นักวิชาการหวั่น รัฐขืนเดินหน้าเหมืองโปแตช อีสานลุกเป็นไฟ

อธิบดี กพร.เผยไทยไม่ใช่ประเทศมีศักยภาพแร่สูง ถูกจัดอันดับ 108 จาก 120 ประเทศทั่วโลก ด้านอดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีแนะสร้างแผนพัฒนาจัดการทรัพยากรแร่เป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ ‘ดร.ปริญญา นุตาลัย’ หวั่นรัฐเดินหน้าเหมืองโปแตช แผ่นดินอีสานลุกเป็นไฟ

วันที่ 30 ตุลาคม 2558 สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา ร่วมกันมองอนาคต การพัฒนาทรัพยากรแร่ของไทย ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอรีน กรุงเทพฯ

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวถึงพื้นที่ศักยภาพแร่ในไทยจากการประเมินทางธรณีวิทยา พบว่า มีราว 60 ล้านไร่ แต่บอกไม่ได้ว่า มีจำนวนมากน้อยเพียงใด ปัจจุบัน ไทยไม่ใช่ประเทศที่มีศักยภาพแร่สูง โดยจากการจัดอันดับอยู่ที่ 108 จาก 120 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับสุดท้ายในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ไทยมีการผลิตแร่ 6 หมื่นล้านบาท/ปี ใช้ในประเทศร้อยละ 80 หรือมากกว่า ส่งออกไม่เกินร้อยละ 20 และนำเข้าเพื่อใช้ในประเทศ 1 ล้านล้านบาท ชี้ให้เห็นว่า สภาพปัจจุบันการใช้ในประเทศส่วนใหญ่ ต้องพึ่งพิงจากแหล่งแร่ต่างประเทศทั้งหมด ฉะนั้น จากข้อมูลดังกล่าว เราจะทำอย่างไรนำทรัพยากรแร่มาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด

อธิบดี กพร. กล่าวถึงการทำเหมืองแร่ว่า ย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และสังคมยอมรับได้ เพราะผู้ได้รับผลกระทบคือชุมชนโดยรอบ เราจึงควรหาแนวทางบริหารจัดการให้ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเหมาะสม ซึ่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ พ.ศ. 2510 กำหนดบทลงโทษต่ำ

กพร.จึงขอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ และกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เปิดเผยเนื้อหาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง หากไม่เห็นด้วยหรือมีข้อท้วงติงสามารถยื่นขอแก้ไขได้

“ปัญหาเหมืองในอดีต ผู้ประกอบการมักทิ้งสภาพรกร้างไว้ให้ ซึ่งกฎหมายปัจจุบันให้รัฐเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ และไปฟ้องร้องค่าเสียหาย แต่คงทำไม่ได้” นายชาติ กล่าว และว่า ร่าง พ.ร.บ. จึงกำหนดให้ตั้งกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ โดยมีแบงค์การันตี เมื่อมีการฟื้นฟูพื้นที่ตามแผนครบถ้วน จะคืนเงินให้ หากไม่ทำก็จะใช้เงินจำนวนนั้นฟื้นฟูแทน

อธิบดี กพร. กล่าวด้วยว่า ภายใต้กรอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ภาครัฐต้องช่วยกันคิดและทำ เพราะเป็นกรอบหลักในการบริหารจัดการเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนต่อรัฐ ชุมชน ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า กรณีทำเหมืองในพื้นที่ใด ต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษต่อรัฐและชุมชนด้วย

ด้านนายสมศักดิ์ โพธิสัตย์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะนักวิชาการอิสระ ระบุว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเขียนแผนพัฒนาบริหารจัดการทรัพยากรแร่เป็นเรื่องเป็นราว แม้แต่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งการทำเหมืองแร่หรือนำแร่มาใช้จะส่งผลกระทบ แต่ทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ดังนั้น ควรผลักดันให้แผนพัฒนาฯ ดังกล่าว กลายเป็นวาระแห่งชาติ

สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ต้องเปลี่ยนศูนย์กลางทางความคิด อย่าใช้อำนาจ และกฎระเบียบ แต่ต้องคิดเชิงพื้นที่ว่า พื้นที่ใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในการทำเหมือง ส่งผลกระทบด้านใดบ้าง พื้นที่ศักยภาพแร่ใดควรเก็บไว้ให้ลูกหลาน ต้องกำหนดให้ชัดเจนมากกว่าการใช้ดุลยพินิจ หมายถึง ต้องมองภาพใหญ่ของประเทศก่อน

นอกจากนี้ต้องให้ประชาชนมีสิทธิพิจารณา ไม่เฉพาะภาครัฐเท่านั้น ซึ่งการแบ่งแยกอำนาจนี้ แสดงว่า นอกจากพื้นที่แล้ว ประชาชน ก็สำคัญ ดังนั้น ต้องคิดถึงสังคมไทยก่อน จะบริหารจัดการอย่างไร ควรคิดให้ลึกไปถึงการปูพื้นความรู้ความเข้าใจทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะแร่กับประชาชน ทั้งนี้ ยังเสนอให้ผลักดัน พ.ร.บ.การบริหารและจัดการทรัพยากรธรณีด้วย

ขณะที่ ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย อดีตนายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ในฐานะนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ชัดเจน โดยให้ทรัพยากรแร่เป็นของคนไทย หากยังปล่อยให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำเหมืองแร่ต่อไป จะกระทบทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ พร้อมกันนี้ ไม่เห็นด้วยให้จีนเข้ามาสำรวจแหล่งแร่โปแตช เพราะเชื่อจะไม่ได้ทำ หากทำได้ อีสานจะลุกเป็นไฟ

“ต้องทำให้ประชาชนอาศัยบนพื้นที่แหล่งแร่ได้ประโยชน์สูงสุด ในฐานะเป็นเจ้าของแร่ เพราะต้องเปลี่ยนอาชีพ จะทำนาต่อไปไม่ได้แล้ว ถ้าไม่เชื่อผม ให้ไปดู อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ มีอุโมงค์เจาะไว้ พื้นที่ด้านนอกทำนาไม่ได้เลย จึงต้องมองให้ทะลุตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มิฉะนั้นจะมีคนชุมมือเปิบ” อดีตนายกสมาคมธรณีฯ กล่าว และว่า ประชาชนต้องเห็นด้วย และได้ประโยชน์ จะได้รับผลกระทบไม่ได้ เพราะต้องเปลี่ยนระบบนาข้าวเป็นนาเกลือ หรือแหล่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ปุ๋ย กระจก โซดาไฟ ทั้งนี้ หากยังส่งผลกระทบต่อนาข้าว คนอีสานไม่มีทางยอมให้เกิดเหมืองแร่โปแตช ฉะนั้นต้องรีบคิดและหาทางให้เกิดประโยชน์ให้ได้

แหล่งข่าว: 
สถาบันอิศรา

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด