หน่วยใหม่ “กองสงครามไซเบอร์” เสริมทัพไทย สู้ด้วยจิตวิทยา

ปรัชญา นงนุช

เป็นที่จับตามองอีกครั้งกับการตั้ง “กองสงครามไซเบอร์” หลัง พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เสนอยังที่ประชุมผบ.เหล่าทัพเมื่อวันที่19ต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลสงครามทางไซเบอร์ ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และยืนยันว่าจะดูแลเพียงด้านการทหารเท่านั้น

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องมีในอนาคต และเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปใน 5-20 ปี ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้สั่งการลงไปแล้ว อีกทั้งยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการไปรุกรานใคร แต่ต้องมีไว้เพื่อป้องกัน โดยในขณะนี้ยังไม่มีการประสานความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และพล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายซิงเกิลเกตเวย์(Single Gateway) ที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้

กองสงครามไซเบอร์ถือเป็นอีกยุทธศาสตร์ใหม่ของไทย ซึ่งมีการตั้งขึ้นแล้วในหลายประเทศ โดยกองทัพไทยจะมีการจัดตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ไร้ตัวตนและไร้พรมแดน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของแต่ละเหล่าทัพยาว 5 ปี และรวมเป็นแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 20 ปี ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงกลาโหม ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลเพื่อการปฏิรูป

ล่าสุดได้มีการประชุมการจัดตั้งกองสงครามไซเบอร์ไปเมื่อวันที่21ต.ค.ที่ผ่านมา โดยพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เปิดเผยว่า ศูนย์แก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการ (ศบม.) เป็นความร่วมมือของเหล่าทัพและกระทรวงต่างๆ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการตั้งกองสงครามไซเบอร์ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) โดยมีภารกิจหลัก คือ การติดตามผู้ที่คุกคามด้านความมั่นคงผ่านระบบออนไลน์ทั้งในและนอกประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตามความท้าทายยังไม่สิ้นสุดหลังมีกระแสข่าวล่าสุดกลุ่ม “แอนโนนิมัส (Anonymous)” หรือขบวนการแฮ็กเกอร์นิรนามระดับสากล รวมตัวกันเพื่อจะล้วงข้อมูลลูกค้าของ บริษัท กสม โทรคมนาคม (แคท เทเลคอม) ออกมาแพร่เผยเพื่อเป็นการคัดค้านแนวทาง ซิงเกิ้ลเกตเวย์ ของรัฐบาลไทย โดยกลุ่มจะมีแนวทางการออกแถลงการณ์ก่อนโจมตี มีจุดยืนเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยมีสัญลักษณ์หน้ากากขาว(Guy Fawkes) และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเปิดเผยข้อมูล เช่น วิกิลีกส์ พร้อมเข้าแฮกเกอร์เว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ-เอกชนทั่วโลก เช่น เว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีสิงคโปร์ โดยเรียกร้องให้สิงคโปร์ยอมรับเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตของพลเมืองมากขึ้น เว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมของอังกฤษ เพื่อร้องร้องให้ยกเลิกนโยบายการเฝ้าติดตามปรชาชนที่มากเกินไปเพราะเป็นการลิดลอนสิทธิ์ อีกทั้งข่มขู่การทำสงครามทางไซเบอร์กับรัฐบาลต่างประเทศมาแล้ว

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ติดตามกลุ่มผู้คุกตามเว็บไซด์ต่างๆ และให้แต่ละหน่วยงานดูแลฐานข้อมูลให้ดี

ถือเป็นสงครามเย็นยุคใหม่ที่ใช้วิธีทางจิตวิทยาในการคัดค้านหรือแสดงออกเพื่อต่อสู้กับรัฐ จากการข่มขู่ด้วยกำลังอาวุธ-รุกรานดินแดนมาเป็นการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจผ่านระบบไซเบอร์ที่สำคัญเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐที่สามารถทำได้ง่ายและได้ผลเร็วขึ้น อีกทั้งยากต่อการติดตามผู้กระทำผิด ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารด้านไซเบอร์ก็ได้เริ่มใช้มาแล้วในยุคสงครามเย็น แต่สงครามทางไซเบอร์ได้ถูกนำมาใช้หลังจบสงครามเย็นได้ไม่นาน

ในสหรัฐอเมริกาได้มีการตั้ง กองบัญชาการไซเบอร์(United States Cyber Command : USCYBERCOM) ขึ้นในปีค.ศ.2009 ในยุคประธานธิบดีบารัค โอบาม่า เพื่อป้องกันการคุกคามทางไซเบอร์ ภายใต้การกำกับของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ โดยมีแนวทางเพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลทางเศรษฐกิจ และมีความพยายามจับกุมผู้เข้าร่วมกระบวนการแฮกเกอร์อีกด้วย โดยแบ่งเป็นทั้งหน่วยระดับชาติ หน่วยโจมตี และหน่วยป้องกัน

เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบก กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก ได้กำหนดการกิจกรรม ArmyCyber Contest 2015 ขึ้นเช่นกัน ถือเป็นการแข่งขันทักษะด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย เพื่อสร้างบุคลาการที่มีความชำนาญในเรื่องนี้

แสดงให้เห็นว่า ไทยถูกท้าทายกับภัยความมั่นคงที่ไร้ตัวตนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ทางการไทยจะให้มีการศึกษาเรื่องซิงเกิ้ลเกตเวย์ และเป็นที่ถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง จนทำให้มีการรวมพลกดF5บนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ กับเว็บไซด์หน่วยงานราชการหลายแห่ง จนทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เพื่อต่อต้านนโยบายนี้มาแล้วก็ตาม โดยกระแสต้านเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง”ความมั่นคง-สิทธิเสรีภาพ”มากขึ้น

แม้ว่า พล.อ.ประวิตร รมว.กลาโหม และ พล.อ.สมหมาย ผบ.ทสส. จะชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่าการจัดตั้งกองสงครามไซเบอร์มีไว้เพื่อการทหารและความมั่นคง แต่สิ่งสำคัญคือการการชี้แจงต่อสังคมถึงแนวทางการดำเนินงาน ว่า ความมั่นคงนี้เป็นความมั่นคงเรื่องใด หากเป็นเรื่องการเมืองจะเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพหรืออำนาจหรือไม่ ด้านเศรษฐกิจจะเกี่ยวข้องกับการควบคุม-ปกป้องเศรษฐกิจอย่างไร และด้านสังคมจะนำนโยบายนี้มาป้องกันสิ่งที่รัฐไม่พึงปรารถนาหรือเป็นภัยแก่สังคมอย่างไร

รัฐจึงต้องสร้างความชัดเจนถึงภารกิจหน้าที่ของกองสงครามไซเบอร์ขึ้น ว่าการปฏิบัติการทางทหารและความมั่นคงสุดท้ายแล้วจะลงโจทย์ไหน หรือ คาบเกี่ยวโจทย์ทั้งหมดนี้ อีกทั้งโครงสร้างการบริหารจัดการภายในกองจะแยกย่อยหน่วยงานและมีภารกิจอย่างไรบ้าง ในมาตราการรุกและรับการคุกคามทางไซเบอร์

ที่สำคัญบุคลาการที่จะนำมาใช้ในการป้องกัน จะต้องมีความรู้ทั้งด้านความมั่นคงและเข้าใจถึงความละเอียดละอ่อนของสังคม ในการเข้าใจถึง”พื้นที่ส่วนตัว”พอสมควรที่จะเข้าไปพื้นที่นั้นได้ เพราะ เรื่องของความมั่นคงนั้นเกี่ยวข้องกับความรู้สึกด้วย

ถือเป็นการตั้งกองกำลังใหม่ ที่จับอาวุธรูปแบบใหม่ ผ่านระบบไซเบอร์ ที่สู้ด้วยข้อมูลผ่านระบบจิตวิทยาสังคมนั่นเอง!!

แหล่งข่าว: 
มติชนออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด