ยึดไลเซ่นส์โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 70 รายที่ไม่ลงทุนสร้างจริง เตรียมจัดสรรให้รายใหม่

กระทรวงพลังงานจะลงพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่ กฟภ., สกพ. เร่งตรวจสอบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมากทั่วประเทศ พบมีประมาณ 70 แห่ง กำลังผลิต 150 เมกะวัตต์ ได้สัญญาการส่งมอบไฟฟ้าแล้วแต่ยังไม่เริ่มลงทุนก่อสร้างเพื่อผลิตแต่อย่างใด หากพบไม่ลงทุนจริงจะยกเลิกใบอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรให้รายอื่น ด้าน กกพ. เตรียมเปิดจองคิวออนไลน์รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มกลุ่มราชการและสหกรณ์การเกษตร (ที่มาภาพประกอบ: elp.com)

27 ต.ค. 2558 หนังสือพิมพ์แนวหน้ารายงานว่านายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา "แผนพลังงานใหม่ (พ.ศ.2558-2579) อนาคตอุตสาหกรรมไทย" ซึ่งจัดโดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าสัปดาห์หน้ากระทรวงพลังงานจะลงพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เพื่อเร่งตรวจสอบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนราย เล็กมาก หรือ VSPP ทั่วประเทศ ที่พบว่ามีประมาณ 70 แห่ง กำลังผลิต 150 เมกะวัตต์ ที่แม้ว่าจะมีสัญญาการส่งมอบไฟฟ้าแล้วแต่ยังไม่เริ่มลงทุนก่อสร้างเพื่อผลิตแต่อย่างใด ซึ่งหากพบว่าไม่มีเจตนาลงทุนจริงก็คงจะยกเลิกใบอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรให้รายอื่น เพื่อให้เกิดการลงทุนที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ พลังงานเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากข้อมูลการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2557 มีปริมาณ 75,804 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.8 และคิดเป็นมูลค่าการใช้พลังงานรวม 1.8 ล้านล้านบาท โดยภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูงที่สุด และมีการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นกว่า 3.48% ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศจำกัด จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ในสัดส่วนที่สูง โดยกระทรวงพลังงานเองได้พยายามเดินหน้านโยบายพลังงานของประเทศ ทั้งในเรื่องจัดหา เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างพอเพียง การปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อความเป็นธรรม การผลักดันการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งการรณรงค์ให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทย มีพลังงานใช้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

โดยตามแผนพลังงานของประเทศ 20 ปี (พ.ศ. 2558 - 2578) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบในกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศอย่างบูรณาการทั้งแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP2015) แผนบริหารจัดหาก๊าซธรรมชาติ แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยระยะสั้น 3-5 ปีตามแผน PDP จะมีเม็ดเงินลงทุน 6.9 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการลงทุนทั้งเอกชนและภาครัฐแบ่งเป็น ด้านไฟฟ้า 1.21 แสนล้านบาท ด้านปิโตรเลียม ที่มี ทั้งระบบท่อก๊าซสถานีรับแอลเอ็นจีแห่งที่ 2

ด้านพลังงานทดแทน 1.02 แสนล้านบาท การอนุรักษ์พลังงาน 1.26 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มความมั่นคง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ตามแผนแล้วสิ้นปี 2579 จะมีพลังงานทดแทน 20% ลดการใช้พลังงาน 30% เพิ่มเชื้อเพลิงชีวภาพ จาก 4% เป็น 20% ในแผนนี้ยังกระตุ้นการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ จำกัดอัตราการลดลงของก๊าซธรรมชาติด้วยการจำกัด ปริมาณลดลงของก๊าซในประเทศจาก 11% ต่อปี เป็น 2% ซึ่งในส่วนนี้จะต้องลดการพึ่งพาก๊าซเพื่อการผลิตไฟฟ้าและส่งเสริมการใช้ถ่านหินตาม แผน PDP ที่กำหนด

ในส่วนของการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ในส่วนของไบโอดีเซลขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับค่ายรถยนต์เพื่อเพิ่มไบโอดีเซลจากสูตร บี7 เป็น บี10 ส่วนการเพิ่มสัดส่วนเอทานอลตาม เป้าหมาย 3.3 ล้านลิตร/วัน เป็น 11 ล้านลิตร/วัน ตามแผนจะใช้โครงสร้างราคาสนับสนับสนุนเพิ่มการใช้ อี20 และ อี85 นอกจากนี้ จากการที่กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ ปรับจากการอิงขนาดซีซีเป็นการอิงการลดการปลดปล่อยมลพิษนั้น ก็จะเป็นผลดีต่อการส่งเสริม อี85 ด้วย เนื่องจากโครงสร้างใหม่ รถยนต์ที่ใช้ อี85 ได้ จะได้รับส่วนลดภาษีเพิ่มอีก 5% จากอัตราภาษีทั่วไปดังนั้นรถยนต์ อี85 ราคาก็จะลดลงตั้งแต่ 5 หมื่น ถึง 1 แสนบาท ค่ายรถยนต์จะหันมาผลิตรถยนต์ อี85 เพิ่มมากขึ้น

กกพ. เปิดจองคิวออนไลน์รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มกลุ่มราชการและสหกรณ์การเกษตร

ด้านสำนักข่าวไทยรายงานเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดให้มีการจองวันเวลาลงทะเบียนขอขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 1 ที่จะเปิดให้ยื่นระหว่างวันที่ 1 – 10 พฤศจิกายน นี้ โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม นี้เป็นต้นไป

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรว่า ขณะนี้ กกพ. ได้เปิดให้มีการจองวันและเวลาการยื่นแบบคำขอผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ในการยื่นคำขอตั้งแต่วันที่ 1 – 10 พฤศจิกายน 2558 ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกวันและรอบเวลาที่สะดวกในการมายื่น โดยแบ่งเป็น 2 รอบเวลา คือ รอบเช้าเวลา 09.00 – 12.00 น. และรอบบ่ายเวลา 12.00 – 16.00 น. นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถกรอกแบบคำขอขายไฟฟ้าผ่านระบบได้ด้วยเช่นกัน เมื่อกรอกรายละเอียดตามขั้นตอนครบถ้วนแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการต้องพิมพ์หลักฐานการจองและแบบคำขอขายไฟฟ้า และนำมายื่นในวันยื่นแบบคำขอด้วย โดยสามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ www.solar.erc.or.th ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม ถึงวันยื่นคำขอขายไฟฟ้าในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 นี้

“สำหรับการลงนามในแบบคำขอขายไฟฟ้าและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้ลงนามจะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดของหน่วยงาน หรือเป็นผู้ที่รับมอบอำนาจให้ลงนามแทน โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจได้ทางเว็บไซต์ www.erc.or.th” นายวีระพล กล่าว

กำหนดการยื่นแบบคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้อง กกพ. จะเปิดรับตั้งแต่วันที่ 1 – 10 พฤศจิกายน 2558 ระหว่างเวลา 09.00 – 16.00 น. ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น G บริเวณหน้าร้านภูฟ้า และ กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ณ สำนักงาน กกพ. และผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. สำหรับขั้นตอนการจับสลาก กกพ. ได้กำหนดเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ระหว่างเวลา 09.00 – 15.00 น. โดยจะแจ้งสถานที่จับสลากให้ทราบภายในวันที่มายื่นแบบคำขอ หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการพิจารณาในวันที่ 24 ธันวาคม 2558

นายวีระพล ได้กล่าวเน้นย้ำว่า ขอให้ผู้เข้าร่วมโครงการติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการเป็นระยะๆ ผ่านทางเว็บไซต์ www.erc.or.th ซึ่ง กกพ. จะแจ้งผ่านช่องทางดังกล่าว หากมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเพิ่มเติมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ

นอกจากนี้ นายวีระพล ยังได้กล่าวเสริมถึงประเด็นโครงการ Solar PV Rooftop ประเภทบ้านอยู่อาศัย ว่าเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558 ได้มีการประกาศใช้กฎกระทรวงในเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านอยู่อาศัยที่มีขนาดติดตั้งไม่เกิน 160 ตร.ม. และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กก./ตร.ม. ไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคาร จึงไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร (ใบ อ.1) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ผู้ที่ติดตั้งจะต้องได้รับการรับรองจากวิศวกรโยธาว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัย และต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทราบก่อนที่จะดำเนินการด้วยเช่นกัน

แหล่งข่าว: 
ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด