กพร.ลุย 35 เหมืองร้างเก็บน้ำแก้แล้ง ผู้รับสัมปทานใหม่วางประกัน10 ล.ฟื้นฟูหลังสัญญา

พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ตั้งหลักประกัน 10 ล้านฟื้นฟูขุมเหมือง เล็งจังหวัด "ตาก" แหล่งน้ำแห่งใหม่หลัง SCG ลำพูนเก็บน้ำได้สำเร็จ

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กพร.ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลในการทำโครงการฟื้นขุมเหมืองร้าง และเหมืองแร่ที่หมดอายุสัมปทานพัฒนาเป็นแหล่งเก็บน้ำอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ได้ชะลอการติดตามผล เนื่องจากเป็นช่วงเกษียณอายุข้าราชการหลายตำแหน่ง รวมถึงนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้เดินหน้าโครงการจนสำเร็จเป็นรูปธรรม

โครงการฟื้นขุมเหมืองดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาโดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งขาดแคลนน้ำในการเกษตรถึงขั้นวิกฤต ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตไปด้วย และเพื่อรองรับฤดูฝนในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ จึงเร่งเดินหน้านโยบายนำขุมเหมืองที่หมดสัมปทานแล้วมาใช้กักเก็บน้ำให้ทันหน้าแล้งปีหน้า โดยกำหนดไว้ว่าขุมเหมืองต่าง ๆ ที่นำมาใช้นั้นจะต้องเป็นเหมืองแร่ที่ไม่มีสารอันตรายปนเปื้อน เช่น เหมืองถ่านหิน เฟลด์สปาร์ ยิปซัม รัตนชาติดีบุก บะซอลต์ เป็นต้น

"สำหรับน้ำที่กักเก็บไว้ในเหมืองก่อนจะนำไปบริโภคจะต้องผ่านการตรวจสอบจาก กพร. และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขก่อน โดยทาง กพร.จะลงพื้นที่ตรวจน้ำในเหมืองทั้งหมดก่อนว่า น้ำทั้งบ่อไม่มีอันตราย ถึงจะจำหน่ายให้ใช้ได้ จากนั้นจะมีหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นระยะเรื่อย ๆ"

และหลังจากที่อดีตรัฐมนตรีลงพื้นที่เหมืองถ่านหินของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ใน อ.ลี้ จ.ลำพูน เมื่อเดือนกรกฎาคม จากนั้นได้พัฒนาเป็นแหล่งเก็บน้ำเรียบร้อยแล้ว สามารถกักเก็บปริมาตรน้ำได้ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร บนเนื้อที่ 77 ไร่ ความลึก 65 เมตร นำน้ำไปใช้ได้ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะส่วนที่เหลือจะเก็บไว้เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ในเบื้องต้น SCG จะเป็นผู้บริหารจัดการแหล่งน้ำดังกล่าว และจะมอบให้ชุมชนเป็นผู้บริหารต่อไป หลังจากที่พัฒนาเป็นสวนสาธารณะเสร็จแล้ว ทั้งนี้ พื้นที่เหมืองแร่ที่ยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งน้ำได้เหลืออีก 35 แห่งจากทั่วประเทศ มีขุมเหมืองที่สามารถพัฒนาได้ 36 แห่ง ขุมเหมืองที่เหลือมีปริมาตรน้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 163,019,100 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุม 6 ภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคเหนือ (เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง) จำนวนประทานบัตร 68 แปลง 6 ขุมเหมือง ปริมาตรน้ำที่ใช้ได้ 126,569,000 ลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี) จำนวนประทานบัตร 47 แปลง 12 ขุมเหมือง ปริมาตรน้ำ 11,039,300 ลูกบาศก์เมตร ภาคกลาง (นครสวรรค์ เพชรบูรณ์) จำนวนประทานบัตร 8 แปลง 3 ขุมเหมือง ปริมาตรน้ำ 1,790,000 ลูกบาศก์เมตรภาคตะวันออก (จันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว) จำนวนประทานบัตร 36 แปลง 4 ขุมเหมือง ปริมาตรน้ำ 809,600 ลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันตก (กาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี) จำนวนประทานบัตร 32 แปลง 4 ขุมเหมืองปริมาตรน้ำ 8,715,200 ลูกบาศก์เมตร ภาคใต้(ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส พังงา ภูเก็ต ยะลา สงขลา) จำนวนประทานบัตร47 แปลง 6 ขุมเหมือง ปริมาตรน้ำ 14,096,000 ลูกบาศก์เมตร รวมจำนวน 35 ขุมเหมือง

นายชาติกล่าวว่า กพร.ยังคงสานต่อโครงการฟื้นขุมเหมืองร้าง พื้นที่ต่อไปที่จะใช้ขุมเหมืองเป็นแหล่งเก็บน้ำ คาดว่าจะเป็นเหมืองเฟลด์สปาร์ อ.เมือง จ.ตาก จำนวน 2 บ่อ ของบริษัทเทพอุทิศธุรกิจ (บจก.เทพประทานการแร่รับช่วงฯ) และออกประกาศให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ประสานมายังหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่ออนุญาตให้นำน้ำในขุมเหมืองเก่ามาใช้ในการทำเกษตรและอุปโภคบริโภค เพื่อแก้ปัญหาภาวะภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นหากมีการร้องขอมาจากชุมชน

"เรายังต้องดูว่าพื้นที่ไหนใช้เป็นประโยชน์ได้บ้าง ซึ่งประทานบัตรทุกใบในการทำเหมืองแร่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อมีการขุดเหมืองหมดแล้วต้องฝังกลบแล้วปลูกต้นไม้ทดแทน และนำไปพัฒนาตามแต่ละท้องที่เห็นว่าเหมาะสม อย่างบ่อดินเก่าของ SCG ที่ จ.สระบุรี ถูกพัฒนาเป็นแหล่งเก็บน้ำ สวนสาธารณะ แหล่งท่องเที่ยวกว่า 10 ปีแล้ว บนพื้นที่ 2,000-3,000 ไร่ ปริมาตรเก็บน้ำได้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยชุมชนเป็นคนบริหารจัดการกันเอง"

ทั้งนี้ ร่าง "พ.ร.บ.แร่ (ฉบับใหม่)" นอกจากกำหนดให้ต้องพัฒนาและฟื้นฟูขุมเหมืองแล้ว จะต้องวางเงินเป็นหลักประกันสำหรับแผนบริหารจัดการฟื้นฟูไว้ที่ 5-10 ล้านบาท ซึ่งเมื่อมีการฟื้นฟูตามกำหนดเงื่อนไขหลังหมดสัมปทานแล้วจะนำเงินส่วนดังกล่าวคืนให้ แต่หากเหมืองใดไม่ทำตามข้อกำหนดในกฎหมายจะถูกริบเงินหลักประกันดังกล่าวและลงโทษตาม พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่

แหล่งข่าว: 
ประชาชาติธุรกิจ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด