ครม.ไฟเขียวคลายเงื่อนไขศึกษาความเป็นไปได้-EIA เพิ่มความเร็วลงทุนโครงการขนาดใหญ่

ครม. เห็นชอบผ่อนปรนเงื่อนไข ศึกษาความเป็นไปได้ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ จาก1 ปี 10 เดือน เหลือ 9 เดือน คลังชี้ผลดีไม่ต้องพึ่งม.44 ในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเสนอผ่อนปรนเงื่อนไข โครงการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่มากขึ้น จากเดิมเมื่อต้องเร่งการลงทุนต้องใช้เวลานาน 1 ปี 10 เดือน ทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กว่าจะเริ่มขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง เพราะแต่ละหน่วยงานจะเริ่มส่งต่อขั้นตอนให้แต่ละแห่งกว่าจะศึกษาเสร็จ จึงเปลี่ยนวิธีใหม่ให้ทุกหน่วยงานรัฐเริ่มศึกษาไปพร้อมๆ กันตามหน้าที่รับผิดชอบ จึงทำให้ทุกขั้นตอนรวดเร็วขึ้น นับว่าเป็นการปฏิรูประบบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ จะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนมากขึ้น เพราะลดขั้นตอนเหลือเพียง 9 เดือน จะเริ่มต้นจัดซื้อจัดจ้างได้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการที่นำมาเข้าโครงการ PPP Fast track นำร่องใน 7 โครงการ มูลค่าการลงทุน 347,570 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มอเตอร์เวย์ ช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา มอเตอร์เวย์ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี โรงงานขยะ อบจ.นนทบุรี โรงงานขยะนครราชสีมา เมื่อผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าวแล้วไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีมาตรา 44 ในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่

คมนาคมยืนยันรถไฟไทย-จีน,ไทย-ญี่ปุ่นยังเดินหน้า

วันเดียว(3 พ.ย.58) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลยังยืนยันถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการเจรจา โดยฝ่ายไทยต้องการเดินหน้าโครงการต่อไป ขณะที่โครงการความร่วมมือระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวเส้นทาง และอัตราผลตอบแทนด้านการลงทุนเชื่อว่าจะมีความชัดเจน และสามารถออกแบบรายละเอียดได้ภายในปี 2559

ส่วนเส้นทางระบบรางอีก 1 เส้นทางที่ญี่ปุ่นสนใจคือ เส้นทางรถไฟเชื่อมโยงจากกาญจนบุรี-กรุงเทพ-อรัญประเทศ-แหลมฉบัง ถือว่าเป็นระเบียงเศรษฐกิจฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตกตอนล่างของไทย ล่าสุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ต้องการเร่งรัดแผนดังกล่าว ขณะที่กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าโครงการดังกล่าวจะไม่มีปัญหาล่าช้าเนื่องจากมีแนวเส้นทางทางรถไฟเดิมวิ่งอยู่แล้ว ญี่ปุ่นจึงต้องทำการสำรวจ รางช่วงไหนไม่แข็งแรง และจำเป็นต้องปรับให้เป็นทางคู่ เพื่อดำเนินการให้เส้นทางมีความสมบูรณ์ได้ในอนาคต

สำหรับการประชุมในวันที่ 6 พ.ย.นี้ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางลดอุปสรรคปัญหา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคม ประเด็นดังกล่าวในส่วนของกระทรวงคมนาคม ได้เตรียมเสนอการลดอุปสรรคที่ทำให้หลายโครงการมีความล่าช้า เช่น ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อหลายโครงการเช่นโครงการรถไฟทางคู่ หลายเส้นทาง คาดว่าหากรัฐบาลจริงจังต่อการลดอุปสรรคดังกล่าวจะทำให้โครงการลงทุนเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

แหล่งข่าว: 
ประชาไทออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด