หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 โละ คณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการการกองทุนเงินทดแทน ตั้งใหม่ ระบุมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูประบบของงานประกันสังคม งานเงินทดแทน และสำนักงานประกันสังคม
8 พ.ย. 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 40/2558 เรื่อง การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการการกองทุนเงินทดแทน เป็นการชั่วคราว มีรายละเอียดดังนี้
โดยที่พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้คณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมหรือคณะกรรมการการแพทย์ขึ้นใหม่ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ใช้บังคับ ประกอบกับในปัจจุบันได้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงสภาพปัญหาและข้อขัดข้องในการดำเนินการของระบบประกันสังคมและสำนักงานประกันสังคมทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน อันส่งผลไปถึงความเสียหายต่อรัฐด้วย กรณีจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการปฏิรูประบบของงานประกันสังคม งานเงินทดแทน และสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้มีการดำเนินงานที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นายจ้าง ลูกจ้างและผู้ประกันตน โดยจำเป็นต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนไว้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมไว้ก่อนแล้วแต่งตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน เพื่อให้การปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปราชการแผ่นดิน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้คณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการการแพทย์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับหยุดปฏิบัติหน้าที่และให้การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมตามมาตรา 8 หรือคณะกรรมการการแพทย์ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ยุติลง
ข้อ 2 ให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และมาตรา 8/1 มาตรา 8/2 มาตรา 8/3 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 จนกว่าคณะกรรมการหรือที่ปรึกษาตามข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง โดยในระหว่างนี้ให้การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ เป็นไปตามคำสั่งนี้
ข้อ 3 ให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง และให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 31 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทนพ.ศ. 2537 จนกว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามข้อ 7 จะครบวาระการดำรงตำแหน่งโดยในระหว่างนี้ให้การได้มาซึ่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นไปตามคำสั่งนี้
ข้อ 4 ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
(1) ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานกรรมการ
(2) ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการ
(3) ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กรรมการ
(4) ผู้แทนสำนักงบประมาณ กรรมการ
(5) นายทวี ดียิ่ง กรรมการ
(6) นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร กรรมการ
(7) นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กรรมการ
(8) นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล กรรมการ
(9) นายวาชิต รัตนเพียร กรรมการ
(10) นายวันชัย ผุดวารี กรรมการ
(11) นายสมพงศ์ นครศรี กรรมการ
(12) นายสุวรรณ สุขประเสริฐ กรรมการ
(13) นายสุวิทย์ ศรีเพียร กรรมการ
(14) นางอรุณี ศรีโต กรรมการ
(15) เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กรรมการและเลขานุการ
ข้อ 5 ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วย
การประกันสังคม
(1) นายปั้น วรรณพินิจ
(2) นายอำพล สิงหโกวินท์
(3) พลโท กฤษฎา ดวงอุไร
(4) นายถาวร พานิชพันธ์
(5) พลเอก อภิชาต แสงรุ่งเรือง
ข้อ 6 ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นกรรมการในคณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วย
การประกันสังคม
(1) นายชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการ
(2) นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กรรมการ
(3) นายอำนวย กาจีนะ กรรมการ
(4) นายสุพรรณ ศรีธรรมมา กรรมการ
(5) พลโท ไตรโรจน์ ครุธเวโช กรรมการ
(6) ผู้ช่วยศาสตราจารย์วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี กรรมการ
(7) พลตรี จัดพล วุฑฒกนก กรรมการ
(8) ศาสตราจารย์พรชัย สิทธิศรัณย์กุล กรรมการ
(9) รองศาสตราจารย์จุฑาไล ตัณฑเทอดธรรม กรรมการ
(10) นายอดุลย์ บัณฑุกุล กรรมการ
(11) นายชาญวิทย์ ทระเทพ กรรมการ
(12) นายทรงยศ ชัยชนะ กรรมการ
(13) ศาสตราจารย์สุนันทา พลปัถพี กรรมการ
(14) ศาสตราจารย์สารเนตร์ ไวคกุล กรรมการ
(15) รองศาสตราจารย์ศุภชัย รัตนมณีฉัตร กรรมการ
(16) ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม กรรมการและเลขานุการ
ข้อ 7 ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นกรรมการในคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วย
เงินทดแทน
(1) เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ประธานกรรมการ
(2) นายศรีประสิทธิ์ บุญวิสุทธิ์ กรรมการ
(3) นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ กรรมการ
(4) นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการ
(5) นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย กรรมการ
(6) นางผจงสิน วรรณโกวิท กรรมการ
(7) นางปริศนา ประหารข้าศึก กรรมการ
(8) นายอรรถการ ตฤษณารังสี กรรมการ
(9) นายปิยะชาติ ชุณหเวชสกุล กรรมการ
(10) นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ กรรมการ
(11) นายวารินทร์ ศรีแจ่ม กรรมการ
(12) นายบรรจง บุญรัตน์ กรรมการ
(13) นายพงษทร คงลือชา กรรมการ
(14) ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม กรรมการและเลขานุการ
ข้อ 8 กรรมการซึ่งระบุชื่อตามข้อ 4 ข้อ 6 และข้อ 7 หรือที่ปรึกษาตามข้อ 5 มีวาระอยู่ในตำแหน่งสองปีนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และเมื่อครบกำหนดตามวาระแล้วให้ดำเนินการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการหรือที่ปรึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมหรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แล้วแต่กรณี
ให้คณะกรรมการและที่ปรึกษาที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมหรือคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
ข้อ 9 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระในข้อ 8 กรรมการซึ่งระบุชื่อตามข้อ 4 ข้อ 6
และข้อ 7 หรือที่ปรึกษาตามข้อ 5 พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ออก
เมื่อกรรมการหรือที่ปรึกษาพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่แทนได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับ
วาระที่เหลืออยู่ของกรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งบุคคล
เพื่อทำหน้าที่แทนกรรมการซึ่งระบุชื่อให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่และให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
ข้อ 10 ประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมกรรมการ
การประชุมคณะกรรมการตามข้อ 4 ข้อ 6 และข้อ 7 ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจมาประชุมได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มติในที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธาน
ในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดในการประชุมของคณะกรรมการตามข้อ 4 ข้อ 6 และข้อ 7 ถ้ากรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องที่พิจารณา ผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าประชุม
ข้อ 11 ให้คณะกรรมการตามข้อ 4 ข้อ 6 และข้อ 7 มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
ให้นำข้อ 10 มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
ข้อ 12 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2558
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ