สิริพรรณ นกสวน
กลไกของระบบเลือกตั้งใหม่ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอ คือประชาชนลงคะแนนเลือก ส.ส. เขต 1 เสียง ผู้ชนะคือผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในเขตนั้น ส่วนคะแนนของผู้ได้อันดับ 2 และถัดไป จะถูกนำไปรวมกับคะแนนในเขตอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำไปคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
ตัวอย่างเช่น พรรค A ได้คะแนนรวมกันทั้งประเทศ 10 ล้านเสียง ชนะเลือกตั้งใน 115 เขต คะแนน ส.ส. ของพรรค A ใน 115 เขตที่ชนะอันดับ 1 จำนวน 6 ล้าน จะถูกตัดทิ้ง เหลือประมาณ 4 ล้าน ที่จะนำไปคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อในส่วนของพรรค A
หากวิเคราะห์เป้าหมายของระบบเลือกตั้งใหม่ตามที่คณะกรรมการยกร่างระบุ จะพบว่า
1.เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน: จริง ระบบเลือกตั้งนี้ไม่ซับซ้อน เพราะประชาชนกาบัตรเลือกตั้งใบเดียวให้ ส.ส. เขต แต่การเลือกตั้งในระบบคู่ขนานระหว่าง ส.ส เขต กับ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ไทยใช้มาตั้งแต่ปี 2544 ประชาชนคุ้นเคยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำให้ระบบมันง่ายเกินไป จนไม่ตอบโจทย์สำคัญและจำเป็นยิ่ง คือ การสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้มากที่สุด
2. ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย คะแนนของผู้แพ้ไม่ตกน้ำ: นับว่าเป็นจุดแข็งที่สุดของระบบเลือกตั้งนี้ แต่หลักการทุกเสียงมีความหมาย มิใช่หลักการพื้นฐานที่สากลให้ความสำคัญที่สุด ย้ำว่าหลักการที่สำคัญที่สุดของระบบเลือกตั้งคือ สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้มากที่สุด จึงไม่ควรเอาประเด็นที่มีความสำคัญอันดับรองมาบดบังหลักการที่ใหญ่กว่า
3.สอดคล้องกับสังคมไทย ไม่ขัดกับหลักสากล: ระบบเลืกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับสังคมไทยแต่ประการใด ขณะที่ระบบเลือกตั้งใหม่นี้ ไม่ได้ใช้กันเป็นสากล อย่างที่คณะกรรมการยกร่างก็ยอมรับว่าคิดค้นขึ้นมาเอง
เหตุผลหลักที่ประเทศอื่นไม่ใช้ เพราะ
1.เป็นระบบเลือกตั้งที่ “ลงโทษพรรคที่ชนะเลือกตั้ง” เพราะหากคนชนะ พรรคจะไม่ได้คะแนน หากจะให้พรรคได้คะแนน ผู้สมัครของพรรคจะต้องไม่ได้อันดับ 1 ฉะนั้น เจตนารมณ์ของประชาชนที่จะเลือกพรรค และตัวบุคคลถูกบิดเบือนให้สวนทางกันเอง
2. ความทับซ้อนย้อนแย้งระหว่าง ส.ส เขต กับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น "ตัวแทน" ของประชาชนในรูปแบบและความสัมพันธ์ต่างกัน 14 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยได้พัฒนายุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของตัวเอง อำนาจต่อรองที่ประชาชนใช้กับส.ส. เขต และกับพรรคการเมืองนั้นต่างกัน ดังนั้น การเลือกบุคคล กับเลือกพรรค จึงไม่ควรเอามาปนกัน
3. ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะเน้นตัวบุคคลมากกว่าพรรค แรงจูงใจที่พรรคจะนำเสนอนโยบายจะลดลง หันไปเน้นตัวบุคคลมากกว่า
4. แนวโน้มที่จะซื้อเสียงมีมากขึ้น เพราะแข่งขันที่ตัวบุคคล เมื่อเปรียบเทียบกับระบบบัญชีรายชื่อที่การซื้อเสียงโดยตรงทำได้ยาก เพราะเขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่ พรรคจึงต้องให้ความสำคัญกับนโยบาย
5. ไม่ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างพรรคการเมือง กล่าวคือ พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่สามารถหาผู้สมัครในระบบเขตได้ จะไม่สามารถแข่งขันกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เลย เพื่อแก้ปัญหานี้ สากลประเทศจึงใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำเป็นวิธีแก้ปัญหา
6. มีแนวโน้มเกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะประการหลังขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ
จากการคำนวณคร่าว ๆ โดยใช้ผลการเลือกตั้งปี 2554 เป็นฐานคิด ระบบเลือกตั้งใหม่จะเปลี่ยนชัยชนะของพรรคการเมืองตามภาพประกอบ
จะเห็นว่า สองพรรคหลักอย่างเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ต่างเสียเปรียบ เพราะเป็นสองพรรคที่ชนะเป็นอันดับ 1 สูงสุด พรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ประโยชน์หากใช้ระบบ MMP ที่เสนอโดย กมธ. ร่างรัฐธรรมนูญชุดที่แล้ว จะได้คะแนนลดลงในระบบนี้
ส่วนพรรคที่ได้ประโยชน์คือพรรคขนาดกลาง โดยเฉพาะ ภูมิใจไทย ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน และชาติไทยพัฒนา ขณะที่พรรคขนาดเล็ก และพรรคที่ไม่สามารถแข่งขันในระบบเขตได้อย่างพรรครักประเทศไทยกลับเสียเปรียบ
จึงนับว่าเป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน และไม่เอื้อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน จริง ๆ แล้วการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง อาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา การยอมรับผลเลือกตั้ง และหาวิธีแก้ไขข้อบกพร่องในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด