นิธิ เอียวศรีวงศ์: อนุรักษ์นิยมและอำนาจนำ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ท่านอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุขให้สัมภาษณ์แก่สื่อไว้ตอนหนึ่งว่า

"สังคมไทยเดินทางมาไกลเกินกว่าจะปิดประตูบ้านตัวเองตามความเชื่อของปีกขวาจัด ความลำบากของปัจจุบันก็คือ เราดันอยู่กับอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวเท่าไหร่ และความไม่รู้เรื่องรู้ราวมันสะท้อนชัดว่า เขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก ในขณะเดียวกันก็ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตที่เกิดขึ้นในบ้านตัวเอง"

ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปที่พูดไว้อย่างดีของท่านอาจารย์สุรชาติทุกประการ แต่คนที่อ่านบทสัมภาษณ์ของท่านแล้ว อาจเข้าใจผิดว่า อนุรักษ์นิยมไทยเพิ่งมา"ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตที่เกิดขึ้นในบ้านตัวเอง"เอาตอนนี้ ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อนุรักษ์นิยมไทยไม่เคยเข้าใจพลวัตในบ้านตัวเองตลอดมา ผู้นำของฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางคนอาจพอมองเห็นบ้าง แต่ก็ไม่เคยสามารถปรับตัวเองในชนาดที่ใหญ่และเร็วพอกับความเปลี่ยนแปลงได้สักครั้งเดียว พวกเขามักจะยึดติดกับความสำเร็จของตนเองที่สามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้ แต่ไม่ยอมรับผลกระทบที่เกิดแก่ภายใน กลับพยายามตรึงให้ทุกอย่างคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง จนในที่สุดทุกอย่างก็มักสายเกินไป

ผู้นำอนุรักษ์นิยมไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าเก่งในการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงภายนอก ไม่ว่าจะเป็นจักรวรรดินิยมตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19, การคุกคามของคอมมิวนิสต์สากล, การสิ้นสุดสงครามเย็นอย่างกะทันหัน,และโลกาภิวัตน์ของเสรีนิยมใหม่ แต่ลองหันกลับมาดูการปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงภายในบ้างสิครับ แทบจะพูดได้ว่าประสบความล้มเหลวตลอดมาในทุกครั้ง ก่อให้เกิดความตึงเครียดอย่างรุนแรง ยังไม่พูดถึงความยากลำบากแสนสาหัสแก่ผู้คนจำนวนมากภายในประเทศ

อันที่จริงตลอดการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของไทย เราอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาตลอด อนุรักษ์นิยมในที่นี้หมายถึงความพยายามจะรักษาโครงสร้างทางสังคมและการเมืองไว้ตามแบบเดิม ทาสและไพร่ถูกเปลี่ยนมาเป็นข้าราษฎรของแผ่นดิน แทนที่จะเป็นข้าของมูลนาย ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมนำเข้ามาเป็นความเปลี่ยนแปลงระดับผิวๆ เพื่อทำลายข้ออ้างของจักรวรรดินิยมตะวันตกว่าจะนำอารยธรรมมาให้แก่ประเทศป่าเถื่อนในเอเชีย เราอาจยอมจำนนต่อแรงบีบคั้นของมหาอำนาจในด้านศุลกากรและการศาล แต่ชนชั้นปกครองเดิมก็ยังอยู่ และอยู่อย่างมั่นคงกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ไม่จำกัดแต่เฉพาะผู้นำในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้ผู้นำหลัง 2475 โดยเฉพาะผู้นำที่มีฐานอำนาจอยู่กับกองทัพสมัยใหม่ ก็ล้วนเป็นอนุรักษ์นิยมโดยพื้นฐานทั้งสิ้น นั่นคือไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมและการเมือง หรือแม้แต่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เช่นสองพี่น้องสกุลปราโมช, ชาติชาย ชุณหวัณ, ชวน หลีกภัย ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นอนุรักษ์นิยมโดยพื้นฐานเช่นกัน แม้แต่ทักษิณ ชินวัตรซึ่งพอจะมีสำนึกถึงพลวัตภายใน แต่ก็ใช้สำนึกนั้นเพื่อธำรงโครงสร้างสังคมและการเมืองแบบเดิมให้ดำรงคงอยู่ต่อไปได้โดยไม่ติดขัด

อย่างไรก็ตาม อนุรักษ์นิยมไทยนั้นส่วนใหญ่แล้วจะไม่"ขวาจัด" ยกเว้นบางช่วงที่รู้สึกว่าตนเองจนตรอก (และจะกล่าวถึงสภาวะจนตรอกดังกล่าวข้างหน้า) ทั้งนี้เพราะพลังของกลุ่มอนุรักษ์นิยมตั้งอยู่บนฐานที่เป็น"ของจริง"สองอย่าง หนึ่งคือความรอบรู้ต่อสถานการณ์ภายนอก หรือการเมืองระหว่างประเทศอย่างดี ทั้งยังรวดเร็วฉับไวในการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงภายนอกได้ทันเวลา เพียงปีเดียวหลัง 14 ตุลา ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งจิกเรียกจีนแผ่นดินใหญ่ว่า"เจ๊กแดง"ตลอดมา ก็เดินทางไป"เค้าโถ่ว"ท่านประธานเหมาที่ปักกิ่งในฐานะนายกรัฐมนตรี เพราะรู้ว่าเมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของเวียดนาม ถึงสงครามเย็นยังคงอยู่ต่อไป แต่ก็ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว นี่เป็นพลังข้อแรกของกลุ่มอนุรักษ์นิยมไทย

พลังข้อที่สองก็คืออำนาจนำ กลุ่มอนุรักษ์นิยมสามารถกุมอำนาจควบคุมหรือครอบงำ (กลไกอำนาจรัฐ) ไว้ในมือตลอดมา แม้มีความขัดแย้งระหว่างกันมาตลอด แต่ในที่สุดก็สามารถเฉลี่ยอำนาจควบคุมนั้นไว้ในกลุ่มของตนได้ โดยไม่ต้องแบ่งปันให้แก่คนแปลกหน้ากลุ่มอื่นเลย เว้นแต่จะกลืนคนแปลกหน้าเหล่านั้นให้กลายเป็นชนชั้นนำเสียก่อน (แต่งงานกัน, ร่วมทุนกัน หรือแบ่งปันสถานะทางอำนาจระหว่างกัน) แต่ไม่มีใครในโลกนี้จะรักษาสถานะนำไว้ได้ด้วยอำนาจควบคุมเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมีสมรรถนะนำด้านอุดมการณ์, วิธีวิทยา, ระบบคุณค่า และแกนหลักของความสัมพันธ์ทางสังคม หรือที่เรียกว่าอำนาจนำไว้ได้ด้วย คนจำนนต่ออำนาจควบคุมเพราะจำนนต่ออำนาจนำมาก่อนแล้วต่างหาก

แต่พลังในการกุมอำนาจนำของกลุ่มอนุรักษ์นิยมไทยไม่มั่นคงแข็งแรงเท่ากับการกุมอำนาจควบคุม ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดจากการปรับตัวให้รองรับความเปลี่ยนแปลงภายนอก ทำให้อำนาจนำของอนุรักษ์นิยมไทยถูกท้าทายตลอดมา ชาตินิยมที่เป็นทางการถูกท้าทายจากข้าราชการระดับกลางที่มีชาตินิยมในอีกสำนวนหนึ่ง จนนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองใน 2475 แม้แต่ภายใต้รัฐบาลที่สนับสนุนสหรัฐในสงครามเวียดนามอย่างเต็มที่ ก็มีความเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายสหรัฐในเวียดนามอย่างเปิดเผยในหมู่นักศึกษาและปัญญาชน ยิ่งระหว่าง 14 ตุลา - 6 ตุลา อำนาจนำของกลุ่มอนุรักษ์นิยมถูกท้าทายถึงขั้นรากฐานทีเดียว จนคนบางจำพวกในกลุ่มอนุรักษ์นิยมคิดว่า กำลังจะสูญเสียอำนาจนำไปเป็นการถาวรแล้ว

นั่นคือที่มาของการสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และรัฐบาลเผด็จการธานินทร์ กรัยวิเชียร มีอะไรหลายอย่างของรัฐบาลธานินทร์ที่คล้ายกับรัฐบาลทหารปัจจุบัน นักศึกษาและปัญญาชนจำนวนมากต้องหลบหนีเข้าป่า ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ บ้างอาศัยเป็นเส้นทางหลบหนีไปต่างประเทศ อีกจำนวนมากถูกจำขังในข้อหาม. 112 บ้าง 113 บ้าง 116 บ้าง มีนักศึกษาปัญญาชนอีกมากที่ถูกจับไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร ปิดกั้นเสรีภาพของสื่ออย่างเข้มงวด ปรับหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมถึงมหาวิทยาลัยด้วยการเสริมวิชาความเป็นไทยเข้าไป

โดยสรุปก็คือใช้อำนาจควบคุมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อำนาจนำที่สั่นคลอนลงของตนอย่างเต็มที่ สร้างอาชญากรทางความคิดขึ้นมาจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

แต่ส่วนใหญ่ของกลุ่มอนุรักษ์นิยมมองเห็นภยันตรายของรัฐบาลเผด็จการธานินทร์ กรัยวิเชียร ในที่สุดก็จำเป็นต้องทำรัฐประหารซ้อนเพื่อโค่นล้มกลุ่มอนุรักษ์นิยม"ขวาจัด"ลง ก่อนที่รัฐบาลนั้นจะนำไปสู่การนองเลือดที่ล่มสลายอนุรักษ์นิยมลงด้วย นำกลุ่มอนุรักษ์นิยมจากภาวะจนตรอกไปสู่ความเป็นปรกติมากขึ้น แม้ยัง"ขวา"อยู่แต่ไม่"จัด" จึงสามารถเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกลับเข้ามาสร้างมาตรการรองรับการสิ้นสุดสงครามเย็นได้อย่างชาญฉลาดขึ้น

แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่เคยกุมอำนาจนำได้เด็ดขาดเหมือนก่อน 14 ตุลาอีกแล้ว เถ้าและอัฐิของผู้ท้าทายอำนาจนำซึ่งถูกอัปเปหิออกนอกประเทศได้รับการต้อนรับกลับบ้านจากผู้คนจำนวนมาก ท่ามกลางความอึดอัดของกลุ่มอนุรักษ์นิยม แต่ไม่มีครั้งไหนที่การท้าทายอำนาจนำจะแพร่หลายไปกว้างขวางยิ่งไปกว่าหลังรัฐประหาร 2549

แม้แต่อำนาจควบคุมซึ่งเคยยึดกุมได้มั่นคงก็พลอยสั่นคลอนไปด้วย เช่นการเลือกตั้งซึ่งกลุ่มอนุรักษ์นิยมเคย"จัดการ" ให้ไม่ใช่ปัจจัยตัดสินเด็ดขาดเพียงอย่างเดียว ก็กลายเป็นความชอบธรรมทางการเมืองที่ไม่อยู่ในอำนาจ"จัดการ"ของกลุ่มอนุรักษ์นิยมล้วนๆ อีกต่อไป การจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ในค่ายทหารเป็นความพยายามจะสถาปนาอำนาจควบคุมในการเมืองให้คงเดิม แต่ปราศจากการยึดกุมอำนาจนำ การ"จัดการ"เช่นนั้นประสบความล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด

การขึ้นมาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำให้สภาพการเมืองยิ่งคาราคาซัง ที่ส่อว่าอำนาจควบคุมกำลังจะหลุดมือไปจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมไปเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาหันมาสู่"ขวาจัด" ฝากความหวังไว้กับการกระชับอำนาจควบคุมให้เด็ดขาด เพื่อสร้างระบอบปกครองที่ไม่ต้องอิงอาศัยอำนาจนำเอาเลย

คณะที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัดเลือกมาจัดการให้เกิดการกระชับอำนาจควบคุมคือ คสช. เป้าหมายหลักคือการกระชับอำนาจ ไม่ใช่การปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นโลกภายนอก หรือสังคมภายใน นั่นคือที่มาของคนอย่างประยุทธ์ จันทร์โอชา และประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นนายทหารที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือการเมืองระดับนำที่ต้องผ่อนสั้นผ่อนยาวมาก่อนเลย แต่ในทัศนะของอนุรักษ์นิยมปีก"ขวาจัด" นี่ไม่ใช่โทษสมบัติ หากเป็นคุณสมบัติโดยแท้ เพราะเป้าหมายหลักคือการกระชับอำนาจควบคุมในมือของอนุรักษ์นิยมให้มั่นคง ไม่ใช่การผ่อนสั้นผ่อนยาวที่จะทำให้อำนาจนำยิ่งหลุดมือไปเร็วขึ้น

คำพูดเรื่องปิดประเทศ ความปรองดองที่มองจากทัศนะของฝ่ายเดียว ประชาธิปไตยคืออุปสรรคหรือกับดัก ฯลฯ อาจทำลายความชอบธรรมของอำนาจนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทั้งภายในและต่างประเทศ แต่ผมไม่คิดว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมปีก"ขวาจัด"ยังมีความหวังอะไรเหลืออยู่กับการยึดกุมอำนาจนำด้วยสติปัญญาและความรู้อีกแล้ว เหตุผลและความชอบธรรมไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่การกระชับอำนาจควบคุม เพื่อปกป้องอำนาจนำต่างหาก ที่เป็นความหวังซึ่งพอเป็นไปได้ในทัศนะของกลุ่มอนุรักษ์นิยม"ขวาจัด"

การใช้อำนาจควบคุมผ่านกฎหมายอาญา ม.112 กฎหมายคอมพิวเตอร์ ตลอดจน ม.113 และ ม.116 ตลอดจนการใช้ศาลทหารแทนศาลยุติธรรมในคดีที่กระทบต่ออำนาจนำ เป็นประจักษ์พยานอีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดพยายามใช้อำนาจควบคุมมาปกป้องอำนาจนำที่กำลังเสื่อมสลายลง หนทางข้างหน้าเห็นได้ชัดว่ามีแต่จะเข้มงวดมากขึ้น ดังที่หัวหน้า คสช.กล่าวว่าอาจไม่เรียกบุคคลมาปรับทัศนคติอีกแล้ว แต่จะนำตัวเข้าคุกเลย แม้ฟังดูไม่เข้าท่า แต่ดูเหมือนอนุรักษ์นิยมขวาจัดก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเข้มงวดขึ้น เด็ดขาดขึ้น และรุนแรงขึ้นเท่านั้น

แต่ในทัศนะของผมซึ่งคิดอะไรผิดอยู่บ่อยๆ ตลอดมาเห็นว่า อำนาจควบคุมนั้นถึงมีส่วนช่วยในการสถาปนาอำนาจนำก็จริง หากทว่าอำนาจควบคุมอย่างเดียวไม่พอที่จะสถาปนาอำนาจนำที่แท้จริงได้ จำเป็นต้องใช้เหตุผล ความรู้และความเข้าใจวัฒนธรรม ตลอดจนศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ ในการสถาปนาอำนาจนำในสังคมหนึ่งๆ กลุ่มคนที่จะทำอย่างนี้ได้ในสมัยหนึ่งคือปัญญาชนสายอนุรักษ์นิยม ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่า คนเหล่านั้นมีคุณภาพสูงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา, กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, พระยาอนุมานราชธน, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ แต่ปัญญาชนเหล่านั้นได้วายชนม์ลงโดยไม่ได้สืบทอดอุดมการณ์ของตนมาสู่คนรุ่นหลัง เราเหลือแต่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และวสิษฐ เดชกุญชร ซึ่งจะมีคุณภาพขนาดสถาปนาอำนาจนำให้สืบทอดต่อไปได้หรือไม่ก็ (ตามแต่บุญแต่กรรมเถิดครับ)

หรือไม่ก็ต้องอาศัยปัญญาชนรุ่นใหม่เช่น สนธิ ลิ้มทองกุล, จำลอง ศรีเมือง, หรือจะถึงขนาด เหรียญทอง แน่นหนา และไพศาล พืชมงคล ก็ตามแต่บุญแต่กรรมเถิดครับเหมือนกัน

นโยบายใช้อำนาจควบคุมอย่างเคร่งครัดรุนแรงเพื่อปกป้องอำนาจนำจะดำเนินต่อไปหรือไม่ และในรูปใดบ้าง ผมไม่สามารถมองเห็นเส้นทางในอนาคตได้ แต่แน่ใจว่าย่อมทำให้อำนาจนำยิ่งเสื่อมลงรวดเร็วกว่าที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมคาดไว้เสียอีก

แหล่งข่าว: 
ประชาไทออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด