เกษียร เตชะพีระ : "ข้อคิดบางเรื่องเกี่ยวกับ กปปส."

มติชนสุดสัปดาห์ การเมืองวัฒนธรรม
เกษียร เตชะพีระ "ข้อคิดบางเรื่องเกี่ยวกับ กปปส."

เช่นเดียวกับการชุมนุมประท้วงของ นปช. เมื่อปี พ.ศ.2553 การเคลื่อนไหวชุมนุมมาราธอนของ กปปส. ที่ยืดเยื้อกว่า 6 เดือนจากปลายปี พ.ศ.2556-กลางปี พ.ศ.2557 ก็ได้รับความสนใจติดตามเก็บข่าวสารข้อมูล เพื่อวิเคราะห์วิจัยโดยนักวิชาการหลายคนหลายทีมด้วยกัน

เผอิญผมได้รับชวนให้ไปร่วมอ่านและคอมเมนต์งานวิจัยเกี่ยวกับ กปปส. ของเพื่อนนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง

มีข้อค้นพบและข้อคิดเห็นสืบต่อน่าสนใจบางเรื่องที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟังไว้

ลักษณะเนื้อแท้ของขบวนการ กปปส. เป็นอย่างไร?

-พูดอย่างเป็นกลางที่สุด กปปส. เป็น "ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย" ขบวนการหนึ่ง

ทว่า คำนิยามดังกล่าวนี้ทั้งพูดน้อยไปและพูดเกินไปกว่าความเป็นจริงในขณะเดียวกัน

มันพูดน้อยไปกว่าความเป็นจริง เพราะ กปปส. ไม่ใช่เป็นแค่ "ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย" ปกติธรรมดา

หากมีลักษณะเป็นขบวนการต่อต้านหรือก่อการกำเริบ (resistant or insurgent movement) ที่มุ่งพลิกโค่น ระเบียบการเมืองการปกครองดังที่เป็นอยู่ ผ่านการประท้วงกดดันของ "มวลมหาประชาชน" ให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ โดยวิถีทางที่มิได้เป็นไปตามกรอบกติกาและกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญขณะนั้น

ดังสรุปเป็นคำขวัญหลัก ในการต่อสู้ว่า "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง"

แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อสาธารณชนโดยการที่ผู้นำ กปปส. ขยับย้ายเป้าหมายการเคลื่อนไหวจากล้มร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอยไปเป็นการโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ประกาศตัวเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ออกคำสั่งให้นายกฯ-รัฐมนตรีและคณะรัฐบาลหยุดปฏิบัติหน้าที่ เรียกผู้บัญชาการเหล่าทัพและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ให้มารายงานตัวกับตนเอง เตรียมจัดตั้งสภาประชาชนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั่วไป ปิดล้อมขัดขวางการเลือกตั้ง และพร้อมจะกราบถวายบังคมทูลฯ เสนอชื่อผู้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน เป็นต้น

สมดังที่ ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี ปัญญาชนอุปถัมภ์ของ กปปส. ขนานนาม ขบวนการนี้ว่าเป็น "การปฏิวัตินกหวีด"

ทว่า ในขณะเดียวกัน การเรียก กปปส. ว่า "ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย" ก็พูดเกินไปกว่าความเป็นจริง เพราะถึงแม้ กปปส. จะใช้ยุทธวิธีปลุกระดมมวลมหาประชาชนให้ลุกฮือขึ้นปฏิวัติต่อระบอบการเมืองการปกครอง

แต่ในแง่เป้าหมายยุทธศาสตร์แล้ว กปปส. มิได้มุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบสถาบันสังคมเศรษฐกิจวัฒนธรรมดังที่เป็นอยู่ (the socio-economic and cultural establishment)

มิได้คิดจะแตะต้องฐานภาพของชนชั้นนำกลุ่มอื่น ๆ นอกเหนือไปจากชนชั้นนำทางการเมืองจากการเลือกตั้งฝ่ายรัฐบาล

กล่าวอีกอย่างก็คือ กปปส. เป็นขบวนการย้อนแย้งที่มีทั้งลักษณะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินทางการเมือง (political radicalism) แต่อนุรักษนิยมหรือแม้กระทั่งปฏิกิริยาในทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (socio-economic & cultural conservatism/ reaction) ในเวลาเดียวกัน

ทำนองเดียวกับที่ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและองค์การพิทักษ์สยามเคยเป็นมาก่อนหน้านี้

พลวัตทางอุดมการณ์การเมืองของ กปปส.คลี่คลายไปเช่นใด?

-โดยผ่านการสำรวจวิจัยสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้เข้าร่วม "ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย" ตั้งแต่ช่วงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาจนถึงช่วง กปปส. อย่างกว้างขวางนับร้อยคน อาจารย์ผู้วิจัยท่านหนึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมขบวนการเหล่านี้มีลักษณะหลากหลายทางอุดมการณ์การเมือง พอแบ่งได้คร่าวๆ เป็น 3 พวก คือ :

1) พวกอนุรักษนิยมแบบยึดมั่นแน่วแน่

2) พวกที่มีแนวคิดโลๆ เลๆ ขัดแย้งกันในตัวเอง

3) พวกเสรีนิยมที่ถูกกันไปอยู่ชายขอบของขบวน

อาจารย์ผู้วิจัยชี้ว่าเดิมทีก่อนมีการเคลื่อนไหวของ พธม. และ กปปส. พวกอนุรักษนิยมทางการเมืองและศาสนา กระจัดกระจายกันเป็นกลุ่มย่อยเล็กๆ แต่การเกิดขึ้นของขบวนการ พธม.และ กปปส. เป็นโอกาสช่วยดูดดึงรวบรวม ผนึกกลุ่มอนุรักษนิยมย่อยๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันเป็นกลุ่มก้อน

ความแน่วแน่ชัดเจนคงเส้นคงวาทางแนวคิดของพวกอนุรักษนิยมยังทำให้สามารถดูดดึงมวลชนคนชั้นกลางที่อ่อนด้อยประสบการณ์ทางการเมือง แต่ตื่นตัวขึ้นมาต่อต้านทักษิณ-เสื้อแดงกะทันหัน และเชื่อในการให้คนดีเข้ามาแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและระบอบเลือกตั้งธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จรวดเดียวจบ ให้ยอมรับและเข้ามาเป็นพวก

จนฝ่ายอนุรักษนิยมกลายเป็นพลังส่วนข้างมากของผู้ร่วมชุมนุมและสามารถยึดครองขบวนการไปในที่สุด

ในทางกลับกัน พวกเสรีนิยมเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทักษิณจากฐานคิดเสรีประชาธิปไตยหรือซ้ายสังคมนิยมที่ต้านรัฐ-ต้านทุน-ต้านนักเลือกตั้งทุจริตฉ้อฉลบนพื้นฐานประสบการณ์ที่เคยเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิชุมชนและการปฏิรูปการเมืองของประชาชนมาในอดีต

แม้ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวโน้มอนุรักษนิยม ชาตินิยม การเมือง "คนดี" และการอ้างอิงพระราชอำนาจมาใช้เป็นเครื่องมือ รวมทั้งยุทธวิธีเคลื่อนไหวแบบสุ่มเสี่ยง รุนแรง แต่ก็อดกลั้นรอมชอมกับพวกอนุรักษนิยม เพื่อแลกกับทรัพยากรต่างๆ ในการเคลื่อนไหว, การได้ขยายแนวร่วมกว้างขวางขึ้น และอำนาจฐานะตำแหน่งทั้งในและนอกขบวนการ ที่จะใช้มาเป็นโอกาสช่องทางนำเสนอผลักดันประเด็นเฉพาะที่ก้าวหน้าของตน

อาศัยที่มีความคิดการเมืองค่อนข้างชัดเจนเป็นระบบและจัดเจนการเคลื่อนไหวมวลชน พวกเสรีนิยมจึงมีบทบาทหลักเป็นผู้ปฏิบัติงานแกนกลางของขบวนการในการเคลื่อนไหวจัดตั้งระยะเริ่มแรก

ทว่า พร้อมกับที่ขบวนการขับเคลื่อนโน้มเอียงไปทางอนุรักษนิยมแน่วแน่เด่นชัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ความอึดอัดตึงเครียดขัดแย้งของพวกเสรีนิยมกับกลุ่มอนุรักษนิยมก็ยิ่งมากและเข้มข้นงวดตัวขึ้น

นักเสรีนิยมที่ไม่อาจทนประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษนิยมอีกต่อไป ก็จะถูกลดบทบาทฐานะและเบียดขับไปอยู่ชายขอบของขบวนการ

หรือไม่ก็แปลกแยก/แยกตัวออกมาจนหมดความสำคัญและหายหน้าหายตาไปในที่สุด

ส่วนพวกที่มีแนวคิดโลๆ เลๆ ขัดแย้งกันในตัวเองนั้นด้านหนึ่งถูกกล่อมเกลาขึ้นมาด้วยความเป็นไทยแบบอนุรักษนิยมเหมือนคนทั่วไป แต่อีกด้านหนึ่งก็เคยสัมผัสซึมซับความคิดก้าวหน้าและเสรีประชาธิปไตยผ่านประสบการณ์เข้าร่วมการเคลื่อนไหวชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยหรือสิทธิชุมชนในอดีต

แม้จะรอบรู้ ตื่นตัวและเปิดกว้างทางการเมืองกว่าจนเป็นเหตุให้สงสัยแนวคิดบางอย่างของพวกอนุรักษนิยมในขบวนการ แต่ก็โลๆ เลๆ กลับไปกลับมา ไม่คงเส้นคงวาทางความคิด กล่าวคือ ก้าวหน้า/เสรีนิยมในบางด้าน แต่ก็อนุรักษนิยมในบางเรื่อง

เช่น เห็นด้วยกับความเสมอภาคทางสังคมและการกระจายอำนาจ แต่ก็สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจแบบอนุรักษนิยมและดูถูกพวกเสื้อแดงบ้านนอก

คัดค้านการทุจริตฉ้อฉลที่นักเลือกตั้งทำกับประชาธิปไตย แต่ก็ชอบประชาธิปไตย (แค่) ครึ่งใบสมัยเปรม

ไม่เห็นด้วยกับรัฐอำนาจนิยม การแทรกแซงของทหาร และการฉวยใช้ชาติและพระราชอำนาจเป็นเครื่องมือทางการเมือง

แต่ก็เข้าอกเข้าใจและมองรัฐประหาร รัฐบาลแต่งตั้งรวมทั้งองค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากในแง่ดีหรืออย่างน้อยก็เห็นว่าเป็นเรื่องชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลามรุนแรงไปกว่านี้ และแก้ปัญหาใหญ่อันได้แก่อำนาจครอบงำทางการเมืองเศรษฐกิจของกลุ่มทุนสามานย์โลกาภิวัตน์และนักเลือกตั้งเสียก่อน

ด้วยแนวคิดโลๆ เลๆ ขัดแย้งกันเองดังกล่าว จึงง่ายที่พวกนี้จะถูกดึงดูดโน้มนำเข้าไปร่วมมือกับพวกอนุรักษนิยมในที่สุด

รูปขบวนต่อสู้ของ กปปส. เป็นเช่นไร?

จุดแข็งของ กปปส. คือออกแบบรูปขบวนการชุมนุมต่อสู้ได้อย่างสอดรับกับความแตกต่างหลากหลายทางอุดมการณ์ของผู้เข้าร่วม โดยแบ่งออกเป็นหลายเวทีชุมนุมในหลายจุดของกรุงเทพฯ

แต่ละเวทีก็มีพื้นที่อิสระให้พวกก้าวหน้า/เสรีนิยมได้นำเสนอประเด็นข้อเรียกร้องเฉพาะของตน อีกทั้งเปิดให้คนชั้นกลาง-คนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมได้ปรับแปลงพื้นที่ชุมนุมเป็นตลาดนัด-บันเทิง-สวนอาหาร-ไลฟ์สไตล์อินเทรนด์อย่างสนุกครึกครื้นและชาญฉลาด โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้ร่มอำนาจนำหลวมๆ แบบอนุรักษนิยมของเวทีหลัก

และแกนความเข้าใจร่วมซึ่งสมัครสมานกลุ่มพวกต่างๆ ที่แตกต่างหลากหลายทางอุดมการณ์ให้มาอยู่ต่อสู้ด้วยกันเป็นสมาพันธ์แห่งหลากเวทีชุมนุมใต้ร่มอำนาจนำอนุรักษนิยม (an umbrella movement of confederate stages-rallies under a conservative hegemony)

ก็ได้แก่การมองสถานการณ์ ณ บัดนั้นว่าเป็นวิกฤตภัยคุกคามอันคับขันที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นโอกาสให้ก่อปฏิบัติการปฏิกิริยาทางการเมือง (the present-as-reactionary-possibility) ต่อระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง ซึ่งปกติแล้วจะเป็นไปไม่ได้นั่นเอง

แหล่งข่าว: 
มติชนออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด