ข้อดี-ข้อเสียเลือกตั้งแบบใหม่

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีแนวคิดใช้ระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” โดยการนำคะแนนของผู้แพ้เลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้งหมดมาคำนวณจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ส่วนผู้ที่ได้เป็นส.ส.แบบแบ่งเขตต้องได้คะแนนมากกว่าผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือโหวตโน และผู้สมัครที่แพ้โหวตโนจะถูกตัดสิทธิ ห้ามสมัครส.ส.ตลอดชีวิต

ขณะที่นักการเมืองคัดค้านกันหนัก ส่วนนักวิชาการมีมุมมองดังนี้

โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ข้อเสนอระบบเลือกตั้งดังกล่าวหากนับกรณีในประเทศไทยอาจทำให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เกิดความเสียเปรียบ แต่ดูแล้วเพื่อไทยจะเสียเปรียบมากกว่า เพราะที่ผ่านมาทั้งการเลือกตั้งปี 2550 หรือ 2554 จะพบว่าเพื่อไทยมีสถิติชนะการเลือกตั้งส.ส.ในระบบแบ่งเขตมากกว่า ส่วนระบบบัญชีรายชื่อจะเห็นผลต่างไม่ค่อยมากเท่าไหร่

จึงมีความเห็นว่าอยากให้ผู้ที่เสนอแนวคิดนี้ ระบบเลือกตั้งลักษณะนี้ระบุว่ามีประเทศใดใช้มาแล้วบ้าง ใช้เป็นที่ยอมรับหรือไม่และผลเป็นอย่างไร

หากจะใช้ตามวิธีนี้จริงควรทดลองก่อนเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ได้ศึกษาก่อนเพื่อที่จะทำให้เห็นภาพว่าถ้าใช้วิธีดังกล่าวจำนวนที่นั่งส.ส.ของแต่ละพรรคจะกระจายไปมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับว่าจะกำหนดสัดส่วนส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเท่าไหร่ ถ้ากำหนดให้มีเพียงนิดเดียวผลอาจไม่เปลี่ยนแปลงมาก

จากนั้นจึงค่อยมาดูว่าหลังจากทดลองแล้วพรรคการเมืองจะยอมรับหรือไม่ และมีความยุติธรรมในการแข่งขันเลือกตั้งหรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นในการจะไปตัดคะแนนของคนได้ที่ 1 ในระบบเขตโดยไม่เอาไปคำนวณรวมกับระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งดูแล้วจะแตกต่างกว่าการเลือกตั้งแบบเยอรมนีมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อทดลองแล้วคงไม่ต้องรอให้ไปถึงขั้นประชามติ เพราะจะใช้งบประมาณจำนวนมาก ถ้าถามทั้งร่างรัฐธรรมนูญน่าจะคุ้มค่ากว่า แต่กับการถามประชาชนว่าเห็นชอบระบบเลือกตั้งแบบใหม่นี้หรือไม่ เพียงทำผลสำรวจไปยังสาธารณะเท่านี้ก็น่าจะได้คำตอบแล้ว

ส่วนข้อเสนอในการตัดสิทธิผู้สมัครส.ส. ที่แพ้คะแนนโหวตโนนั้น หากแค่ไม่ให้ผู้สมัครดังกล่าวไม่ได้รับเลือกตั้งเพราะแพ้คะแนนโหวตโนเช่นนี้ยังพอเข้าใจได้ เพราะถือว่าคะแนนนิยมไม่ผ่าน มีคนไม่ชอบมากกว่าชอบ

แต่การที่จะไปตัดสิทธิตลอดชีวิตซึ่งเหมือนเป็นการลงโทษนั้น ต้องพิจารณาว่าการแพ้เลือกตั้งถือเป็นความผิดหรือไม่ ถ้าจะตัดสิทธิคงโดนกันทั้งขบวนถ้าแพ้คะแนนขึ้นมา

ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

สำหรับระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ให้เอาคะแนนผู้แพ้แบบเขตมาคำนวณเป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้น โดยปกติคงต้องดูวัตถุประสงค์ของการมีส.ส. ซึ่งทั่วไปส.ส.แบบแบ่งเขต นอกจากมีหน้าที่ทำงานด้านนิติบัญญัติ ตรวจสอบฝ่ายบริหารแล้ว ที่สำคัญคือการเป็นตัวแทนประชาชน ในการแก้ปัญหาความเดือดร้อน เพราะการกระจายอำนาจในประเทศไทยยังไม่สมบูรณ์

ส่วนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ วัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคต่างๆ และเป็นพื้นที่สำหรับคนที่ไม่เชี่ยวชาญในการหาเสียง จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของส.สแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อนั้นแตกต่างกัน

ข้อดีของระบบดังกล่าวอาจทำให้เสียงข้างน้อยไม่ถูกทิ้ง แต่เป็นการทำลายหลักเสียงข้างมาก และบิดเบือนผลการเลือกตั้งได้ ซึ่งการให้ความสำคัญกับเสียงข้างน้อยยังมีกลไกที่หลากหลาย เช่น การใช้กลไกรัฐสภา การเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายค้าน เพิ่มอำนาจกรรมาธิการในการตรวจสอบ ซึ่งทั้งหมดเป็นกลไกที่ทำได้

ส่วนระบบดังกล่าวจะทำให้ได้รัฐบาลผสมมากกว่า 10 พรรคได้หรือไม่นั้น ต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง แต่สิ่งที่อยากบอกคือ รัฐธรรมนูญเป็นกล่องความฝันของคนทุกยุคทุกสมัยที่เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหา เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ แต่ปรากฏว่าเข้มแข็งเกินไป รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ตรวจสอบมากเกินไปจนรัฐบาลทำงานไม่ได้ มาถึงปัจจุบันก็ต้องการแก้ปัญหาอีกแบบ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าท้ายที่สุดปัญหาการเมืองไทยไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นตอจริงๆ เช่น กรณีนี้ต้องการแก้ปัญ หาเสียงข้างมากก็จะเกิดรัฐบาลผสมอีก ส่วนผู้สมัครที่แพ้คะแนนโหวตโนจะถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตนั้นไม่เคยเห็นปรากฏมาก่อน

ดังนั้น ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวมีโอกาสกระทบต่อการทำประชามติ เพราะพรรคการเมืองมีส่วนสำคัญ หากประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญกระทบพรรคใหญ่ก็มีโอกาสสูง

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

โจทย์ของ กรธ.ต่อการกำหนดรูปแบบการเลือกตั้ง เริ่มจากความต้องการจะทำให้ทุกคะแนนไม่สูญเปล่า เราอาจมองแบบนั้นก็ได้ เพราะคะแนนของผู้ไม่ได้รับเลือกตั้งจากแต่ละเขตจะกระจายนำไปใช้คิดส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่เหตุผลดังกล่าวจะนำมาเป็นสาระสำคัญไม่ได้ เพราะหลักของการเลือกตั้งอยู่ที่คะแนนการเลือกตั้งจะต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง

ประเด็นนี้จะถูกตั้งคำถามมาก เช่น ประชาชนลงคะแนนให้พรรค ก. มาก ผลที่ออกมาพรรค ก. ควรจะได้ส.ส.เยอะ แต่ถ้าเลือกตั้งแบบนี้ผลที่ออกมาจะไม่ใช่ คะแนนพรรค ก. ที่ชนะแบบแบ่งเขตไปแล้ว จะไม่มีคะแนนแพ้สำหรับมาคิดเพื่อได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ

หากเทียบกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์ที่ชนะเลือกตั้งแบบเขต โซนภาคใต้ด้วยคะแนนทิ้งขาดหลายหมื่น ก็เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ค่อยมีคะแนนมาคิดสำหรับส.ส.บัญชีรายชื่อ โจทย์ข้อนี้จึงเป็นเพียงไม้ประดับ เพราะไม่ให้ความสำคัญกับหลักสากล

สำหรับโจทย์ที่ระบุว่า เพื่อเป็นการช่วยพรรคเล็ก พบว่าไม่จริง เพราะการจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครครบทุกเขต เพื่อจะได้มีคะแนนที่แพ้ปันส่วนมาคิด แต่จากข้อเท็จจริง มีเพียง 2 พรรคใหญ่ อย่างประชาธิปัตย์ และเพื่อไทยเท่านั้นที่ส่งครบทุกเขตได้ ส่วนพรรคขนาดกลางอย่างชาติไทยพัฒนา หรือภูมิใจไทย เองก็ยังส่งไม่ครบ ส่วนพรรคเล็กแน่นอนว่าไม่มีศักย ภาพพอที่จะส่งครบทุกเขตได้ ดังนั้น พรรคเล็กแทบจะไม่มีคะแนนบัญชีรายชื่อ

ขณะที่การเสนอให้ผู้สมัครที่แพ้โหวตโนห้ามลงสมัครอีกถือว่ามีเหตุผล แต่การจะไปตัดสิทธิ 5 ปี หรือตลอดชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิของผู้สมัครส.ส.มากเกินไป เนื่องจากในอนาคตความนิยมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งจะยิ่งเป็นการผลักให้คนเกลียดการเมือง ตัวเลือกในตลาดการเมืองที่ควรจะมีมากเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้คัดสรรผู้มีคุณภาพเข้าสภาก็ยิ่งน้อยลง

การกำหนดแนวทางเลือกตั้งแบบนี้คือ มาตรการลงโทษเสียงข้างมาก ต้องรอดูว่า การลงโทษจะเยอะเกินไป จนทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่

แหล่งข่าว: 
ข่าวสด

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด