เหมืองโปแตชบำเหน็จณรงค์พ่วงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนเกินของข้อตกลงอาเซียน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

ปี 2508 โครงการสำรวจแร่ลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งรัฐบาลไทยโดยความร่วมมือของธนาคารพัฒนาเอเชียได้เริ่มทำการสำรวจแร่เกลือหินในภาคอีสาน จากผลการสำรวจพบว่าภาคอีสานนอกจากจะมีเกลือหินเป็นปริมาณมากแล้ว น่าจะมีโปแตชที่เป็นแร่สำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมปุ๋ยด้วย การสำรวจครั้งนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 – 2509) ที่รัฐบาลไทยได้เริ่มต้นวางแผนพัฒนาภาคอุตสาหกรรมขึ้นมา ต่อมาจึงได้ทำการเจาะสำรวจเพื่อหาแร่โปแตชและเกลือหินโดยเฉพาะขึ้นอีก ทั้งนี้ เพื่อต้องการประเมินศักยภาพของแหล่งแร่ทั้งสองทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต้องการนำแร่ทั้งสองมาใช้ในอุตสาหกรรมเคมีที่เกี่ยวข้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติต่อไป ซึ่งในขณะนั้นที่วางแผนไว้คือการก่อสร้างโรงงานโซดาแอช[[1]] และได้มีการพิจารณาเจาะสำรวจขั้นละเอียดที่บริเวณอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการทำเหมืองเกลือหิน เพื่อนำเกลือมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตโซดาแอชตามโครงการเกลือหินและโซดาแอชที่รัฐบาลไทยได้วางแผนเอาไว้

รัฐบาลไทยจึงได้เสนอโครงการเกลือหินและโซดาแอชให้เป็นโครงการระดับชาติของประเทศไทยภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือในการแบ่งผลิตผลทางอุตสาหกรรมของสมาคมอาเซียนในปี 2519 และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนมีมติเห็นชอบให้โครงการอุตสาหกรรมผลิตเกลือหินและโซดาแอชของไทยเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนโครงการที่ 3 ต่อจากโครงการผลิตปุ๋ยยูเรียของอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในปี 2521

หลังจากที่รัฐบาลได้วางนโยบายการพัฒนาแหล่งเกลือหินเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบการผลิตโซดาแอชตามโครงการผลิตเกลือหินและโซดาแอช[[2]] และเป็นโครงการอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รวมอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 – 2524) แต่ผลสุดท้ายก็มีอันต้องล้มเลิกไป เหตุก็เพราะว่าเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 8,000 ล้านบาท รัฐบาลไทยไม่สามารถเพิ่มการถือหุ้นเป็นร้อยละ 49 จากเดิมร้อยละ 30 และไม่สามารถให้ค้ำประกันเงินกู้จากต่างประเทศที่มาใช้ในโครงการเพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจในการลงทุนแก่ผู้ลงทุนเอกชนของไทย[[3]] ตามข้อเรียกร้องของผู้ลงทุนเอกชนของไทยได้

นอกจากเรื่องเงินลงทุนแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการผลิตเกลือหินและโซดาแอชต้องล้มเลิกไป ก็คือผู้ลงทุนเอกชนของไทยที่เกี่ยวข้องกับโครงการผลิตเกลือหินและโซดาแอชมาตั้งแต่แรกที่ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย (ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นฝ่ายเอกชนและรัฐบาลไทย) เพื่อมารองรับโครงการนี้ กลับผันแปรร่วมทุนกันทำเหมืองเกลือพิมาย[[4]] ที่่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา แทน โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยทำเหมืองละลายเกลือและใช้เครื่องระเหย (solution mining) เพิ่มกำลังการผลิตเกลือหินเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตโซดาไฟ[[5]] คลอรีน กรดเกลือ และอื่น ๆ ด้วยเงินลงทุนหลายร้อยล้านบาท จนเป็นผลให้รัฐบาลไทยต้องยกเลิกโครงการเกลือหินและโซดาแอชออกจากโครงการอุตสาหกรรมของอาเซียนกลางคัน

ต่อจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้เสนอโครงการเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ทดแทนโครงการผลิตเกลือหินและโซดาแอช[[6]] และก็ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาเซียนเมื่อเดือนธันวาคม 2532 นับแต่นั้นมานโยบายเกี่ยวกับเกลือและโปแตชก็เปลี่ยนมาเป็นโครงการเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ แทน หลังจากที่รัฐบาลไทยยุติโครงการผลิตเกลือหินและโซดาแอชเพื่อหลีกทางให้กับผู้ลงทุนเอกชนเข้ามาทำธุรกิจพัฒนาเกลือหินที่่เหมืองเกลือพิมายรองรับอุตสาหกรรมเคมีโดยเอกชนฝ่ายเดียวแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นวิบากกรรมของโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์ล้วน ๆ

นับตั้งแต่ปี 2521 ที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนมีมติเห็นชอบให้โครงการอุตสาหกรรมผลิตเกลือหินและโซดาแอชของไทยเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน และนับตั้งแต่ปี 2532 ที่่รัฐมนตรีอาเซียนเห็นชอบโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์ทดแทน ตลอด 37 ปี และ 26 ปี ที่ผ่านมาตามลำดับ ตราบจนทุกวันนี้ แม้ว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์หรือโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนจะได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ในพื้นที่ 9,707 ไร่ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 แล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถหาเงินระดมทุนเพื่อขุดแร่โปแตชขึ้นมาจากใต้ผืนดินได้ ยังจะต้องหาเงินลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 1,562 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงอุโมงค์แนวเอียงที่มีอยู่แล้วเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเหมืองแร่ใต้ดิน การก่อสร้างทางเข้าสู่ชั้นแร่ที่เป็นอุโมงค์แนวดิ่งสองอุโมงค์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเหมืองแร่ใต้ดิน และการก่อสร้างโรงแต่งแร่ สาธารณูปโภคและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ บนผิวดิน เป็นต้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จะเริ่มผลิตปุ๋ยโปแตชได้ในปี 2561 กำลังการผลิต 5.6 แสนตัน และเพิ่่มเป็น 8.8 แสนตัน ในปี 2562 และ 1.1 ล้านตัน เต็มกำลังการผลิตในปี 2563

เหมืองโปแตชพ่วงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนเกินของข้อตกลงอาเซียน

คำถามสำคัญก็คือว่า ทำไมบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ไม่พยายามที่จะมุ่งเน้นเร่งรัดผลักดันให้การทำเหมืองโปแตชประสบผลสำเร็จโดยเร็ววัน เพราะล่าช้ามากว่า 30 ปีแล้ว กลับผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสอดแทรกเข้ามาเพื่ออะไร ?

เมื่อดูบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น[[7]] อาจจะเป็นคำตอบได้ส่วนหนึ่งว่าสาเหตุที่ทิศทางของบริษัทฯเปลี่ยนแปลงไป ดูหมิ่นเหม่เบี่ยงเบนไปจากข้อตกลงของอาเซียน ก็เพราะมีผู้ถือหุ้นที่ผสมผสานระหว่างหน่วยงานตัวแทนรัฐบาลไทย บริษัทเอกชนของไทย ร่วมกับรัฐบาลอาเซียน และบริษัทเอกชนในและนอกประเทศอาเซียนที่นอกเหนือจากไทย จึงทำให้ความต้องการของแต่ละฝ่ายแตกต่างหลากหลาย ทำให้ข้อตกลงของอาเซียนบานปลายออกไปจากสถานการณ์การลงทุนใหม่ ๆ ที่มุ่งตอบสนองประโยชน์ของบริษัทเอกชนเป็นหลัก จากประสบการณ์ของไทยเองเมื่อครั้งที่ผู้ลงทุนเอกชนของไทยล้มโครงการผลิตเกลือหินและโซดาแอช แล้วหันไปร่วมทุนกันทำเหมืองเกลือพิมาย จนเป็นผลให้รัฐบาลไทยต้องยกเลิกโครงการเกลือหินและโซดาแอชออกจากโครงการอุตสาหกรรมของอาเซียนกลางคัน แล้วเสนอโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์ขึ้นมาแทนนั้่น ย่อมเห็นได้ว่าอิทธิพลของนักลงทุนเอกชนสามารถทำให้ข้อตกลงของอาเซียนลื่นไหลเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายเดิมได้ นั่นก็เพราะว่ามันแทบแยกไม่ออกระหว่างข้อตกลงระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับเอกชน หรือระหว่างเอกชนกับเอกชน ใครคือรัฐ ใครคือเอกชน มันผสมปนเปกันไปหมดในเรื่องที่เกี่ยวกับอิทธิพลเหนือรัฐและประชาชน

ความเกี่ยวพันที่ผสมปนเปดังกล่าว มันทำให้มีข้อสงสัยตามมาอีกว่า มีผู้ถือหุ้นไทยหรือต่างชาติรายใดที่เป็นหรือสัมพันธ์กับพ่อค้าถ่านหิน หรือกำลังมีเอกชนไทยหรือต่างชาติรายใดที่เป็นหรือสัมพันธ์กับพ่อค้าถ่านหินเตรียมเข้ามาถือหุ้นในบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ในอนาคตอันใกล้ หรือเพราะนโยบายของรัฐบาลไทยเองที่ผู้นำรัฐบาลและลิ่วล้อออกมาพูดถึงเรื่องถ่านหินบ่อยครั้งมาก จึงพยายามผลักดันนำถ่านหินเข้ามาใช้ประโยชน์ตามช่่องทางหรือพื้นท่ี่ต่าง ๆ เพื่อไ่ม่ให้สถานการณ์ถ่านหินตีบตันอยู่แค่การถกเถียงเฉพาะในพื้นที่ขัดแย้งที่ส่อความรุนแรง เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นต้น ต้องนำอุตสาหกรรมถ่านหินตีฝ่าทะลุทะลวงข้อถกเถียงในพื้นที่ขัดแย้งเหล่านั้นให้ได้ เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมถ่านหินดับวูบลง ซึ่งโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์ก็เป็นช่องทางหรือพื้นที่ท่ี่เหมาะสมแห่งหนึ่ง เพราะโครงการฯดังกล่าวถือได้ว่าเป็นโครงการตามข้อตกลงระหว่างรัฐของประเทศอาเซียน 6 ประเทศ ที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่สามารถใช้อำนาจรัฐควบคุมสั่งการได้อย่างเต็มที่ จึงสบโอกาสที่พยายามหาช่องทางและพื้นที่ใหม่ ๆ ผลักดันการใช้ถ่านหินขึ้นมาให้ได้

ในส่วนของความเคลื่อนไหวในพื้นที่ พนักงานบริษัทฯและข้าราชการระดับอำเภอและจังหวัดได้ออกเดินสายพบปะประชาชนเพื่อหาแรงสนับสนุนและทำความเข้าใจต่อเรื่องดังกล่าว เพราะเริ่มมีกระแสต่อต้าน โดยอ้างข้อมูลอันเป็นเท็จว่า “ประเทศไทยขาดแคลนกระแสไฟฟ้า หากต้องการทำเหมืองแร่โปแตชก็ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมาใช้เอง” และ “ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีความมั่นคงทางพลังงาน เพราะรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ซื้อกระแสไฟฟ้าจากประเทศลาว และซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่ามาใช้ เป็นต้น บริษัทฯจึงจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาใช้เองเพื่อลดการพึ่งพาการจัดหาพลังงานของประเทศ และมีส่วนช่วยเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ”

ทั้งที่ความเป็นจริงประเทศไทยมีกำลังสำรองไฟฟ้าเหลือใช้ถึงร้อยละ 20 - 25 ซึ่งเกินกว่าค่าสำรองปกติที่เป็นสากลที่ร้อยละ 15

รวมถึง การนำถ่านหินมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ จากประสบการณ์และบทเรียนที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพที่ประเทศไทยได้รับจากการทำเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จึงเป็นภาพติดตาติดใจไปตราบนานเท่านานที่ไม่สามารถลบล้างออกได้ในระยะเวลาอันสั้น

ดังนั้นแล้ว หากต้องการทำเหมืองแร่โปแตชพ่วงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่นำเข้าถ่านหินมาจากอินโดนีเซีย รัฐบาลไทย ผู้ถือหุ้นในบริษัทฯ และรัฐบาลของประเทศอาเซียน 6 ประเทศ ที่ร่วมกันจัดทำข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) โดยเห็นชอบโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์ให้เป็นหนึ่งในโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน จะต้องตอบคำถามอย่างน้อย 3 ข้อ แก่ประชาชนในพื้นที่ให้กระจ่างชัด ดังนี้ 1. มีเหตุจำเป็นอันใดที่บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมา

2. โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน หรือข้อตกลงอื่น ๆ ของอาเซียนหรือไม่ อย่างไร และประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๖ ประเทศรับรู้หรือไม่ อย่างไร

3. ตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน หรือข้อตกลงอื่น ๆ ของอาเซียน มีข้อตกลงว่าประเทศไทยต้องรับซื้อหรือนำเข้าถ่านหิน หรือผลผลิตอื่นจากอุตสาหกรรมอาเซียนของประเทศในกลุ่มสมาชิกหรือไม่ อย่างไร

เนื่องจากว่าการเปลี่ยนแปลงหรือเพ่ิมเติมใด ๆ ในระดับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ประเทศไทยได้ผูกพันกับกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย ดังนั้น การนับรวมโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่ได้มีการกำหนดชัดเจนในข้อตกลงพื้นฐานฯ ซึ่งหากมีนโยบายให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาเป็นอีกหนึ่งโครงการ หรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์ก็ตาม ประเทศไทยจำต้องพิจารณายกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับประเทศภาคีก่อนที่จะดำเนินการตามกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญซึ่งต้องได้รับอนุมัติอย่างน้อยในเชิงหลักการในการดำเนินการจากรัฐบาลอาเซียนก่อน ซึ่งได้รับอนุมัติแล้วหรือไม่ ประการใด

ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ที่ร่วมกันจัดทำข้อตกลงพื้นฐานฯ ได้ทราบเรื่องนี้หรือประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วหรือไม่ ประการใด และหากประชุมปรึกษาหารือกันแล้วมีผลเป็นประการใด

เพราะลำพังเพียงแค่การผลักดันให้เกิดการทำเหมืองแร่โปแตช ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ก็ยังลุ่่ม ๆ ดอน ๆ ไม่ประสบผลสำเร็จ ผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว โครงการฯดังกล่าวก็ยังไปไม่ถึงไหน ทั้ง ๆ ที่ตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา การผลักดันโครงการฯดังกล่าวแทบไม่มีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่เลย แต่ปัจจุบัน ประชาชนที่เคยสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์กลับหันมาร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างแข็งขัน

[1] โซดาแอช (soda ash) หรือขี้เถ้าโซดา หรือ Washing Soda มีสูตรทางเคมี คือ Na2CO3 (โซเดียมคาร์บอเนต) เป็นสารประกอบของธาตุโซเดียมชนิดหนึ่ง เป็นสารเคมีที่ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบในการผลิต ใช้ในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตแก้ว กระดาษ สบู่ ผงซักฟอก และใช้ในการทำสารเคมีอื่น ๆ ด้วย

[2] โครงการผลิตเกลือหินและโซดาแอชเป็นโครงการร่วมทุนระดับชาติของสมาคมประชาชาติเอเซียอาคเนย์ (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN – ก่อตั้งเมื่อปี 2510) เนื่องจากการประชุมสุดยอดของประเทศสมาชิกอาเซียนที่กรุงบาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อกุมภาพันธ์ 2519 ได้มีมติเห็นพ้องกันว่าอาเซียนควรมีโครงการอุตสาหกรรมหนักเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์สนองความต้องการของตลาดภายในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน และจากผลการประชุมเมื่อเดือนมีนาคม 2519 ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้มีการกำหนดแบ่งโครงการอุตสาหกรรมให้แต่ละประเทศรับผิดชอบ คือ ไทยผลิตเกลือหินและโซดาแอช อินโดนีเซียและมาเลเซียผลิตปุ๋ยยูเรีย ฟิลิปปินส์ผลิตปุ๋ยฟอสเฟต และสิงคโปร์ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล โดยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนเป็นโครงการที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและการขายผลผลิตภายในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ตามหลักการที่ได้วางไว้ในปฏิญญาสมานฉันท์ (ASEAN Declaration of Concord)

ที่มา : การวิเคราะห์โครงการเกลือหินและโซดาแอชในแนวเศรษฐศาสตร์. โดย จินดา จิรวุฒินันท์, วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรการศึกษาปริญญาเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. 2528.

[3] ผู้ลงทุนเอกชนของไทย ได้แก่ บริษัท กระจกไทยอาซาฮี จำกัด บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมีคัล จำกัด บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องแก้วไทย จำกัด บริษัท บางกอกกลาสส์ จำกัด บริษัท บวรกิจการลงทุน จำกัด บริษัท เอเชียกลาสส์ จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด เคมีคัลไทย จำกัด เป็นต้น

ที่มา : การวิเคราะห์โครงการเกลือหินและโซดาแอชในแนวเศรษฐศาสตร์. โดย จินดา จิรวุฒินันท์, วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรการศึกษาปริญญาเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. 2528.

[4] ใน ปี 2515 บริษัท ไทยอาซาฮี เคมีภัณฑ์ จำกัด (THASCO) ผู้ผลิตสารเคมี chloralkali รายหลักที่ใช้ในธุรกิจการผลิตโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟและคลอรีน (คำที่ขีดเส้นใต้เพิ่มเติมโดยผู้เขียน) ซึ่งมีเกลือเป็นองค์ประกอบวัตถุดิบสำคัญ ได้ก่อตั้งหน่วยผลิตเกลือจากหินเกลือที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาขึ้นเป็นของตนเอง ด้วยกำลังการผลิตในระดับเล็กขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีที่มุ่งเน้นการผลิตเป็นสำคัญโดยไม่ได้รับประกันคุณภาพ หรือปริมาณ กระบวนการผลิตดังกล่าวจึงก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสภาพแวดล้อม

หลังจากหลายปีที่มีการผลิตเกลือคุณภาพไม่ได้มาตรฐานออกมานั้น THASCO ได้ตัดสินใจลงทุนเทคโนโลยีสมัยใหม่จากยุโรป เพื่อเป็นทางออกจากการที่บริษัทมีความต้องการในการใช้เกลือเป็นวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณภาพเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ THASCO ได้เล็งเห็นในการสร้างโรงงานผลิตเกลือที่ทันสมัยนี้

ในปี 2532 จากสิทธิพิเศษบางส่วนที่ได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โรงงานเกลือแห่งแรกของบริษัทจึงได้ก่อตั้งขึ้นที่อำเภอพิมาย ด้วยกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี และได้เพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ตันใน 2 ปีถัดมา ปัจจุบันกำลังผลิตประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี (คำที่ขีดเส้นใต้เพิ่มเติมโดยผู้เขียน)

ในปี 2537 โรงงานผลิตเกลือของ THASCO ได้กลายเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัท ไทยอาซาฮี เคมีภัณฑ์ จำกัด บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อุตสาหกรรมเกลือบริสุทธิ์ จำกัด และได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เกลือพิมาย จำกัด (PSC)

คัดลอกจากเว็บไซต์บริษัท เกลือพิมายจำกัด เข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้ท่ี่ http://www.psc.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2&Item... คัดลอกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558

[5] โซดาไฟ (caustic soda) มีสูตรทางเคมี คือ NaOH (โซเดียมไฮดรอกไซด์) เป็นสารประกอบของธาตุโซเดียมอีกชนิดหนึ่ง ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบในการผลิต มีความสำคัญมากพอ ๆ กับโซดาแอช ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมแก้วได้เหมือนกัน และอื่น ๆ อีก เช่น เส้นใยไนล่อน ใยสังเคราะห์ พลาสติก สบู่ ผงซักฟอก และอุตสากรรมกลั่นน้ำมัน

[6] แหล่งเกลือหินสำหรับที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในโครงการผลิตเกลือหินและโซดาแอชก็คือแหล่งเกลือหินอำเภอบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งเกลือหินแหล่งเดียวกันกับโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์นั่นเอง

[7] จากเอกสาร แบบ บมจ. 006 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัด ของบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 มีผู้ถือหุ้นรายที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

(1) ผู้ถือหุ้นตัวแทนรัฐบาลไทย ได้แก่ กระทรวงการคลัง

(2) ผู้ถือหุ้นบริษัทเอกชนของไทย ได้แก่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัท เทพารักษ์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทไทย-เยอรมัน ไมนิ่ง จำกัด

(3) ผู้ถือหุ้นรัฐบาลของอาเซียน ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม

(4) ผู้ถือหุ้นบริษัทเอกชนของประเทศอาเซียน ได้แก่ พี ที พีโทรคีเมีย กรีซิค (เพอซีโร) (อินโดนิเซีย) เทมาเสค โฮลดิ้งส์ (ไพรเวท) ลิมิเตท (สิงคโปร์)

(5) ผู้ถือหุ้นบริษัทเอกชนนอกประเทศอาเซียน ได้แก่ บริษัท อาซาฮีกลาส จำกัด (ญี่ปุ่น) บริษัท กาเลนก้า จำกัด (บริติช เวอร์จิน) บริษัทอัลกรอรี่ ไฟแนนซ์ ลิมิเต็ด จำกัด (บริติช เวอร์จิน)

แหล่งข่าว: 
ประชาธรรม

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด