วรเจตน์ ภาคีรัตน์: ประชาธิปไตยที่เหมาะกับสังคมไทยใครเป็นคนกำหนด?

วันที่ 21 ตุลาคม การเสวนาวิชาการ "รัฐธรรมนูญไทย: มองไปข้างหน้า" ที่หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นไปอย่างคึกคัก มีทั้งพระสงฆ์นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจทยอยเข้าจับจองที่นั่งจนเต็มหอประชุม

รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถ้าดูจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จะเห็นปัญหาว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังร่างขึ้นโดยการนำของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อาจไม่สามารถผ่านประชามติได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว2557 บัญญัติชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติก็ต่อเมื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบ หมายความว่าต้องไปคะแนนครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิประมาณ 46 ล้านคนซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ยืนยันว่าถ้ายึดตามตัวบทต้องตีความเช่นนี้ โดยหากเทียบกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ซึ่งบัญญัติชัดเจนในการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า ผ่านโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงลงประชามติ

ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ยังไม่มีความชัดเจนในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ว่าจะให้ทำอย่างไรก็ต่อไป โดยทางที่เลวร้ายที่สุดคือ จะเกิดการร่างรัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ผ่านก็ร่างอยู่อย่างนั้น แต่ส่วนตัวเชื่อว่าโอกาสเกิดขึ้นในรูปแบบนี้มีน้อย พร้อมเชื่อว่าในอีกไม่นานจากนี้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2 ประเด็น คือ จำนวนที่แน่นอนของการผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ และกรณีที่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร

รศ.วรเจตน์ ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่อีกประการว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรกในประวัติศาสตร์ที่กำหนดเปิดช่องการแก้ไขไว้ในตัวมันเอง สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันมีความไม่แน่นอนในสถานการณ์ทางการเมือง ผู้มีอำนาจ หรือ เนติบริการจึงเปิดช่องให้สงวนอำนาจไว้ได้เสมอ

“เรามาสู่ยุคสมัยที่มีความผันแปร เป็นช่วงเวลาที่คนกุมอำนาจรัฐ ต้องการกำหนดการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ด้วยตนเอง” รศ.วรเจตน์ กล่าว

นอกจากนี้ รศ.วรเจตน์ ยังเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างขึ้นใหม่ จะมีหน้าตาไม่ต่างจากร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ผ่านสปช. เพราะรัฐประหารครั้งนี้จะมีความพยายามถ่ายโอนหรือสืบทอดอำนาจในนามของการแก้วิกฤติซึ่งจะมีองค์ประกอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามาอีกทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา35ยังส่งผลให้การร่างรัฐธรรมนูญต้องอยู่ในกรอบซึ่งระบุไว้ชัดเจนข้อหนึ่งว่าต้องร่างรัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยคำถามคือใครจะเป็นคนกำหนดประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยถ้าไม่ใช่คนในสังคมไทย ทั้งนี้การให้อำนาจกับองค์กรที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน และมากล่อมเกลาว่าเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยคือการสร้างปัญหา และที่เป็นเช่นนี้เพราะชนชั้นนำส่วนใหญ่ของสังคมไทยไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตยได้

รศ.วรเจตน์ยังกล่าวอีกว่าทางเลือกของฝ่ายประชาธิปไตยที่พอจะทำได้ในเวลานี้คือเผยแพร่ความคิดเห็นที่ถูกต้องในหลักการประชาธิปไตยออกไปให้ได้มากที่สุดเชื่อว่าเมื่อสังคมไทยผ่านจุดหนึ่งไปคนส่วนใหญ่จะเข้าใจประชาธิปไตยและเห็นว่าประชาธิปไตยสามารถเป็นพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆต่อรองผลประโยชน์รวมถึงสามารถจัดการความแตกต่างได้อย่างไร

แหล่งข่าว: 
มติชนออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด