งัดม.44ปลดล็อกผังเมือง บูมพลังงานทดแทน-ขยะ

กรมโยธาฯผนึกกรมโรงงานฯ ชง "บิ๊กตู่" ใช้ ม.44 ปลดล็อกลงทุนพลังงานทดแทน-ขยะ แก้ผังเมืองจัดโซนนิ่ง 15 จังหวัดนำร่อง เปิดพื้นที่รับอุตสาหกรรมขยายตัว รื้อบัญชีโรงงาน ปรับระยะถอยร่น ขีดแนวระยะห่างชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 2 กม.

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรมโรงงานฯร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย บรรลุข้อตกลงในการจัดทำผังเมืองขึ้นมาใหม่ 4 ข้อ ในการจัดทำโซนนิ่งการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อลดปัญหาการใช้พื้นที่ระหว่างการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมกับชุมชน ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างเสนอบรรจุเข้าสู่วาระที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ

ทั้งนี้การทำงานร่วมกับกรมโยธาฯเป็นไปตามภารกิจที่รับมอบหมายจากคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ในการร่วมกันหารือแนวทางดำเนินงานและร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม

แก้ 4 กฎเหล็กตั้งโรงงาน

ดร.พสุกล่าวว่า 4 ข้อเสนอ ได้แก่ 1.มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทย ยกเลิกบัญชีแนบท้าย จำพวกโรงงานท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวม/เมือง/ชุมชน และจัดทำข้อกำหนดที่มีลักษณะยืดหยุ่นรองรับยุทธศาสตร์ประเทศได้ รวมทั้งส่งเสริมอุตฯที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, อุตฯที่จำเป็นต้องมีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่

"การแก้บัญชีแนบท้าย เดิมระบุว่าตั้งโรงงานอะไร ประเภทใดบ้าง จะเปลี่ยนเป็นไม่ให้ตั้งโรงงานอะไรบ้าง ประเภทไหนบ้าง ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เปิดกว้างมากขึ้น และระบุประเภทโรงงานชัดเจนมากกว่าเดิม"

2.มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยนำผลศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการลงทุนของกระทรวงอุตสาหกรรมไปใช้เป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำผังเมืองทุกระดับ 3.มอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน จัดทำโซนนิ่งภาคอุตสาหกรรม, ข้อกำหนดแนวกันชน (Buffer Zone) และแนวป้องกัน (Protection Strip) ที่เหมาะสมกับโรงงานประเภทต่าง ๆ และมอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทย นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้ในการวางและจัดทำผังเมือง โดยจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก 15 จังหวัด จะทำการจัดโซนนิ่งก่อน อาทิ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ระยอง ปราจีนบุรี นครปฐม เชียงใหม่ นครราชสีมา เป็นต้น

หดรัศมีระยะถอยร่น

4.กำหนดให้การทำผังเมืองต้องสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น จ.นครปฐม มีโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตแปรรูปจำนวนมาก แต่ติดปัญหาข้อบังคับผังเมืองเป็นฉบับเก่า ทำให้โรงงานเก่าไม่สามารถขยายได้ โรงงานใหม่ก็ไม่สามารถตั้งเพิ่มได้ ในขณะที่นครปฐมมีพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก การลงทุนต้องคำนึงให้มีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบเพื่อความสะดวกในการขนส่งและควบคุมต้นทุน เป็นต้น

ดร.พสุกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การแก้ไขผังเมืองต้องคำนึงสิ่งแวดล้อมโดยรอบชุมชน ดังนั้นผังเมืองใหม่จึงต้องกำหนดให้มีแนวกันชน หรือบัฟเฟอร์โซน กับแนวป้องกัน โดยให้อำนาจกรมโยธาฯและจังหวัดควบคุมการตั้งเฉพาะโรงงานผลิตที่เกี่ยวข้องกับอุตฯในท้องถิ่นเท่านั้น โดยควบคุมการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และให้อุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบมากขึ้น ทั้งนี้ รูปแบบผังเมืองใหม่จะใช้เป็นแนวทางในการจัดโซนนิ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย

ทั้งนี้ แนวทางข้อเสนอเกี่ยวกับบัฟเฟอร์โซน อาทิ กลุ่มโรงงานอาหาร กำหนดบัฟเฟอร์โซน 150 เมตรจากกำแพงถึงชุมชน กรณีโรงงานบางประเภทที่มีบัฟเฟอร์โซน 500 เมตร ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเช่น ต้องติดตั้งเทคโนโลยีทันสมัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลุ่มปิโตรเคมี กำหนด 1 กม. เป็นต้น โดยเป็นมาตรฐานที่สามารถยืดหยุ่นได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดจากคณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้น โดยมีกระทรวงอุตฯ เป็นหน่วยงานหลัก และประสานการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ ส่วนที่เหลือให้เป็นอำนาจของกรมโยธาฯ

"มาตรการบัฟเฟอร์โซนจะทำให้นักลงทุนที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่รู้ว่าสามารถก่อสร้างโรงงานประเภทใด สร้างได้ทำเลไหนในพื้นที่ จากการประเมินเบื้องต้น

ถ้าหากสามารถแก้ไขผังเมืองเพื่อรองรับการพัฒนาอุตฯ ได้ครบทั้ง 4 ข้อ จะมีส่วนช่วยทำให้สัดส่วนรายได้ภาคอุตฯ ต่อจีดีพี ที่มีอยู่ 40% คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก" แหล่งข่าวกล่าว

โยธาฯรับลูกรื้อโซนนิ่ง

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมรับแนวทาง 4 ข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมไปดำเนินการต่อ ทั้งยกเลิกบัญชีกำหนดประเภทจำพวกโรงงานแนบท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวม จัดทำข้อกำหนดที่มีลักษณะยืดหยุ่น สามารถรองรับนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์ได้ ส่งเสริมอุตฯที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและที่จำเป็นต้องมี เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ทบทวนแนวกันชนและแนวป้องกันที่เหมาะสมกับโรงงานให้น้อยกว่า 2 กม.

"ต่อไปจะนำมาใช้เป็นแนวทางในการวางและจัดทำผังเมืองจังหวัด ผังเมือง และผังเมืองชุมชน เพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างมีศักยภาพและรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งทางกลุ่มจังหวัดอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดการจัดทำผังเมืองรวม"

ม.44 "พลังงานทดแทน-ขยะ"

นายมณฑลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรมยังเสนอให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาใช้มาตรา 44 เพื่อมาดำเนินการปลดล็อกพื้นที่เขตผังเมืองรวมให้สามารถพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและขยะได้ จากเดิมอาจจะมีปัญหาอุปสรรคบ้าง เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน ซึ่งเป็นข้อเสนอแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องผังเมืองเท่านั้น ส่วนขออนุมัติโครงการจะมีกฎหมายโรงงานและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาประกอบเพิ่มเติม

อนึ่ง สถิติการประกอบและขยายกิจการโรงงานในรอบ 10 เดือน (ม.ค.-20 ต.ค. 2558) มีจำนวน 4,401 โรง ลดลงจากปีที่แล้ว 5.9% ซึ่งมียอดขอประกอบและขยายเข้ามา 4,677 โรง

ขณะที่มูลค่าเงินลงทุน 4.77 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% ประเภทอุตฯลงทุนสูงสุด ได้แก่ อาหาร เงินลงทุน 56,000 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 35,000 ล้านบาท, ยานพาหนะ การซ่อมและอุปกรณ์ 34,000 ล้านบาท, เครื่องใช้ไฟฟ้า 24,000 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์โลหะ 20,000 ล้านบาท

กรณีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต รง.4 (ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน) ไปแล้ว แต่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการมี 3,268 โรง อยู่ในนิคมอุตฯ 294 โรง นอกนิคมอุตฯ 2,974 โรง เงินทุนรวม 320,000 ล้านบาท เงินทุนเครื่องจักร 170,000 ล้านบาท

แหล่งข่าว: 
ประชาชาติธุรกิจ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด