นักศึกษาต้านรัฐประหาร 57 : LLTD – ดาวดิน

พาขวัญ พินิจกิจวัฒน์

รายงานศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) และกลุ่มดาวดิน ที่มีบทบาทสำคัญในต้านรัฐประหาร ทั้งความเป็นมา อุดมการณ์ เป้าหมาย การระดมทรัพยากรผลักดัน การร่วมมือกับกลุ่มอื่น โครงสร้างโอกาสทางการเมืองและผลสะเทือน

นับตั้งแต่มีการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลุ่มนักศึกษาค่อยๆ เติบโตและมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงได้รับการคาดหวังให้เป็นเช่นนั้น คนในสังคมจำนวนไม่น้อยมองว่าเยาวชนในเสื้อสีขาวนี้เป็นพลังบริสุทธิ์ หรือสัญลักษณ์ในแง่บวก ในหลายๆ ครั้ง การมีนักศึกษาขึ้นรวมเวทีทางการเมืองสร้างความรู้สึกแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมว่าฝ่ายตนถูกต้อง ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในเดือนตุลาส่วนหนึ่งตั้งความหวังกับนักศึกษาไว้ไม่น้อย กระทั่งมีประเด็นวิจารณ์ถึงการแผ่วลงของพลังนักศึกษา การละเลยปัญหาสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับยุคของตน กระนั้นแม้การเคลื่อนไหวจะลดลง แต่นักศึกษาก็ยังมีบทบาทมาโดยตลอด อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกมาในฐานะนักศึกษา ปรากฏอยู่แทบทุกหน้าของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

หลังเดือนพฤษภาคม ปี 2557 กลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารถูกขัดขวางไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่นเดียวกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ แต่ยังมีความพยายามจะจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นกลุ่มฐานะหลักที่ยังคงเคลื่อนไหว และเสนอข้อเรียกร้องต่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้จัดการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความก้าวหน้าในแบบที่พวกเขาเชื่อ ภาพกิจกรรมที่นำโดยนักศึกษาปรากฏในสื่อถี่และขยายพื้นที่งาน จากการจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยสู่พื้นที่ที่เป็นสาธารณะมากขึ้น นักวิชาการบางส่วน รวมถึงพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนบทความสรุปบทเรียน 22 พ.ค. 2557 (4): ขบวนนิสิตนักศึกษา(ดู) มองรัฐประหารครั้งนี้ว่าเป็นแรงพัดให้พลังนักศึกษาโหมขึ้นมาอีกครั้ง
ในชุดนักศึกษา

Lucian Pye อธิบายผ่านงาน Education and Political Development (1965) ว่าการศึกษาสร้างสังคมสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย โดยสร้างคนที่ให้คุณค่ากับสิทธิและความเท่าเทียม อันเป็นการผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีค่าในการขับเคลื่อนไปสู่ปลายทางประชาธิปไตย ผู้เขียนจึงมองว่าการมีนักศึกษาออกมาทำกิจกรรมเชิงการเมืองไม่ว่าจะในเชิงสนับสนุนหรือต่อต้านการทำรัฐประหาร ในแง่หนึ่งเป็นการแสดงผลลัพธ์การหยั่งรากของประชาธิปไตยในสังคม

อย่างไรก็ดี งานชิ้นนี้จะเจาะกลุ่มนักศึกษาที่ต้านรัฐประหาร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังดำเนินกิจกรรมภายใต้ภาวะห้ามเคลื่อนไหว รวมถึงการเคลื่อนไหวของฝ่ายสนับสนุนแผ่วลงมาก ต่างจากช่วงก่อนการรัฐประหารที่เป็นแนวร่วมกับกลุ่มกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) หลังการเปลี่ยนแปลงลดบทบาทลง เหลือเพียงโจมตีกลุ่มนักศึกษาที่มีจุดยืนที่ต่างออกไปผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เพจกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา สนับสนุนลุงตู่ และ กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ที่มียอดคนกดไลค์ 8,437 คน และ 22,871 คน ตามลำดับ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มหลังไม่เพียงแต่แสดงจุดยืนผ่านโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังออกมายื่นหนังสื่อและให้กำลังใจนายกฯ อีกด้วย (โปรดดู ‘อาชีวะช่วยชาติ’ ออกโรงให้กำลังใจนายกฯ ยันไม่ได้โต้ 14 นักศึกษา เห็นต่างได้ เพิ่มเติม )

นอกจากนี้เมื่อเทียบการเคลื่อนไหวในช่วงหลังรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาต้านรัฐประหารมีบทบาทโดดเด่นเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว แม้ในช่วงแรกมีกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ ออกมาต่อต้านกฎอัยการศึก แต่หลายกิจกรรมต้องยกเลิกกิจกรรมเนื่องจากมีทหารเข้ามาในพื้นที่ หรือผู้เข้าร่วมถูกจับกุม เช่น กลุ่มชุมนุมหน้าหอศิลป์วัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร กลุ่มประชาชนในเชียงใหม่ กลุ่มต่อต้านรัฐประหารที่ชุมนุมแยกราชประสงค์ เป็นต้น ซึ่งทำให้หลังจากนั้น จำนวนกลุ่มพลเมืองที่ออกมาแสดงท่าทีต่อต้านลดลง

ต่างจากนักศึกษาที่ยังออกมายืนยันในเสรีภาพทางความคิด สิทธิในการแสดงออกของตน ถือเป็นปรากฏการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เหตุใดกลุ่มนักศึกษาจึงเป็นสถานะภาพเดียวที่เคลื่อนไหวในช่วงแรก ภายใต้บริบทการเมืองที่ประกาศกฎอัยการศึก ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ผู้เขียนหาข้อมูลกลุ่มนักศึกษา 2 กลุ่ม คือกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) และกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่มีบทบาทอย่างมากในการเคลื่อนไหวหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปี 2557 ทั้งนี้ผู้เขียนหาข้อมูลจากทั้งสำนักข่าว เฟซบุ๊กเพจของแต่ละกลุ่ม และการสัมภาษณ์อดีตสมาชิก และสมาชิกปัจจุบัน เพื่อพิจารณาโครงสร้างองค์กร และหาคำตอบว่าทำไมกลุ่มนักศึกษาจึงการก้าวขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นกว่ากลุ่มการเมืองอื่น

ทั้งสองกลุ่มแม้จะมีจุดเริ่มต้น และขอบเขตความสนใจก่อนหน้านี้ที่ต่างกัน ต่างก็ร่วมกันเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) เป็นกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนใจประเด็นการเมืองและสังคม โดยเริ่มรวมกลุ่มประมาณปี 2554 เคลื่อนไหวประเด็นภายในมหาวิทยาลัยบ้าง เช่น เรื่องเครื่องแบบนักศึกษา การรับน้อง การเรียกร้องให้จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และให้นักศึกษามีตัวแทนในสภามหาวิทยาลัย (ดู) เป็นต้น โดยเรื่องที่ LLTD สนใจ มักเป็นหัวข้อสาธารณะตามบริบทเวลาอย่าง การคัดค้านการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างไทย กัมพูชา ในกรณีพิพาทเขาพระวิหาร (ดู) การเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 รวมถึงการแสดงจุดยืนด้านประชาธิปไตย เรียกร้องไม่เอารัฐประหารตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน มีการทำสื่อเรื่องบันได 3 ขั้น ต้านรัฐประหารอย่างเป็นระบบ(ดู) จึงไม่น่าแปลกใจที่นักศึกษากลุ่มนี้ออกมาเป็นกลุ่มแรกๆ หลังการรัฐประหาร โดยมีทั้งจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการอย่าง ห้องเรียนประชาธิปไตย (ดู) ไปจนถึงเข้าร่วมกิจกรรม(ที่กลายเป็น)เชิงสัญลักษณ์อย่างกิจกรรมไม่อะไรมว๊าก อยากกินแซนวิช (ดู) ร่วมกับกลุ่มศนปท. (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย) แม้ก่อนหน้านี้ LLTD จะเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ้างแล้ว เช่น การเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 การคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้พื้นที่สื่อมากนักเมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้

ไม่แตกต่างกันนักในแง่การให้คุณค่ากับเสรีภาพที่มนุษย์พึงได้รับ “พวกเรา คือ สามัญชนคนธรรมดาที่แสวงหา สิทธิ เสรีภาพ ในแบบที่พวกเราเชื่อ” คำบรรยายตัวเองในเพจเฟซบุ๊กของดาวดิน-กลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่สนใจประเด็นข้อพิพาทระหว่างชุมชนใกล้เคียงที่มีกับรัฐ เช่น การคัดค้านเหมืองแร่โปแตช ในจังหวัดอุดรธานี การคัดค้านโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง จังหวัดขอนแก่น(ดู) การต่อต้านโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ในจังหวัดกาฬสินธุ์(ดู) รวมถึงประเด็นล่าสุดที่จังหวัดเลย เกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำ ที่ทำให้สังคมรู้จักดาวดินมากขึ้น และเป็นหนึ่งในประเด็นอนุรักษ์ที่กลุ่มเรียกร้องอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการคัดค้านรัฐประหาร

ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์ตัวแทนนักศึกษาจากทั้งสองกลุ่ม กลุ่มละ 2 คน ได้แก่

ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข อดีตสมาชิกกลุ่ม LLTD สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2557 ด้วยความสนใจในการเมืองและชอบทำกิจกรรมเป็นทุน เขาร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีหนึ่ง และเป็นปีที่กลุ่มเพิ่งเริ่มตั้ง ก่อนจะเป็นสมาชิกเต็มตัว “พอมาถึงเราเข้าทำอมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ก่อน แล้วก็สนุกกับทำงานอมธ.มากกว่ากับกลุ่ม เพราะตอนแรกๆ ยังไม่ค่อยมีอะไรมากเกี่ยวกับนักศึกษา เน้นคุยแล้วเอามาเถียงกัน มาตั้งกติกากลุ่ม เราก็งงว่าทำไมต้องขนาดนั้น พอปี 1 เทอม 2 ก็มีเพื่อนในอมธ. ชวนไป” ปณิธาน กล่าว

นิส(นามสมมติ) สมาชิกกลุ่ม LLTD เริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองหลังรัฐประหาร เธอสนใจประเด็นทางสังคมตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม และติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อนเข้ามหาวิทยาลัย “สาเหตุที่ทำกิจกรรมคือตอบยากนะ มันเป็นความรู้สึกแบบว่าเราเห็นอะไรไม่ดี เราอยากเปลี่ยนแปลงบางอย่าง หรือเราอยากทำอะไรหลายๆ อย่างให้ดีขึ้น” นิส กล่าว

วงศกร สารปรัง สมาชิกกลุ่มดาวดิน สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2554 เขาออกค่ายกับดาวดินในช่วงมหาวิทยาลัยหลังเห็นประกาศรับสมัคร และร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มตั้งแต่นั้น “ก็ไม่เชิงออกมาเคลื่อนไหว เราตอนที่เรียนคณะนิติก็เป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว พอมาเจอดาวดินก็เป็นกิจกรรมเรียนรู้ชุมชน เรียนรู้จากพื้นที่จริงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เราสนใจ เราก็คิดว่ามันมีประโยชน์กับเรา การชุมชนมันเห็นความต่างระหว่างเรียนในห้องเรียนกับไปเรียนข้างนอกครับ ก็ได้เรียนรู้แล้วก็ซึมซับมาว่าเกิดปัญหาอะไร แล้วก็อยากเป็นส่วนหนึ่ง อยากเข้าไปทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดมาครับ” วงศกร กล่าว

นิติกร ค้ำชู สมาชิกกลุ่มดาวดิน สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2555 นิติกรรู้จักกลุ่มผ่านการแนะนำของรุ่นพี่ เมื่อเขาเดินทางมาสอบตรงคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“วงเหล้าที่นั่นมันไม่เหมือนกับที่เราเคยผ่านๆ มา เขาคุยเรื่องอะไรกันไม่รู้ เรื่องปัญหาชาวบ้าน ปัญหาการเมือง ปัญหาสังคม เป็นวงเหล้าที่แปลก พอฟังๆ ไปสักพักหนึ่ง ก็รู้สึกว่าน่าสนใจดี แล้วก็มีคำถามว่าเรื่องแบบนี้มีอยู่จริงเหรอในสังคมเรา พอสอบติดก็เข้าไปที่นั่นตลอด” นิติกร กล่าว

ความเป็นมาของกลุ่ม

“…เราเข้าใจว่า การเมือง คือกิจกรรมที่มุ่งเน้นไปสู่การพิทักษ์รักษา หรือเปลี่ยนแปลง ที่ว่าพิทักษ์รักษานั้นคือ คงไว้ซึ่งระบอบการเมืองการปกครองที่ดีอยู่ไม่ให้เลวลง ที่ว่าเปลี่ยนแปลงนั้นคือ แก้ไขระบอบการเมืองการปกครองที่เลวอยู่ให้ดีขึ้น เมื่อเห็นได้ชัดว่า การเมืองคือการมารวมตัวกันของมนุษย์เป็นสังคม โดยมีเหตุผลและหลักการ เจตจำนง เพื่อสิ่งดีบางอย่างร่วมกัน นี่จึงเป็นเป้าประสงค์หลัก ในการก่อตั้ง กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นมา เหนืออื่นใดทั้งหมด เราเชื่อว่า มนุษย์ มีสิทธิบางประการอย่างเท่าเทียมกันที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและมิอาจเพิกถอนได้ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ การมีชีวิตที่ดี เสรีภาพที่ดี และการเสาะแสวงหาความสุขที่ดี”

ส่วนหนึ่งจากคำประกาศก่อตั้งกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (ดู) ที่บอกถึงความเชื่อทางการเมืองร่วมของกลุ่มได้ไม่น้อย ปณิธาน อดีตสมาชิก LLTD ให้สัมภาษณ์ถึงสมาชิกกลุ่มในปีแรกๆ ว่า “ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กรัฐศาสตร์ พวกนี้แยกมาจาก TCAP (กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ) เป็นพวกต้านรัฐประหาร หัวก้าวหน้า เสรีนิยม สังคมนิยม เรื่องเศรษฐกิจก็เอามาเถียงกันได้ พวกนี้ก็อยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย โดยรวมๆ ก็คือนักศึกษา หลังจากทำอมธ. ก็ยังอยากทำเรื่องการเมืองต่อ ก็สู้เรื่องรับน้องเป็นเรื่องแรก แยกออกมาตั้งกลุ่มของตัวเอง” ซึ่งมีการสร้างช่องทางการสื่อสารสาธารณะในเฟซบุ๊ค ตั้งแต่เริ่มตั้งกลุ่มในปี 2554 และการรวมตัวหลังเลิกเรียน

ต่างจาก LLTD กลุ่มนักกิจกรรมมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดที่ติดกับท้องถิ่นอย่างดาวดินเริ่มรวมกลุ่มจากการทำค่ายอาสา เพื่อศึกษาและช่วยชาวบ้านในการรับมือกับนโยบายภาครัฐที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น สมาชิกมักรวมตัวและนัดประชุมที่บ้านดาวดิน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่ม

ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่าคนเท่ากัน โครงสร้างของทั้งสองกลุ่มจึงเหมือนกันในลักษณะที่ว่าตัดสินใจโดยใช้การออกเสียง ไม่มีใครเป็นผู้นำ

“พี่ปีที่เยอะที่สุดก็เหมือนจะเป็นหลักให้น้องๆ ประชุมภายในกลุ่ม คนที่ประจำหน่อย ออกแบบร่วมก็มีไม่เยอะ ปีหนึ่งถึงปีสี่ก็มีแค่สิบกว่าคน ปรึกษาหารือกัน ส่วนหนึ่งก็ปรึกษาพี่ๆ NGOs พี่ๆ นักกฎหมาย ที่มีโอกาสหรือช่องทางให้พวกมันปรึกษา” นิติกร สมาชิกกลุ่มดาวดินกล่าว

ส่วนนิส สมาชิกกลุ่ม LLTD กล่าวถึงการส่งต่อภายในกลุ่มว่าเป็นการเรียนรู้งานจากรุ่นสู่รุ่น โดยการทำงานจริง “ช่วงแรกรุ่นพี่ก็รันงานไปตามปกติ รุ่นน้องก็ทำตามศักยภาพแล้วก็เรียนรู้งานไป พอคุณเข้ามาแล้ว ทุกคนก็เท่าเทียมกัน มีสิทธิออกเสียงหมด มีไอเดียเสนอมาแล้วก็ทำเลย”
หลังเดือนพฤษภาคม 2557 (อุดมการณ์และเป้าหมาย)

หลังเดือนพฤษภาคม ปี 2557 ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผลักดันให้ทั้งสองกลุ่มออกมาต่อสู้ร่วมกัน “LLTD ทำทั้งข้างนอกแล้วก็ข้างใน ซึ่งเวลาทำเรื่องข้างใน เราก็อยากให้คนในธรรมศาสตร์เห็นปัญหาของตัวเอง แล้วก็ช่วยเหลือตัวเอง แต่อย่างข้างนอก กรณีเรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสมควรได้รับ มันสมควรเป็นการเรียกร้องของทุกคน เราก็เลยสามารถร่วมงานกับทุกคนได้” นิสกล่าวถึงสาเหตุที่กลุ่มออกมาเคลื่อนไหวหลังเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง

ด้านดาวดิน วงศกรให้เหตุผลว่าหลังการเข้าสู่อำนาจของทหาร ดาวดินได้รับผลกระทบทำให้เคลื่อนไหวได้ยากขึ้น

“การที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องรัฐประหาร ก็รู้สึกว่าการรัฐประหาร มันกระทบกับชุมชน กระทบกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา เพราะปัญหามันเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะโดดไป ก็มีคำอธิบายว่า เพราะรัฐประหารก็ทำให้ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิเหมือนกัน ดาวดินก็เลยคิดว่าส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่เป็นเหตุผลในการออกมาเรื่องรัฐประหารก็นี่แหละครับ รัฐประหารมันละเมิด จากแต่ก่อน มันก็ยังพอพูดอะไรได้อยู่ ถึงแม้เขาจะไม่ฟัง ชาวบ้านก็พอออกมารวมกลุ่มออกมาคัดค้านพูดอะไรได้อยู่ แต่พอคสช.เข้ามา เกิดรัฐประหาร กิจกรรมที่ชาวบ้านจะรวมกลุ่มแสดงความคิดเห็นอะไรก็ถูกบล็อก ถูกสั่งห้าม ถูกคุกคามหมด สภาพสถานการณ์มันก็เลยยิ่งหนักกว่าเดิม จากที่มันหนักอยู่แล้ว มันก็หนักขึ้น” วงศกร กล่าว

เทียบจากกิจกรรมของดาวดินที่ผ่านมา ระดับของประเด็นขยายกว้างขึ้นอย่างน่าตกใจ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่ม แต่วงศกรและรุ่นพี่ที่จบแล้วก็เคารพการตัดสินใจของสมาชิกปัจจุบัน “กลับไปเรื่อยๆ แต่กิจกรรมที่น้องเขาทำ เขาก็ทำกันเอง ไม่ได้จะต้องเข้าไปร่วมอะไรขนาดนั้น เป็นอิสระของน้องที่ทำ” เขา กล่าว ทั้งนี้นิสเห็นด้วยว่าเงื่อนไขความเป็นกลุ่มนักศึกษา สมาชิกถูกจำกัดภายใต้สถานะภาพนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ รุ่นพี่ที่จบแล้วก็จะไม่ก้าวก่าย ทำให้กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาคงความเป็นกลุ่มนักศึกษา
สถานที่ และงบประมาณ

ด้านสถานที่ทั้งสองกลุ่มใช้บริเวณภายในมหาวิทยาลัยเพื่อทำกิจกรรม แต่เข้าสู่การเคลื่อนไหวในเรื่องที่กระทบต่อสังคมที่กว้างขึ้น ก็ใช้พื้นที่สาธารณะในการจัดกิจกรรม เช่น ย่านสยามสแควร์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือศาลากลางจังหวัดขอนแก่นสำหรับกลุ่มดาวดิน เป็นต้น

นับแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาเริ่มครองพื้นที่ในสื่อ มีข้อโจมตีว่ามีการรับเงินมาจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองให้ออกมาเคลื่อนไหว อย่างไรก็ดีข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊กของ LLTD แสดงว่ามักมีการระดมทุนจากการจัดงานและหักกำไรจากค่าบัตรเข้างาน หรือจากการขายเสื้อยืดที่ออกแบบเอง “เราจะมีขายเสื้ออยู่ตลอด ทุนของเราส่วนใหญ่มาจากการขายเสื้อผ่านเพจ ที่ตอนนี้มีประมาณแปดหมื่นกว่าไลค์ เราจะขายตัวละ 300 บาท เราทำประมาณล็อตละ 300 ตัว ครั้งล่าสุดก็คือทำ 600 ตัว” นิสอธิบายเพิ่มเติม แม้จะไม่ได้ขายหมดในทันที แต่กลุ่มก็ขายเสื้อแต่ละลายได้เรื่อยๆ จนหมด ซึ่งความต้องการจะขึ้นกับประเด็นที่เป็นกระแส เช่น เสื้อสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขายดีในช่วงที่แรกที่เป็นข่าว และกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในหมู่ นักศึกษาปีหนึ่ง เป็นต้น

“เงินทุนของกลุ่มไม่ได้มาจากการขายเสื้ออย่างเดียวนะคะ มาจากการรับบริจาคด้วย เวลาทำกิจกรรมก็จะมีการตั้งกล่องรับบริจาคด้วย ก็จะมีประชาชนที่มาร่วมงานฝากผ่านเข้ามาทางนั้นด้วย” ซึ่งเงินที่ได้นิสกล่าวว่ากลุ่มจะใช้อย่างประหยัด เมื่องบหมดก็จะทำเสื้อลายใหม่ขาย โดยมีฝ่ายบัญชี 3-4 คนบริหารเงินทุน ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่อาสาเข้ามาทำงาน งบแต่ละครั้งในการทำกิจกรรมจะลงมติกันในที่ประชุม หากเป็นงานเสวนาจะใช้ครั้งละประมาณสามพันถึงสี่พันบาทเป็นค่าสถานที่ ที่คิดตามชั่วโมง ส่วนค่าวิทยากรภายนอกมักได้คืนเป็นเงินบริจาคเข้ากลุ่มต่อ หรือหากเป็นอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยก็จะไม่คิดค่าใช้จ่าย งานที่ทำในมหาวิทยาลัยบางงานที่ร่วมกับอมธ. อย่างนิทรรศการการเมือง ก็ได้งบประมาณช่วยเหลือประมาณหกหมื่นบาท ทำให้ไม่ต้องเก็บเงินจากสมาชิกในกลุ่ม

สำหรับดาวดิน สมาชิกระดมทุนจากผู้สนับสนุนทั่วไปจากการเปิดหมวกตามตลาดนัด วงศกรเล่าว่ากลุ่มจะเปิดหมวกเมื่อต้องทำค่าย โดยร้องเพลง เล่นดนตรี เพื่อขอรับเงินบริจาคเป็นทุนในการลงพื้นที่ซึ่งแต่ละครั้งได้ประมาณหนึ่งถึงสองพันบาท มากสุดที่เคยได้คือห้าพันบาท

“จัดค่ายครั้งหนึ่งประมาณสองหมื่นถึงสามหมื่น แต่ว่าเงินส่วนหนึ่งก็ได้จากเงินคณะ ดาวดินไปจดทะเบียนในนามชมรมเป็นกลุ่มอนุรักษ์ เขาก็มีงบให้ส่วนหนึ่ง แต่อันนี้ไม่เยอะ ส่วนหนึ่งมาจากการเขียนโครงการขอมูลนิธิโกมล (มูลนิธิโกมลคีมทอง) เป็นโครงการะยะยาว ได้ปีหนึ่งก็ประมาณแสนกว่าบาท แสนห้า แสนสี่ แสนสาม แล้วแต่ปีครับ” วงศกรกล่าว โดยเงินทุนที่ได้รับมาจะมีฝ่ายบัญชีหนึ่งหรือสองคนคอยดูแล ในหนึ่งปีกลุ่มจะจัดค่ายประมาณ 3-4 ครั้ง รวมถึงกิจกรรมเสวนาและการลงพื้นที่รงณรงค์กับชาวบ้านซึ่งเสียแค่ค่าเดินทาง หากไม่มีก็จะโบกรถแทน ซึ่งในปีที่จัดกิจกรรมเยอะมากๆ สมาชิกอาจต้องช่วยสมทบทุนบางส่วน
พื้นที่สื่อ (การระดมทรัพยากรผลักดัน)

เฟซบุ๊คเพจของกลุ่ม LLTD และดาวดิน มีผู้กดไลค์ 89,261 คนและ 32,902 คน ทางทวิตเตอร์มีผู้ติดตาม 3,772 คน และ 1,783 คน ตามลำดับ (เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558) ซึ่งเป็นช่องทางในการสื่อสารกับผู้ที่สนใจติดตามความเคลื่อนไหว โดยมียอดไลค์แต่ละสเตตัสประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ไลค์ และความคิดเห็นในโพสทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อกิจกรรม อาจเป็นด้วยโลกออนไลน์ ใช้ต้นทุนน้อย แต่สามารถเข้าถึงคนได้มาก ทำให้กลุ่มนักศึกษาเลือกใช้วิธีนี้สื่อสารกับสังคม เห็นได้ชัดในกรณีเพจของดาวดินที่เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อกลุ่มตัดสินใจออกมาคัดค้านรัฐบาลชุดนี้

นิติกรอธิบายว่าทำไมจึงเปิดเพจเฟซบุ๊ค “มีเฟซบุ๊คที่ไม่ใช่เพจ เป็น user ของดาวดินนานแล้ว แต่มันไม่ได้ใช้อะไรมาก คนก็ไม่ค่อยได้สนใจอะไรมาก ไม่ได้ตั้งใจทำมันด้วยเพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้ผล ไม่ได้รับการสนใจจากคนในสังคมหรือสาธารณะเท่าไหร่ กิจกรรมเราก็มีแค่ค่าย พูดง่ายๆ ก็ไม่ค่อยออกสื่อแหละครับ ทำอย่างเดียว”

ก่อนหน้านี้ดาวดินพยายามขยายช่องทางเพื่อชูปัญหาในท้องถิ่น แต่เนื่องจากพื้นที่สื่อจำกัด ประเด็นท้องถิ่นจึงไม่ได้รับความสนใจนัก “ตอนปกตินี่คนเขาก็เคลื่อนไหวกันหมด ทั้ง NGOs นักกิจกรรม เขาเคลื่อนไหวกันเยอะ พื้นที่ข่าวมันก็คงเต็ม ทีนี้พอหลังรัฐประหาร มันไม่มีกลุ่มไหนเคลื่อนไหว พื้นที่ข่าวเลยว่าง ส่วนประเด็นที่เคลื่อนไหวก็เรื่องเดิม เรื่องเขื่อน เรื่องพลังงานอุตสาหกรรม ส่วนมากเป็นเรื่องทรัพยากรอยู่เหมือนเดิมนะครับ แต่ว่ามันเป็นการเคลื่อนไหวด้านทรัพยากรในสถานการณ์รัฐประหารเฉยๆ มันก็เลยอาจเป็นผลทำให้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา” เขาเสริม

หลังเคลื่อนไหวต้านรัฐประหาร เพจ LLTD ก็เป็นกระแสในโลกโซเชียล จากที่มีคนกดไลค์โพสต์เพียงหลักร้อยไปเป็นหลักพัน โดยเฉพาะกิจกรรมนัดชมภาพยนตร์ The Hunger Games : Mockingjay Part 1 (Hunger Games Fan Meeting) (ดู) ที่มีคนกดไลค์ 4,366 คน และแชร์ต่อ 559 ครั้ง ซึ่งเห็นได้ว่ากลุ่มสามารถขยายพื้นที่ในโลกออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการหลักของกลุ่ม

จากการสัมภาษณ์ข้างต้น ผู้เขียนสังเกตถึงความแตกต่างในการสื่อสารกับสังคม ซึ่งปณิธานวิเคราะห์ความว่าเกิดจากที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในเมืองและต่างจังหวัด ซึ่งกำหนดประเด็นที่กลุ่มนักศึกษาจะสนใจไปในตัว “กลุ่มในกรุงเทพแทบจะไม่สนใจประเด็นย่อย ไม่ได้เชื่อมโยงกับชาวบ้าน การติดกับศูนย์กลางทำให้สนใจเรื่องใหญ่ๆ นักศึกษาในเมืองเข้าถึงสื่อได้มากกว่า ในแง่หนึ่งสื่อก็กำหนดประเด็นที่นักศึกษาเคลื่อนไหวเหมือนกัน ตอนแรกเราใช้สื่อในการแจ้งข่าว แต่สื่อไม่ได้สนใจทุกประเด็น เขาสนใจอะไรที่เป็นความสนใจร่วมของสังคมอย่างเรื่องทรงผม เราเลยพยายามใช้สื่อมาเสริมกลุ่มที่มีคนจำนวนน้อย เราเลยไปประเด็นแบบนั้น เพราะเราอยู่ใกล้ ติดต่อสื่อง่าย แต่ต่างจังหวัดไม่มี อีกอย่างคือเขาติดกับชาวบ้าน ซึ่งสื่อจะให้ความสนใจน้อยกว่า”

การร่วมมือกับกลุ่มอื่น

กลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองและสังคมมีไม่มาก ทำให้สังคมนักกิจกรรมมหาวิทยาลัยค่อนข้างจำกัด และรู้จักกันเกือบหมด การร่วมมือจัดกิจกรรมฉันท์เพื่อน และคนร่วมรุ่นผู้มองไปในทิศทางเดียวกัน จึงมีค่อนข้างบ่อยขึ้นกับความสะดวกและวัตถุประสงค์ของกิจกรรม

นิสมองว่าเธอจะทำในสิ่งที่เห็นว่าสมควรทำ และคนในกลุ่มต้องการทำร่วมกัน ทำให้กิจกรรมของ LLTD ไม่ได้เฉพาะแค่ประชาธิปไตย หรือเพื่อคนในมหาวิทยาลัย แต่เป็นเพื่อสังคม เธอและกลุ่มจึงสามารถร่วมมือได้กับกลุ่มอื่นๆ ในสิ่งที่เห็นพ้องกัน “ก่อนจะมาทำต้านรัฐประหาร LLTD ก็ทำร่วมกับกลุ่มอื่นนะ อย่างนิทรรศการการเมืองเมื่อหลายปีก่อน LLTD ก็มีเครือข่ายร่วมงานหลายเครือข่ายอยู่แล้วค่ะ นิทรรศการการเมืองก็ทำร่วมกับอมธ.คือแล้วแต่กิจกรรม แล้วแต่อีเว้นท์ แต่ตอนนี้สิ่งที่พวกเราโฟกัสอยู่คือขบวนการประชาธิปไตยใหม่ การทำงานก็คือมีทุกกลุ่มมาร่วมกันอยู่แล้ว LLTD ทำงานได้กับทุกกลุ่มที่มีเป้าหมายร่วมกัน และมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยค่ะ” นิส กล่าว

“เยอะพอสมควร หลักๆ ที่ทำก็มีนักศึกษาในมหา’ลัยขอนแก่นเอง บางกิจกรรมที่เห็นด้วยตรงกันก็ชวนประชุมคุยกัน แล้วก็ทำด้วยกัน แล้วก็นักศึกษาที่อยู่ในภาคอีสาน อย่างมหาวิทยาลัยสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลฯ (ชื่อกลุ่ม) ในขอนแก่นที่ทำด้วยบ่อยๆ ก็มี ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา” วงศกร กล่าว

โครงสร้างโอกาสทางการเมือง

ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์โอกาสในการขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มนักศึกษาว่าเกิดจากความกล้าหาญ และความสามารถในการใช้สื่อสมัยใหม่ผ่านโลกออนไลน์ “กลุ่มนักศึกษาสมัยใหม่ไม่ได้เคลื่อนด้วยจำนวน ดาวดิน LLTD หรือ CCP ก็นับหัวกันได้ แต่ผมคิดว่าความเป็นอิสระของนักศึกษา ความชัดเจนว่าต่อต้าน ประเด็นที่ผมคิดว่าทำให้กลุ่มตรงนี้เคลื่อนไหวได้ หนึ่งคือเขามีความกล้าหาญมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่จะท้าทายต่ออำนาจ ไม่กลัวถูกจับ แม้กระทั่งพวกอาจารย์มีอาชีพแล้วก็กลัวติดคุกติดตาราง ลูกเมียเดือดร้อน นักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมทางสังคม ยังไม่ต้องคิดอะไรมาก ต้นทุนยังไม่มาก สองคือผมคิดว่าเขามีทักษะในการใช้พื้นที่ในการเคลื่อนไหว การใช้สื่อในการสื่อสารกับผู้คน” ประภาส กล่าว

ความอิสระที่ไม่ต้องรับภาระในการหาเงินเลี้ยงครอบครัวทำให้นักศึกษาคล่องตัวมากกว่าในการออกมาเคลื่อนไหว ประกอบกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ มีเงื่อนไขที่จำกัดตัวเอง กระทั่งกลุ่มคนเสื้อแดงที่น่าจะออกมาเรียกร้องกลับเงียบเฉยแม้จะมีทรัพยากรพร้อม ซึ่งอาจารย์วิเคราะห์ว่าเป็นการตัดสินใจของผู้นำ หรือขบวนการชาวนาที่ได้รับกระทบต่อการประกอบอาชีพในปัญหาภัยแล้งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2558 แต่หากลุกขึ้นมาก็ไม่อาจสามารถสร้างกระแสสังคมได้เท่านักศึกษา เพราะขาดทักษะในการใช้เทคโนโลยีสื่อสารกับสังคมใน “เคลื่อนไหวอย่างเดียวคือชุมนุม เดินขบวนก็ถูกจับก่อน ถูกล๊อคแกนนำตั้งแต่ต้นทาง ในขณะที่นักศึกษา ผู้มีอำนาจทำแบบนั้นไม่ได้” ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาทำให้กลุ่มนักศึกษากลายเป็นกลุ่มที่ก้าวเข้ามาข้างหน้าเป็นผู้นำในการต่อสู้

อย่างไรก็ดี การขึ้นเป็นกลุ่มนำการเคลื่อนไหวด้วยสถานะนักศึกษา ถูกต่อต้านจากหลายฝ่ายทั้งรัฐบาล มวลชนและกลุ่มนักศึกษาที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เช่น ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านบางส่วนในตำบลเขาหลวง (ดู) ที่เรียกร้องให้กลุ่มดาวดินหยุดการเคลื่อนไหว และกลุ่มอาชีวะช่วยชาติที่ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2558 (ดู)ขอให้นักศึกษาที่ต้านรัฐประหารหยุดการกระทำดังกล่าว และเป็นต้น รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ดู) นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะดำเนินการตามกฎหมายหากนักศึกษาทำผิด ทั้งหมดนี้อุปสรรคอย่างหนึ่ง ในการยับยั้งโอกาสในการแสดงออกทางเมืองของนักศึกษา แม้ที่ผ่านมาจะไม่เป็นผลนัก แต่ต้องรอดูผลกระทบต่อการตัดสินใจเคลื่อนไหวของกลุ่มหลังจากการปล่อยตัว 14 นักศึกษาต่อไป
ผลสะเทือน

กระแสสังคมให้ความสนใจการเคลื่อนไหวของนักศึกษามากขึ้นหลังมีการจับกุมจากการทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มเคลื่อนไหวในนาม 14 นักศึกษา (11 นักศึกษา และอีก 3 พลเมือง) ถูกจั บกุมในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุมทางการเมือง ตามมาตรา 44 และข้อหายั่วยุปลุกระดมประชาชนตามความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 ทำให้เกิดกระแสในโลกออนไลน์ทั้งการติดแฮชแทค #เราคือเพื่อนกัน #ปล่อยเพื่อนเรา รวมถึงกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้ง 14 คน เช่น อาจารย์ธรรมศาสตร์ที่ออกมาร่วมกับนักศึกษา และรวมตัวจนเป็นเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง(ดู) หรือชาวบ้านในพื้นที่ที่ดาวดินไปศึกษาออกมาให้การสนับสนุนนักศึกษา การออกแถลงการณ์ประชาชนที่อยู่เบื้องหลังลูกๆดาวดิน ฉบับที่ 1 (ดู) เพื่อขอความเป็นธรรมแก่นักศึกษาดาวดิน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี กรกฤช สมจิตรานุกิจ บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาครั้งนี้มีปัญหาด้านกิจกรรมที่ยังไม่หลาก ซึ่งเขามองว่าควรทำหลายอย่างๆ ควบคู่ไปพร้อมกับการแสดงเชิงสัญลักษณ์หรือการเข้าหาสื่อต่างประเทศ เช่น การลงพื้นที่หาชาวบ้าน

“ความหลากหลายของรูปแบบกิจกรรม ทุกครั้งที่มันเกิดขึ้นจะค่อนข้างวน ออกมาชูป้าย แสดงสัญลักษณ์อย่างชูสามนิ้ว กินแซนด์วิช ว่าฉันไม่พอใจรัฐประหารนะ แล้วมันก็หยุดแค่นั้นไง” กรกฤช กล่าว

การประกาศตัวเป็นกลางของนักศึกษาไม่ส่งผลดีต่อหากต้องการไปให้ถึงเป้าหมาย “มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าถ้าจัดแบบชุ่ยๆ มันมีเหลืองกับแดง แล้วการที่คุณไม่ยอม define ตัวเองจะเหลืองจะแดงมันทำให้กลุ่มชาวบ้านก็ดีที่เขา define ตัวเองเป็นแดงชัดเจน ไม่ไว้วางใจที่จะร่วมมือกับคุณ จริงอยู่ทำแบบนี้คุณอาจดึงแนวร่วมเหลืองมาได้บ้าง แต่ถามว่าคนที่เป็นเหลืองอดยู่แล้ว เชียร์รัฐประหารอยู่แล้ว คนพวกนี้พูดให้ตายยังไงเขาก็ไม่มาอยู่กับพวกคุณหรอก คุณต้องชัดเจนว่าคุณเป็นใคร หยุดโลกสวยได้แล้ว ไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองหรอก มัน naïve เกินไป คุณต้องออกมายอมรับได้แล้วว่าพวกคุณมีข้าง พวกคุณมีสี โอเค คุณสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่เถียง แต่ถ้าคุณไม่อิงกลุ่มการเมืองเลย แค่พูดในเชิงหลักการอย่างเดียว มันอุดมคติเกินไป” กรกฤช อธิบาย

“ถ้าคุณจะเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ คุณเคลื่อนไปเลย ไม่ต้องสนใจอะไรทั้งสิ้น ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เพื่อนจะโดนจับไหม มวลชนจะเอาด้วยหรือเปล่า คุณไม่ต้องสนใจ คุณก็เคลื่อนไปเลยแต่ถ้าคุณรู้สึกเศร้าโศกเสียใจว่าทำไมมวลชนไม่เอากับคุณสักที เคลื่อนไหวกี่รอบๆ ประชาชนก็หาย สื่อมาก็เงียบ ถ้าคุณยัง dramatize กับเรื่องเหล่านี้ คุณไม่เลือกข้าง ยืนยันความเป็นกลางทางการเมือง คุณจะเอาเงินทุนจากไหน มันไปด้วยกันไม่ได้” อดีตนักกิจกรรมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ทิ้งท้าย ก่อนเสนอให้กลุ่มนักศึกษาทบทวนระหว่างการยึดตามวิธีการเดิมหรือการมองหาสิ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมาย

แม้ความสำเร็จจากของกลุ่มจะไม่เป็นที่ยอมรับอย่างไร้ข้อกังขา แต่ก็มีความก้าวหน้าร่วมระหว่างกลุ่มนักศึกษาทั้งสองกลุ่ม นั่นคือการรวมตัวกับกลุ่มพลเมืองอื่นๆ ภายใต้ชื่อขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement หรือ NDM) ในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ซึ่งไม่ได้เน้นความเป็นนักศึกษามากเท่าในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา เนื่องจากมีสถานะอื่นๆ เข้าร่วมกลุ่มด้วย เป็นการขยายขนาดและโอกาสในการเคลื่อนไหว จากนักศึกษาสู่ความเป็นพลเมือง หลังประกาศตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการ กลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวในนามของขบวนทั้งสิ้น โดยมีหลักร่วม 5 ประการ ได้แก่ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติวิธี ตามแถลงการณ์แถลงการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ฉบับที่ 1 (ดู)

นิส สมาชิกกลุ่ม LLTD ให้สัมภาษณ์ในช่วงท้ายว่า “จริงๆ เราไม่ได้เคลื่อนไหวในฐานะขบวนการนักศึกษานะคะ เราเปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนักศึกษา ภาคประชาชน แล้วก็กลุ่มต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ต้องแยกระหว่าง LLTD กับ NDM นะคะ ตอนนี้ที่ออกหน้าสื่อ คือการทำงานภายใต้ขบวนการประชาธิปไตยใหม่”

หมายเหตุ : ผู้ให้สัมภาษณ์บางท่านได้รับการสงวนชื่อและนามสกุลจริง

รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งใน โครงการสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนและเสริมสร้างเครือข่ายเยาวชนสื่อข่าว มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน

แหล่งข่าว: 
ประชาไทออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด