ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ : ต้องให้ปชช.มีอุดมคติเรื่องเสรีภาพและการปกครองตนเองอยู่ตลอดเวลา

วันที่ 21 ตุลาคม การเสวนาวิชการ "รัฐธรรมนูญไทย: มองไปข้างหน้า" ที่หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นไปอย่างคึกคัก มีทั้งพระสงฆ์นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจทยอยเข้าจับจองที่นั่งจนเต็มหอประชุม

ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มองรัฐธรรมนูญผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์ ว่ารัฐธรรมนูญเป็นนวัตกรรมของโลกมีขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่17 ทำให้รัฐสภาเป็นที่ต่อรองอำนาจของกลุ่มต่างๆ เนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนจากความเชื่อที่ว่าอำนาจเป็นของที่ได้มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นอำนาจของประชาชน ดังนั้นเมื่อสังคมต้องการมีอำนาจในการปกครองตนเอง สังคมนั้นก็จะเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใดก็ตาม

สำหรับประเทศไทย มีประวัติศาสตร์การมีรัฐธรรมนูญที่ยาวนานที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะต้องเริ่มนับจาก รศ.103 ช่วงสมัยรัชกาลที่5 กลุ่มเจ้านาย11พระองค์ นำโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ขอปฏิรูปการปกครองเพื่อให้ไทยรอดพ้นจากการถูกล่าอาณานิคม โดยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น ระบอบพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนฉบับที่เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจจากรัชกาลที่7ของคณะราษฎร เมื่อพ.ศ.2475

ศ.ธเนศ เปรียบเทียบที่มาระหว่างรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา กับ รัฐธรรมนูญของไทย ฉบับ2475 ว่ามีความแตกต่างกัน คือ รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาจากความต้องการต่อต้านประเทศอังกฤษ ทุกคนจึงมีจุดร่วมเดียวกันคือกลัวการรวมศูนย์อำนาจ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2475 ของไทย มาจากทั้งกลุ่มคนที่กลัวการรวมศูนย์อำนาจ และกลุ่มคนที่กลัวฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทำให้ไม่สามารถแปลงเจตนารมณ์ไปสู่การปกครองของคนส่วนใหญ่ได้ โจทย์ของรัฐธรรมนูญคือ ทำอย่างไรที่จะให้เจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญนำไปสู่การปฏิบัติได้ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผ่านการลองผิดลองถูกโดยรัฐบาลที่มาจากประชาชน และค่อยๆปรับแก้กันไป ให้รัฐธรรมนูญสามารถถ่วงดุลอำนาจของกลุ่มต่างๆได้ โดยสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่จุดนั้นได้คือต้องให้ประชาชนมีอุดมคติเรื่องเสรีภาพและการปกครองตนเองอยู่ตลอดเวลา

แหล่งข่าว: 
มติชนออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด