เผยจุดอ่อนการใช้ศาลทหาร สวนทางหลักการนานาชาติ ขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าดีกว่าศาลพลเรือน ระยะยาวมีผลให้คนไม่กล้าใช้สิทธิ
นักวิชาการกฎหมาย ทนายและนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ชี้จุดอ่อนของกระบวนการใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนในงานเสวนาเรื่อง “ศาลทหาร กระบวนการยุติธรรมในยุคเผด็จการ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเย็นวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่าน โดยมีปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม จากกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมการเสวนา
ปิยบุตรชี้ว่าโดยหลักการสากล ห้ามไม่ให้มีการใช้ศาลทหารพิจารณาความผิดของพลเรือนไม่ว่าในกรณีใดๆ ที่ผ่านมาการมีศาลทหาร ก็เพื่อพิจารณาความผิดของทหารและในทางทหารเท่านั้น เช่นเรื่องของการผิดวินัยทหาร แต่ความผิดอื่นๆที่กระทำโดยทหารยังควรจะต้องขึ้นศาลทั่วไป พร้อมกันนั้นเล่าว่า ขณะนี้สหประชาชาติกำลังพยายามวางหลักที่จะเป็นมาตรฐานสากลให้กับกระบวนการใช้ศาลทหาร โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่ยูเอ็นให้มาศึกษาชื่อ Emmanuel Decaux และจนถึงขณะนี้ได้กำหนดเอาไว้ประมาณยี่สิบข้อ
ปิยบุตรกล่าวว่า โดยหลักการแล้วกรอบที่ยูเอ็นกำหนดนั้น ในเรื่องขอบเขตอำนาจของศาล ไม่ให้พิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับพลเรือนเลยไม่ว่าในกรณีใดหรือสถานการณ์ใด สำหรับฐานความผิดที่จะขึ้นศาลทหารได้ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับทหาร การปฏิบัติการเช่นการอุ้ม ฆ่า ยิ่งขึ้นศาลทหารไม่ได้อย่างเด็ดขาด และศาลทหารจะต้องเป็นกลางและอิสระ ซึ่งต้องมีองค์ประกอบที่ทำให้เชื่อได้จริงว่าจะอิสระและเป็นกลาง เช่นในเรื่องของที่มา ซึ่งการที่ศาลทหารไทยสังกัดกระทรวงกลาโหมและข้าราชการที่มาเป็นตุลาการก็เป็นข้าราชการของกระทรวง ตัดสินคดีที่ทหารเป็นผู้ฟ้อง ไม่ถือว่าเข้าองค์ประกอบ ตุลาการศาลทหารก็ควรจะต้องมีความรู้ในเรื่องกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันของไทยก็ยังไม่เข้าข่ายนี้ทั้งหมด นอกจากนี้การพิจารณาคดีต้องเปิดเผยโปร่งใส สำหรับของไทยยังไม่เสมอไปทุกกรณี และในการอุทธรณ์หรือฎีกาแม้ว่าจะยอมให้ทำได้แล้วแต่ยังคงต้องทำกับศาลทหารต่อไป
ปิยบุตรกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยชี้แจงกับต่างประเทศในเรื่องของการใช้ศาลทหารว่าจะใช้เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับความมั่นคงเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าผิดหลักการเพราะโดยหลักการ ต้องไม่ให้ศาลทหารพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับพลเรือนไม่ว่าในกรณีใดล้วนทำไม่ได้ทั้งสิ้น
“ความมั่นคงไม่ได้เป็นยาวิเศษที่จะให้ผู้มีอำนาจทำอะไรก็ได้ และการขึ้นศาลพลเรือนมันไม่ดีตรงไหน ศาลพลเรือนแย่กว่าศาลทหารตรงไหน ประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน”
น.ส.ภาวิณี ชุมศรีเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในฐานะทนายกับการขึ้นศาลทหารว่า เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับทนายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทุกคน ที่ผ่านมาเคยมีการใช้ศาลทหารกับพลเรือนก็มีเพียงในปี 2519 เท่านั้นและเป็นการแปลงศาลปกติให้มีองค์ประกอบเป็นศาลทหารอีกด้วย ที่ผ่านมาการเรียนนิติศาสตร์จึงไม่ได้เน้นเรื่องทำความรู้จักกับศาลทหาร ทำให้ในหมู่ทนายเองขาดองค์ความรู้เรื่องนี้
นอกจากนี้ภาวิณีกล่าวว่า ทนายเองยังไม่ค่อยเข้าใจในหลายเรื่องที่ดำเนินการกันในเวลานี้ เช่นการแจ้งความผิดกรณีการทำกิจกรรมอย่างสงบ แสดงให้เห็นถึงวิธีการมองประชาชนในแง่ร้ายและเป็นภัยต่อความมั่นคง ในส่วนตัวของตนแล้วคิดว่า การที่ไม่มีพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกแม้แต่ในเรื่องที่ควรทำได้เช่นนี้มากกว่าที่จะส่งผลให้เกิดปัญหา
ภาวิณีชี้ว่า การที่มีคำสั่งให้ทหารเป็นพนักงานสืบสวนได้ทำให้ที่ผ่านมามีทหารเข้าไปร่วมทำงานในการสืบสวนสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนโดยกฎหมายอยู่แล้ว ในขณะที่พื้นที่ทำงานปกติหดหายหรือแคบลงไป เช่นในช่วงเวลาการสอบปากคำที่จะต้องมีญาติหรือทนายความรับรู้กลับไม่มีในหลายกรณี และโดยทั่วไปแล้วศาลจะต้องพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย แต่ศาลทหารไม่อนุญาตให้คนเข้าฟัง ทนายเองก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเพราะบางครั้งก็เข้าได้ บางครั้งก็เข้าไม่ได้ โดยที่ไม่มีการให้เหตุผลชัดเจน แม้แต่เรื่องปกติที่จะช่วยในการทำงานของนักกฎหมาย เช่นการถ่ายสำเนาเอกสารรายละเอียดพื้นฐานของคดีบางครั้งก็ทำได้บางครั้งก็ทำไม่ได้ นอกจากนั้นยังล่าช้า เช่นในศาลปกติ ในการบันทึกคำให้การ ผู้พิพากษาจะพูดสิ่งที่จะบันทึกลงไปยังเครื่องบันทึกเสียงเพื่อให้เสมียนศาลช่วยพิมพ์ แต่ตุลาการศาลทหารใช้วิธีจด ซึ่งนอกจากจะช้ามากแล้วยังไม่มีทางรู้ได้ว่าบันทึกอะไรบ้างจนกว่าจะมีการอ่านสรุป แม้ไม่ใช่ความผิดของศาลแต่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อม หากมีพลเรือนต้องไปขึ้นศาลทหารจำนวนมากจะยิ่งทำให้รองรับไม่ไหว เธอบอกว่าทุกวันนี้คดีแทบทุกคดียังไม่ไปถึงไหน และคดีที่ตัดสินไปได้ส่วนใหญ่มีเพียงคดีที่จำเลยรับสารภาพเท่านั้น
ในส่วนของตุลาการศาลทหาร ขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กล่าวคือจากเดิมที่มีเพียงคนเดียวในสามคนที่จบด้านกฎหมาย ขณะนี้เริ่มมีคนที่มีความรู้ด้านนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองคนในบางคดี การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่เห็นก็คือเริ่มมีการตอบรับนักสังเกตการณ์จากต่างประเทศ มีเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาอังกฤษไปต้อนรับและอธิบาย แต่ทว่าสำหรับนักข่าวยังคงเข้าไปฟังไม่ได้เช่นเดิม และในระหว่างที่ฟังก็ห้ามจดบันทึกซึ่งสำหรับตนแล้วเห็นว่า การจดบันทึกมีผลดียิ่งกว่าเพราะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยกว่า นอกจากนี้นส.ภาวิณีบอกว่า สิ่งที่เป็นต้นตอการให้อำนาจให้พลเรือนขึ้นศาลทหารเริ่มมาจากกฎอัยการศึก แต่ขณะนี้ไม่ได้ใช้กฎอัยการศึกแล้วจึงไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ให้อำนาจในการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร
ภาวิณีกล่าวด้วยว่า สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดของกระบวนการศาลทหารคือไม่แน่ชัดว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าการกระทำระดับไหนจึงจะถือว่าผิด ทำให้ไม่อาจบอกได้ว่าในการต่อสู้คดีนั้นมีแนวโน้มจะแพ้หรือชนะคดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้คนไม่กล้าใช้สิทธิของตัวเองซึ่งเป็นผลเสียในระยะยาว
ด้านรังสิมันต์ โรม จากกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่เล่าถึงประสบการณ์ของการถูกจับกุมและขึ้นศาลทหาร โดยย้อนเล่าตั้งแต่ช่วงถูกจับกุมจากการทำกิจกรรมว่า เป็นกิจกรรมที่ต้องการเวลาไม่มากและทำโดยสงบแต่กลับถูกสลายด้วยความรุนแรง หลายคนได้รับบาดเจ็บ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดได้รับโทษ กลุ่มนักศึกษาพยายามหาทางจะให้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ นอกจากนี้การเข้าจับกุมในเวลาต่อมาที่สวนเงินมีมาก็เป็นการเข้าจับกุมโดยไม่มีหมาย และมีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมอยู่ด้วย แต่ตำรวจไม่บันทึกข้อมูลเรื่องนี้ รังสิมันต์กล่าวว่า ในช่วงที่เขาและเพื่อนๆเข้าเรือนจำนั้น ถูกสั่งให้เปลื้องเสื้อผ้าอาบน้ำและถูกถ่ายวิดีโอไว้ทั้งที่ทุกคนได้ขอร้องเจ้าหน้าที่แต่ไม่เป็นผล เขาระบุถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำว่ามีปัญหาหลายประการรวมไปถึงความแออัดในบางแดน และโดยเฉพาะในเรื่องน้ำดื่มซึ่งทำให้คนไม่สบายเป็นจำนวนมากและตนเองท้องเสียตลอดวันแรก รังสิมันต์ระบุว่า ขณะนี้พูดกันว่าคำสั่งคสช.คือกฎหมาย แต่ตนเห็นว่าไม่ใช่ว่าใครจะยึดอำนาจแล้วจะออกกฎหมายอะไรก็ได้