จากรถไฟสายประชาธิปไตยมุ่งหน้าสู่สถานีเลือกตั้งในปี 2559 แต่ก็ประสบอุบัติเหตุกรณีคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ไปถึงเป้าหมายช้าไป 1 ปี คือปี 2560
แม้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะออกไปบอกกับชาวโลกว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2560 แต่ก็ยังไม่มีอะไรรับประกันว่าจะเกิดอุบัติเหตุซ้ำอีกคำรบจนทำให้รถไฟไปถึงที่หมายล่าช้ากว่าเดิมอีกหรือไม่
ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ "สุรชาติ บำรุงสุข" นักวิชาการรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์อุปสรรค หลุมระเบิดที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าว่ามีอะไรบ้าง
- จากนี้ไปอะไรที่เป็นหลุมระเบิด และกับดักที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเผชิญ
หนึ่ง เชื่อว่าในปี 2559 การเมืองจะอยู่ในความควบคุมของผู้นำทหารต่อไป ยังไม่มีโอกาสเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงมากกว่าปัจจุบัน เนื่องจากท่าทีของผู้นำทหารพูดถึงประเด็นละเอียดอ่อน เช่น การปิดประเทศ หรือจำกัดเสรีภาพมากขึ้น อย่างนี้เป็นสัญญาณลบทางการเมือง และส่งผลลบในทางเศรษฐกิจ คำพูดเหล่านี้ยืนยันว่าการเมืองไทยปี"59 จะไม่สดใส
สอง เชื่อว่าหลังจากนี้ การเมืองไทยจะยิ่งเห็นความชัดเจนของการออกแบบระบบการเมืองที่ตอบสนองผลประโยชน์ของคนชั้นนำ และผู้นำทหารมากขึ้น การเมืองในอนาคตถูกออกแบบแล้ว ไม่เป็นประชาธิปไตย แม้นำไปสู่การเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร หรือเป็นระบบการเมืองที่การเลือกตั้งแบบไม่เสรี เพื่อให้การเลือกตั้งดำรงอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำและผู้นำทหารต่อไป
สาม รัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่กำลังถูกเขียนขึ้นเพื่อให้ประเทศอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมได้ หรือการควบคุมทางการเมืองจะเป็นประเด็นหลักมากกว่าการสร้างประชาธิปไตยโดยอาศัยกรอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ความฝันเรื่องระบอบรัฐธรรมนูญนิยมจะยังเป็นปัญหาต่อไป
สี่ ต้องติดตามว่าในที่สุดชนชั้นนำและผู้นำทหารจะยังผลักดันองค์กรที่มีอำนาจพิเศษ อย่างคณะกรรมการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ให้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ ถ้าผลักดันให้เกิด คปป. มีแนวโน้มทำให้เกิดปัญหาเช่นเดิม แม้ผู้นำทหารเชื่อว่าอำนาจของกองทัพที่อยู่ในการเมืองยังสามารถควบคุมทุกอย่างได้ แต่เชื่อว่าแรงกดดันมากกว่ายุคของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ห้า หลังจากนี้จนหลังปีใหม่เป็นช่วงเวลาของการต่อสู้และการเรียกร้องประชาธิปไตยจะเข้มข้นมากขึ้น กลุ่มต่าง ๆ จะออกมาไม่ใช่มีแต่กลุ่มประชาชนเล็ก ๆ บางส่วนที่ผู้นำทหารเห็น เช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ต้องยอมรับบทบาทของสื่อโซเชียลมีเดียทำให้ฐานการเรียกร้องประชาธิปไตยไทยถูกขับเคลื่อน
หก ผู้นำไทยในการประกาศที่โตเกียวให้คำมั่นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2559 แต่ในการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก การเลือกตั้งเลื่อนออกไปในปี 2560 เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านการโหวตของ สปช. เชื่อว่าต่างประเทศจะต้องการความมั่นใจว่าท้ายที่สุดการเลือกตั้งในไทยจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
เจ็ด นับจากนี้จะมีปัญหาความขัดแย้งภายในของปีกผู้มีอำนาจด้วยกันเอง ที่เห็นชัดคือกรณีผู้นำทหารด้วยกันเอง
- นอกจากหลุมระเบิดทางการเมืองมีเรื่องเศรษฐกิจหรือไม่
แปด แรงกดดันจากกลุ่มทางสังคมจะขยายมากขึ้น ในปีหน้าปัญหาใหญ่คือปัญหาภัยแล้ง ปี"59 ที่จะตามมาคือปัญหาราคาสินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์ม ยังไม่เห็นราคาที่เป็นอนาคต ขณะเดียวกัน การส่งออกก็ยังลดลง ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กประสบปัญหารุนแรง แม้รัฐจะพยายามขับเคลื่อนแต่จะยังยากลำบาก และปัญหาเศรษฐกิจชาวบ้าน สภาพอย่างนี้ทำให้กลุ่มสังคมหลาย ๆ ส่วนเริ่มมีแรงกดดันจากการจัดการภาครัฐของ คสช.มากขึ้น
เก้า ความท้าทายใหญ่คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคของภาครัฐ เช่นการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ อีกมุมหนึ่งต้องมองออกจากบ้านเรา คือ ปัญหา TPP หรือองค์กรการค้าการลงทุนในแปซิฟิก ปีหน้าคงต้องยุติในมุมว่าเราจะเสนอตัว หรือแสดงอะไรกับ TPP แม้ยังไม่ใช่ปีที่เปิดรับสมาชิก ของจริงที่จะมาถึง 31 ธ.ค. 2558 เป็นจุดกำเนิดของประชาคมอาเซียน กฎระเบียบของอาเซียนจะถูกผลักดันเข้ามามากขึ้น คำถามคือรัฐบาลจะรองรับความเปลี่ยนแปลงจากความเปลี่ยนแปลงรอบ ๆ บ้านเหล่านี้อย่างไร
สิบ ปัญหาความมั่นคงภายในจะถูกท้าทายมากขึ้น เช่น กรณีวางระเบิดศาลพระพรหมราชประสงค์ ปัญหาความมั่นคงในภาคใต้ที่กลับมาระเบิดมากขึ้น สรุปว่าจากไตรมาส 4 ของปีนี้ จะเริ่มเห็นความเข้มข้นของปัญหา 10 ประเด็นเหล่านี้มากขึ้น
- ใน 10 ประเด็น อะไรคือหลุมระเบิดที่น่ากลัวที่สุด
ตอบไม่ได้ชัดว่าอะไรเป็นหลุมระเบิดหรือกับดักใหญ่ แต่ทุกอย่างสามารถเป็นกับดักใหญ่ได้ทั้งหมด
- รัฐบาลต้องขยายโรดแมปออกไปมากกว่าปี 2560 เพื่อเลี่ยงทั้ง 10 ประเด็นหรือไม่
โรดแมปขยายไปแล้วในปฏิญาณโตเกียว 2559 พอไปนิวยอร์กกลายเป็น 2560 คำถาม คือ ถ้าไปอีกประเทศหนึ่งในปีหน้าการเลือกตั้งจะขยับออกไปอีกไหม ต่างประเทศให้ความสนใจประเด็นนี้มากเพราะต้องการความมั่นใจ มันส่งผลถึงการลงทุน เชื่อว่าภาคเอกชนในต่างประเทศจับตามองว่า อนาคตการเมืองไทยจะเป็นบวกหรือลบ โดยเฉพาะแนวโน้มการเลือกตั้งจะเกิดอย่างไรภายใต้รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่
- ปมรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นปมร้อนแรงและท้าทายที่สุดในปีหน้าหรือไม่
ไม่อยากให้ใช้คำว่าท้าทายที่สุดไหม เพราะมันมีหลายประเด็นที่พร้อมจะเป็นระเบิดเวลา รัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในระเบิดเวลาของการเมืองไทย
- หรือการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ คสช.คุมได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำ 5 สาย
วันนี้ คสช.คุมการร่างได้ เพราะอยู่ในปีกของ คสช. แต่เมื่อร่างออกมาแล้วจะเผชิญกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ เราเห็นยุคอาจารย์บวรศักดิ์ถึงแม้ว่าจะมีการจัดเวทีสาธารณะให้แสดงความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเดียวกันการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้น้อยเลย
ฉะนั้นข้อถกเถียงจะไปอยู่ในช่วงหลังปีใหม่ เพราะตอนนี้ขณะนี้อยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี"58 ซึ่งหลังจากเทศกาลปีใหม่ก็จะกลับมาสู่ปัญหาต่าง ๆ ที่พูดไป ซึ่งปัญหาหนึ่งที่จะกลายเป็นปมใหญ่แน่ ๆ คือ การร่างรัฐธรรมนูญ
- อาจารย์บอก คปป.ว่าน่ากังวล แต่นายกฯบอกว่าต้องมีเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐประหารในอนาคต อาจารย์เห็นแย้งหรือไม่
ผมว่า คปป.จะทำให้รัฐธรรมนูญประสบปัญหาเหมือนในยุคอาจารย์บวรศักดิ์ ถ้าสมมุติว่าร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วมี คปป.อยู่ ผมเชื่อว่าเป็นวิกฤต เนื่องจากโดยปกติเราอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าไม่มีองค์กรอะไรที่เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ เหนือ 3 อำนาจ คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ถ้า คปป.เกิดขึ้น แล้วเราเชื่อว่าประเทศไทยสามารถสร้างหลักรัฐศาสตร์ได้ โดยไม่ต้องนำพาซึ่งกระแสสังคม โดยไม่จำเป็นต้องนึกถึงกรอบกติกาสากล คปป. จะเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์จริง ๆ ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่รัฐสภา และอาจไม่ใช่สถาบันตุลาการ
เมื่อ คปป.เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ใหม่ มันจะสร้างปัญหาให้กับตัวกระบวนการการเมืองเอง แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าจะใช้ได้เมื่อในยามประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤต เพราะฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่ คปป.ออกมา คนจะสรุปได้ทันทีว่า นี่คือการสร้างกลไกใหม่ เพื่อคงอำนาจของทหารให้อยู่ในรัฐธรรมนูญได้ โดยมีตัวรัฐธรรมนูญรองรับอำนาจของ คปป. ให้อยู่เหนือสถานะ 3 สถาบันทางการเมืองเดิม
- ถ้ารัฐบาลยังไว้ใจ คปป.แม้เปลี่ยนรูปแบบโครงสร้าง แต่หลักการยังคงเดิม คปป.จะเป็นชนวนให้เป็นวิกฤติรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
ก็จะเห็นตัวอย่างเหมือนในยุคอาจารย์บวรศักดิ์ วันนี้เริ่มเห็นอย่างหนึ่งแล้ว คือ ระบบการเลือกตั้ง ซึ่งระบบนี้ถูกออกแบบเพื่อรองรับแบบไทย ๆ แต่ท้ายที่สุดระบบการเลือกตั้ง ถ้าถูกออกแบบมาแล้วไม่สามารถทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยและเดินเข้าสู่ระบอบการเลือกตั้งที่ดี กลับกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง มันจะเป็นปมที่ทำให้เกิดวิกฤตไปเรื่อย และถ้า คปป.เข้ามาก็จะเห็นข้อถกเถียงเรื่องอำนาจพิเศษในรัฐธรรมนูญ แล้วเรื่องรัฐธรรมนูญจะเป็นปมใหญ่ที่ทำให้เกิดวิกฤตแน่ ๆ
- รัฐบาลและ กรธ.ต้องการออกแบบร่างรัฐธรรมนูญออกมาลักษณะนี้ มองว่าเป็นความหวังดี มากกว่าประสงค์ร้ายหรือไม่
วิธีที่ดีที่สุด คือ การพาการเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด ภาวะปกติคือให้การเลือกตั้งเดินไปด้วยตัวเอง แต่ไม่ใช่มีความเชื่อว่าการเลือกตั้งจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ถ้าคิดอย่างนั้นเสียแล้ว การเมืองไทยจะอยู่ในภาวะที่เหมือนการเป็นเด็กอ่อนตลอดเวลา ทหารจะเป็นผู้อภิบาล ถ้าจะถอยหลังประเทศไทยต้องถอยให้กลับสู่ภาวะปกติ และให้การเมืองแบบปกติตัดสินอนาคตของประเทศไทย
- หากการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำการเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติ จะทำให้เกิดการเรียกร้องบนท้องถนนหรือไม่
ผมเชื่อว่ายังไม่ถึงจุดนั้น แต่แรงวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นน้ำหนักในตัวของมันเอง จากไตรมาสสุดท้ายของปี"58 ยาวไปถึงปี"59 การเมืองไทยยังเหมือนเดิม คือ อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร การจะชุมนุมของมวลชนขนาดใหญ่ยังเป็นเรื่องที่ยังไกล แต่พลังวันนี้ไม่ได้อยู่บนถนนแบบเก่า แต่พลังวันนี้อยู่ในสื่อใหม่ อยู่ในความรู้สึกของประชาชน อยู่ในสิ่งที่รัฐบาลต่างประเทศสร้างแรงกดดันกลับเข้ามา ถ้ารัฐบาลกังวลอยู่อย่างเดียวว่ากลัวคนกลุ่มเดิมที่ต่อต้านรัฐบาลจะออกมา วันนี้ไม่เป็นแบบนั้น
ในอดีตเราอาจจะรู้สึกว่า สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียจะอยู่ในสังคมชนชั้นกลางหรืออยู่กับปีกอนุรักษนิยม ซึ่งมีการศึกษา แต่วันนี้ไม่ใช่ มันเปิดมากกว่าที่ผู้นำทหารคิด และการควบคุมสื่อสังคมออนไลน์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
- การต่อสู้ระหว่างขั้วอำนาจเก่ากับขั้วอำนาจใหม่ที่เข้มข้นอยู่ในขณะนี้จะเดินไปสู่จุดไหนได้บ้าง
สามารถตอบได้แบบหยาบ ๆ คือ ทำให้นำไปสู่การเกิดแรงกดดันต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยหลังจากปี"58 เข้าสู่ปี"59 จะเห็นแรงกดดันทางการเมือง เห็นปัญหาการโต้แย้งทางการเมืองมีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ขยายวงมากขึ้น ส่วนจะนำไปสู่ความผกผันหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ เพราะประเด็นที่เป็นกับดักหรือหลุมระเบิดมีมากขึ้น และมีหลายลูกหลายหลุมที่รออยู่
- การดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองได้หรือไม่
ไม่เป็นจุดพลิกผัน แต่จะเป็นจุดที่ไปตอกย้ำความรู้สึกคนได้มากกว่า ที่คนชอบพูดถึง คือ หนึ่ง สองมาตรฐาน สอง ความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม วันนี้เราเริ่มเห็นและรัฐบาลก็ตระหนักอยู่
ถ้าภาพลักษณ์เกิดเพิ่มมากขึ้น ๆ ว่า กระบวนการดำเนินการถอดถอนเป็นเครื่องมือจัดการของฝ่ายตรงข้าม อีกด้านหนึ่งภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทยและภาพลักษณ์ของรัฐบาล จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น
- กรณีการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะส่งผลกระทบต่อการสร้างความปรองดองในอนาคตหรือไม่
เรื่องการสร้างความปรองดองมีการพูดถึงมานาน แต่ไม่เคยเห็นสัญลักษณ์ หรือการกระทำที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร การปรองดองถ้าจะเริ่มได้ ต้องเริ่มจากปีกของฝ่ายผู้มีอำนาจที่แสดงเจตนารมณ์ที่จะปรองดอง แต่ถ้าไม่เริ่มจากฝ่ายผู้มีอำนาจ คนที่ไม่มีอำนาจไม่อยู่ในสถานะที่มากกว่าการเสนอเรื่องปรองดอง เพราะนโยบายอยู่ที่ฝ่ายมีอำนาจเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการจำนำข้าวจึงเป็นการตอกย้ำการเมืองไทยว่า อนาคตการเมืองไทยที่เราอยากเห็นการคลายตัว สภาวะการเมืองไทยที่จะกลับสู่ภาวะปกติ มันจะยิ่งไม่ปกติ
- 1 ปีที่ผ่านมาผลงานของ คสช. สรุปเป็นวลีสั้น ๆ ว่าอย่างไร
ทุลักทุเล แม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่ควบคุมการเมืองได้ เราเห็นโจทย์ใหญ่ที่รออยู่ โจทย์ปี"58 ไม่ได้เล็ก แต่โจทย์ปี"59 ใหญ่กว่า ซึ่งมีระเบิดเวลาหลายเรื่อง ปี"59 ก็จะยิ่งทุลักทุเล