
26 ต.ค. 58 เวลา 10.30 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานก.พ.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ประมาณ10 คน นำโดย นางวันเพ็ญ พรหมรังสรรค์ เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เรื่องขอคัดค้านคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เนื่องจากเป็นการตั้งคณะกรรมการซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการ 5 ฝ่ายที่เคยตั้งมาก่อนหน้า โดยมีนาย สุขสวัสิ์ สุวรรณวงษ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชนเป็นผู้รับเรื่อง
นางวันเพ็ญ กล่าวว่า การที่ได้ตั้งคณะกรรมการ 5 ฝ่าย ตามคำสั่งของนายกฯ ก่อนหน้านี้ ซึ่งการดำเนินการใกล้จะได้ข้อสรุปแล้ว แต่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่เป็นการซ้ำซ้อนและทำให้เกิดความล่าช้า อีกทั้งอาจเป็นเหตุให้ผลประโยชน์ของประชาชนถูกทำให้เปลี่ยนแปลง อีกทั้งทำให้เกิดความล่าช้าและความเสียหายต่อประชาชน และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจำนวนมากอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่กว้างขึ้น อีกทั้งข้อกำหนดท้ายคำสั่งดังกล่าว ที่ระบุว่าเปิดกว้างให้คนนอกเหนือคำสั่งเข้าร่วมโดยไม่จำกัดและไม่มีความเป็นกลางในการตรวจพิสูจน์นำไปสู่ความเป็นธรรม และในข้อ 3 การตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องของความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่กับบริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด เรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งมีกลุ่มคนพยายามเสนอขายที่ดินให้กับบริษัทดังกล่าวในราคาแพง ชาวบ้านจึงเข้าใจว่าเหมืองจะไม่ถูกปิด ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ พฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายการหลอกลวงชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเสนอขายที่ดินของตนเองเพื่อการอพยพและชาวบ้านจะบอกว่าไม่มีผลกระทบเพื่อไม่ให้คัดค้าน เพราะถ้าเหมืองถูกปิดจะไม่ได้ขายที่ในราคาแพง ซึ่งสุดท้ายการที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าว่าจะได้อพยพ จากการขายที่ดินให้กับบริษัทฯจะเข้าข่ายสร้างความชอบธรรมให้บริษัทดังกล่าวในการอ้างเหตุผลทางกฎหมายได้ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม การตั้งคณะกรรมการฯ ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ไม่สามารถลงไปตรวจพื้นที่เนื่องจากยังไม่ได้เรื่องจากคณะกรรมการชุดดังกล่าว จึงทำให้เกิดผลเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน อีกทั้งผลดำเนินการของคณะกรรมการฯยังไม่ชัดเจน อาจนำไปประกอบการผลักดันร่างนโยบายและทำเหมืองแร่ทองคำ อันจะส่งผลกระทบอีก 12 จังหวัดต่อไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทางกลุ่มฯได้เดินทางไปยื่นหนังสือฉบับดังกล่าวต่อดีเอสไอต่อไป