ยิ่งร่างยิ่งเลอะ

ใบตองแห้ง
ทายท้าวิชามาร

การยกร่างรัฐธรรมนูญโดยปฏิเสธหลักการประชาธิปไตย ยิ่งร่างก็ยิ่งเข้ารกเข้าพง เพราะผู้ร่างแต่ละชุดแต่ละคน พยายามคิดวิธีพิลึกพิกลเพี้ยนหลักการ มาอวดอ้างว่า “กูเก่ง” ทั้งที่ประชาธิปไตยกำหนดหลักง่ายๆ ให้สะท้อนเจตจำนงประชาชน เท่านั้นเอง

รัฐธรรมนูญ 2540 ริเริ่ม “ของใหม่” ให้เลือก ส.ส.ระบบเขตกับบัญชีรายชื่อ นอกจากส่งเสริมให้เลือกพรรค ยังทำให้เจตจำนงไม่หล่นหาย สมัยก่อนถ้าคุณเป็นคนใต้แต่ไม่เลือกประชาธิปัตย์ ก็นอนอยู่บ้านสบายกว่า แต่หลังปี 40 เป็นต้นมา หนึ่งเสียงของคุณยังมีค่า คำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้

รัฐประหาร 2549 มีคนโจมตีปาร์ตี้ลิสต์คือนายทุนพรรค รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ลด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เหลือ 80 คน แถมรื้อวิธีแบ่งเขต จากเขตละคนกลับไปใช้เขตใหญ่ 2-3 คน อ้างว่าซื้อเสียงยาก ทั้งที่เขตใหญ่ใช้ทุนมากกว่า ปิดโอกาสผู้สมัครหน้าใหม่คนเด่นดังในชุมชน

แต่อ้าว พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง พอคว่ำรัฐบาลได้ก็แก้รัฐธรรมนูญใหม่ เปลี่ยนกลับไปเขตละคน เพิ่มปาร์ตี้ลิสต์ 125 คน ไม่มีหลักการเหตุผล แต่ก็ไม่มีผล พรรคเพื่อไทยชนะถล่มปี 54 จนต้องฉีกรัฐธรรมนูญอีกที

ว่าที่จริงรอบนี้ คณะกรรมาธิการชุดบวรศักดิ์ก็ตั้งต้นได้ดี อุตส่าห์บินไปดูงานเยอรมนี เอาระบบเลือกตั้ง “สัดส่วนผสม” มาใช้ ซึ่งใช่เลยครับ ระบบนี้เป็นธรรมกว่าปี 2540 เอาคะแนนพรรคเป็นตัวตั้งว่าได้ ส.ส.เท่าไหร่ สมมติเพื่อไทยได้ 40% ได้ ส.ส.200 คน มี ส.ส.เขตแล้ว 147 คนก็ได้บัญชีรายชื่อเพิ่ม 53 คน เป็นระบบที่สะท้อนเจตจำนงประชาชนได้ดีขึ้น

เพียงแต่ที่ถกกันเพราะบวรศักดิ์ไม่เอาเยอรมนีมาหมด เช่นไม่กำหนดขั้นต่ำ 5% ทำให้เกิดพรรคเบี้ยหัวแตก ที่สำคัญดันไปต่อเติม Open List (ไม่ใช่ภาษาไทยแต่ Thailand Only)จนพรรคการเมืองต่อต้านว่าจะทำพรรคแตกแยก บวรศักดิ์ก็ถอยหน่อยนึง เขียนบทเฉพาะกาลว่ายังไม่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งแรก

นี่เป็นประเด็นที่ถกกันมาทั้งปี คณะกรรมการยกร่างชุดมีชัยไม่จำเป็นต้องคิดพิลึก เอาระบบเยอรมนีของบวรศักดิ์มาใช้ได้เลย เพียงแค่ไม่เอา Open List คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับ ส่วนจะปรับรายละเอียดอย่างไรก็ว่ากันไป

ที่ไหนได้ คณะกรรมการกลับนำเที่ยวทะเลใหม่ จะใช้บัตรเลือก ส.ส.เขตใบเดียว ใครที่ 1 ก็ได้ ส.ส.ไป แล้วค่อยเอาคะแนนที่ 2,3,4,5 มาใช้คำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ไม่รู้คิดได้ไง ไม่รู้ไปขุดมาจากไหน ไม่รู้ท่านจะอธิบายความเป็นธรรมอย่างไร เพราะยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติคนใต้เลือก ส.ส.ประชาธิปัตย์ 90% เหลือคะแนนให้คิดปาร์ตี้ลิสต์พรรคอื่น 10% แปลว่า 90% ตกน้ำหายไปกับ ส.ส.เขตคนเดียว วิธีคิดแบบนี้สะท้อนเจตจำนงประชาชนอย่างไร

เท่านั้นไม่พอ ท่านยังคิดไปถึงขั้นว่าเขตไหนผู้สมัครแพ้ Vote No นอกจากไม่ได้เป็น ส.ส. ยังห้ามลงสมัครใหม่! นี่มันธุระกงการอะไรต้องไปเจ้ากี้แทนชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านเขาไม่เลือก มันจะลงสมัครกี่ครั้งก็เรื่องของมัน แต่ถ้าคุกเข่าโขกหัว 7 ครั้งจนประชาชนใจอ่อน ก็เป็นอำนาจตัดสินใจของประชาชน คนร่างรัฐธรรมนูญไปใส่เกือกแทนเขาทำไม

ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ 6 เดือนคงไม่ผ่าน ประเด็นทึ่ใช้ของเดิมได้ก็ไปเปลี่ยนให้เลอะ ให้เสียเวลาถกเถียงกันอีก ประเด็นที่ไม่จำเป็น ก็แส่ไปยุ่งกับชาวบ้านอีก มิน่า วิษณุ เครืองาม ถึงเตรียมไว้แล้วว่าถ้าประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร

แหล่งข่าว: 
ข่าวหุ้น

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด