หมายเหตุ : มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาวิชาการ “รัฐธรรมนูญไทย : มองไปข้างหน้า” สะท้อนผ่านมุมมองนักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ มธ.ท่าพระจันทร์
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์
ไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ยาวนานที่สุดในอาเซียน เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญตลอด 80 ปีที่ผ่านมาแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือแบบสากล รัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ กลุ่มที่สองคือเป็นอุดมคติ พูดถึงความคาดหวังในสังคมมากกว่าความเป็นจริง เวลาที่เอาอุดมคติมาใช้ก็จะเริ่มไม่ได้ผล เพราะมีลักษณะเป็นการกำจัดคนกลุ่มหนึ่ง เริ่มมีความหวาดกลัวอำนาจรวมศูนย์ รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนกลายเป็นสิ่งที่ยาก
อีกส่วนหนึ่งคือความกลัวฝ่ายตรงข้าม เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาจากการรัฐประหารซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็ก ความหวาดกลัวจึงจำกัดอยู่ในวงคนกลุ่มหนึ่ง ไม่สามารถแปรสภาพมาเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนได้
ดังนั้น สิ่งที่รัฐธรรมนูญต้องทำคือทำอย่างไรให้ความต้องการแปรเป็นความจริง ผลักดันให้ความเชื่อเหล่านั้นปรากฏออกมาให้เป็นที่ยอมรับ ทำเรื่องยากให้ง่าย
นักวิชาการคนหนึ่งเตือนว่ารัฐธรรมนูญต้องมีโครงสร้างที่ถ่วงดุล ทำให้ประชาชนมีอุดมคติหรือความเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพต่อไปเรื่อยๆ
เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ปัญหาความไม่มั่นคงของรัฐธรรมนูญไทย คือความไม่สอดคล้องกับสัมพันธภาพทางอำนาจที่เป็นกลุ่มอำนาจใหม่เสียงข้างมาก เพราะถูกมองว่าไปแย่งชิงทรัพยากรจากกลุ่มอำนาจเดิม จนเป็นคำถามว่าใครคือกลุ่มที่ชอบธรรมที่จะได้อำนาจ
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขบิดเบือนเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งด้วยระบอบอำนาจนิยมของรัฐราชการ เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยให้ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างฉบับบวรศักดิ์ที่ถูกคว่ำไปเป็นร่างรัฐธรรมนูญโดยคนดีเพื่อคนดี
แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ตกไปได้บั่นทอนอำนาจอิสระของฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง กำหนดเสียงข้างน้อยให้กลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจกว่าเสียงข้างมาก
เปลี่ยนการปกครองจากปัจเจกบุคคล คือราษฎรให้กลายเป็นกลุ่มอุปถัมภ์คือพลเมือง เราควรแก้ไขใหม่ในการเพิ่มประชาธิปไตยให้มากขึ้น แก้ไขทางตรง เพิ่มการมีส่วนร่วมจากประชาชนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งไปจนถึงการดำรงตำแหน่งของนักการเมือง
อำนาจนิยมของรัฐราชการ มีปมปัญหาที่มีอำนาจล้นเหลือ ไม่พร้อมรับผิด ทุจริต ตรวจสอบไม่ได้ มีวิธีการ คือเอาอำนาจเด็ดขาดรวมศูนย์ของรัฐมาแก้ไขสังคมแบบย้อนหลังไป 40 ปี บีบคั้นการแสดงออกโดยสิทธิเสรีภาพ กีดกันคนจำนวนหนึ่งให้ออกไปจากนโยบายสาธารณะ
การแก้ไขปัญหาอำนาจนิยมดังกล่าวคือ ยกอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งให้อยู่เหนือที่สุด ทำให้ระบอบราชการปลอดจากการเมือง ทหารต้องถอยทัพออกจากการเมืองไปทำภารกิจปกป้องประเทศ
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ม.ธรรมศาสตร์
รัฐธรรมนูญควรเขียนสิ่งที่เป็นอยู่หรือสิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นเรื่องของประชาชนที่จะมาตกลงกัน ปัญหาคือเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ฉบับ คิดว่าฉบับที่ 20 จะถาวรหรือไม่
ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่กับประชาธิปไตย แต่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกต่างประเทศเขาไม่เถียงกันว่าจะเอาประชาธิปไตยหรือไม่ แต่จะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยดีกว่านี้
บ้านเราแปลกที่ถอยหลังไปจนถามว่าจะเอาประชาธิปไตยหรือไม่ จะเกลียดนักการเมืองก็เกลียดได้แต่อย่าเกลียดประชาธิปไตย
คสช.คงมีบทเรียนพอสมควรเพราะการยึดอำนาจแต่ละครั้งมักจบไม่ดี ปี 2534 ก็จบด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ฝ่ายกองทัพเองคงศึกษาบทเรียน แต่คำถามคือ คิดว่า คสช.อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติหรือไม่
ตอนนี้พูดไปก็คงคาดการณ์ ที่ทำได้คือต้องรอดูว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หรือไม่ ถ้าไม่มีการแก้แนวโน้มคืออยู่ยาว
เชื่อว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. คงอยากร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่าน คือ ร่างให้คนรับได้ อีกนัยยะหนึ่งคืออะไรที่คนไม่ยอมรับในร่างที่ตกไปก็อย่าเอาไปใส่ ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าปกครองกันอย่างไรทำไมจึงสร้างความชอบธรรมให้ทหารมักจะกลับมา
วิธีการป้องกันการยึดอำนาจที่ดีที่สุด รวมทั้งป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นคือสร้างประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็ง ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ดีที่สุด
แต่หวังว่า กรธ.คงมีเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่าน ไม่แย่ไปกว่าฉบับที่ยกเลิกไป
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
น่าสังเกตว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างเสร็จแต่ไม่ส่งให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เห็นชอบ โดยนำไปสู่การทำประชามติเลย ปัญหาคือจะไปถึงตรงจุดนั้นหรือไม่ ต้องดูที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน
ถ้าไปสู่การทำประชามติแต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ระบุหลักเกณฑ์ใช้คะแนนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ แม้มีการตีความให้นับจากผู้มาใช้สิทธิ แต่เป็นเช่นนั้นไม่ได้ เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ที่เขียนชัดเจนว่าให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ
อีกประเด็นคือ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ไม่ได้เขียนในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ว่าจะทำอย่างไรต่อ ทั้งที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 บอกไว้ว่าถ้าไม่ผ่านให้ คมช.และ ครม.หารือกันว่าจะนำฉบับใดมาบังคับใช้ได้เลย แต่ไม่บอกว่าจะนำฉบับไหนมา
เที่ยวนี้จะหนักกว่านั้นถ้าไม่ผ่านอาจเป็นการวนเวียนซ้ำเดิม หรือตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แต่ความเชื่อส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จะถูกแก้ไข ในประเด็นหลักเกณฑ์ประชามติ และถ้าไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร
ข้อสังเกตสำคัญ ปกติรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีบทบัญญัติให้แก้ไขตัวเอง ส่วนรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เขียนให้แก้ในตัวเองได้ บ่งชี้ว่าผู้ที่ยึดอำนาจและเนติบริกรเห็นว่ามีความไม่แน่นอน แม้จะวางโรดแม็ปไว้ก็ไม่อาจมั่นใจรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเป็นแบบนี้ต่อไป เพราะปรับได้ตลอดเวลา
รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอาจมองในแง่ร้ายเทียบจากรัฐธรรม นูญที่ถูกคว่ำที่กำหนดให้มีอภิรัฐบาล คปป. นายกฯ คนนอก ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง อัตลักษณ์แบบนี้เชื่อว่าหลายส่วนคงถูกบรรจุไว้ในร่างใหม่ อาจเปลี่ยนองค์ประกอบบ้างแต่คาดหมายว่าองค์กรอย่าง คปป.คงจะมีอยู่
และร่างมาอย่างไรคงไม่พ้นมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ระบุว่าการให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ความคิดนี้มีปัญหาตั้งแต่รากฐาน บอกเกลี่ยประโยชน์ให้คนในสังคมเกลี่ยแบบไหนถ้ามีองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ยึดโยงประชาชนแต่มีอำนาจมหาศาล
ชนชั้นนำส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตยได้ คนที่กำหนดว่าเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยได้ต้องเป็นประชาชน ถ้าชนชั้นนำยังไม่เห็นปัญหานี้ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ รัฐธรรมนูญคงใช้ได้แค่ชั่วคราวระยะหนึ่งหรืออาจนำไปสู่การปะทุอะไรบางอย่าง
ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยต้องเผยแพร่ความคิดออกไปให้มากที่สุด คุณภาพของเสียงข้างมากอาจทำให้คนส่วนหนึ่งเห็นถึงปัญหา ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยเราก็ไม่ควรให้ผ่าน
นักการเมืองที่ต้องการกลับเข้าสู่การเลือกตั้งควรคิดให้ยาวๆ