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กำนันตำบลบ้านแหง คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้านการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ สำนักนโนบายและแผนทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง รวม 7 คน โดยขอให้ศาลพิจารณาใน 8 ประเด็น ดังนี้
หนึ่ง การออกประทานบัตรที่ 30485/16135 ให้บริษัทเขียวเหลือง จำกัดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนประทานบัตร
สอง ให้รายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรดังกล่าว เป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนรายงานดังกล่าวโดยให้มีผลตั้งแต่การจัดทำรายงาน
สาม ให้พิพากษาว่า การทำรายงานการประชุม ณ หอประชุมโรงเรียนบ้านแหงเหนือ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ที่จัดขึ้นในวันที่ 24 กันยายน 2553 ที่ปลัดอบต.บ้านแหง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ในขณะนั้น ลงนามรับรอง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนรายงานการประชุม
สี่ พิพากษาให้ มติสภาองค์กรบริหารส่วนตำบล วันที่ 28 กันยายน 2553 ที่รับรองการใช้รายงานการประชุม ณ หอประชุมโรงเรียนบ้านแหงเหนือ ที่จัดขึ้นในวันที่ 24 กันยายน 2553 ในการออกประทานบัตรที่ 30485/16135 ให้บริษัทเขียวเหลือง จำกัด เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เพิกถอนมติดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันจัดทำ
ห้า ให้เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน ของบริษัทเขียวเหลือง จำกัด คำขอประทานบัตรที่ 4/2553 ร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกันกับคำขอประทานบัตรที่ 5/2553 6/2553 7/2553 และ 8/2553 ที่ได้ให้ความเห็นชอบโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้านการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ สำนักนโนบายและแผนทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากได้ใช้ข้อมูลเท็จและขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินการ
หก ให้มีคำพิพากษาว่าการนำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อเหมืองแร่งถ่านหินลิกไนต์ คำขอประทานบัตรที่ 5/2553-7/2553 มาใช้ในการออกประทานบัตรที่ 30485/16138 ของบริษัทเขียวเหลือง จำกัด และออกใบอนุญาตแผ้วถางป่า ตามคำขอประทานบัตร 5/2553-6/2553 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เจ็ด ให้มีคำพิพากษาเพิกถอนบันทึกรับรองการตรวจสอบพื้นที่คำขอประทานบัตรเกี่ยวกับปัญหาในด้านมวลชนหรือการคัดค้านของราษฎร์ ฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ของกำนันตำบลบ้านแหง เป็นการดำเนินการใช้ดุลพินิจทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่ได้มีการสอบถามไปยังราษฎร์ในพื้นที่และความขัดแย้งในพื้นที่ยังคงอยู่
แปด ให้มีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมทั้งการแจ้งข้อมูลให้ทราบล่วงหน้าและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสมและจริงใจ การจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการทำประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนจะมีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการออกประทานบัตรของหน่วยงานราชการ
นางสาวแววรินทร์ บัวเงิน ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวว่า เราต้องใช้กระบวนการทางศาลเพื่อปกป้องคุ้มครองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เนื่องจากการดำเนินการต่างๆ ที่นำไปสู่การประทานบัตรนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ไม่มีการผ่านประชาคม หรือกล่าวอ้างว่าไม่มีการคัดค้านในพื้นที่ ทั้งที่ประชาชนจำนวนมากต่างกังวลเรื่องพื้นที่ป่า ทางสาธารณะที่อาจถูกปิดกั้น และลำเหมืองสาธารณะที่จะต้องมีการเปลี่ยนทิศหากมีการเปิดเหมืองในอนาคต หรือผลกระทบอื่นๆ ที่อาจตามมาเช่นเดียวกับเหมืองลิกไนต์แม่เมาะเนื่องจากพื้นที่เปิดเหมืองตามประทานบัตรอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศเหนือเพียง 500 เมตร เท่านั้น
“ปัจจุบันแม้ยังไม่มีการเปิดหน้าเหมืองแต่ทางบริษัทก็ยังดำเนินในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปเรื่อยๆ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเปิดเหมืองตามกำหนดภายในปีนี้ นี่คือเหตุผลที่เราต้องพึ่งศาลปกครองและขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวก่อน”
นางสาวชุติมา ชื่นหัวใจ ชาวบ้านหมู่ 1 เสริมว่า ขั้นตอนสุดท้ายของการออกประทานบัตรจะต้องให้กำนันในพื้นที่เซ็นต์รับรอง ซึ่งกำนันบ้านแหงเขาก็เซ็นต์รับรองไปทั้งที่มีการต่อต้านคัดค้านในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นบริษัทเขียวเหลืองจึงได้ประทานบัตร
ด้านนางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความศูนย์ข้อมูลชุมชน เผยว่า การยื่นฟ้องในวันนี้นับเป็นคดีที่ 3 ของชาวบ้านแหง ซึ่งอีก 2 คดีก่อนหน้านี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล ส่วนการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวตามที่ชาวบ้านร้องขอนั้น ยังดำเนินการไม่ทันในวันนี้ คาดว่าจะส่งคำขอคุ้มครองชั่วคราวทางไปรษณีย์ในสัปหาห์หน้า เนื่องจากเอกสารประกอบคำฟ้องมีจำนวนมาก ศาลจึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาต่อไป