ปัญหาสวัสดิภาพผู้ต้องขังและหลักกฎหมายในการชันสูตรกรณีที่เสียชีวิต

วิญญัติ ชาติมนตรี

ติดใจหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น!

ตามที่เป็นข่าวใหญ่และประชาชนทั่วไปให้ความสนใจกับกรณีมีผู้ต้องหา 2 ราย ที่ปรากฏว่าตายในความควบคุมของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (กรมราชทัณฑ์) ทั้งสองรายตายในเวลาไม่ห่างกันมาก ( 23 ตุลาคม 2558 และ 7 พฤศจิกายน 2558) ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างเบื้องสูง ตาม ป.อ.ม.112

คดีนี้จึงเป็นอีกคดีที่มีการตั้งข้อสังเกตตั้งแต่พฤติการณ์การกระทำความผิด ฐานความผิด สถานะทางสังคม หรือบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อนตาย เหล่านี้ล้วนมีคำถามทันทีว่า ผู้ต้องหาทั้งสองนั้น ตายด้วยสาเหตุใดกันแน่ ทั้งๆที่ยังอยู่ในเรือนจำของรัฐ ยิ่งเรือนจำตั้งอยู่ในค่ายทหารก็ยิ่งมีข้อน่ากังขา

มีผู้เกี่ยวข้องอ้างว่าผู้ต้องหาพยายามฆ่าตัวตาย (ตายโดยผิดธรรมชาติ) และผู้ต้องหามีอาการป่วยเรื้อรัง (ตายโดยผิดธรรมชาติที่อยู่ในความควบคุมฯ) อ้างว่าชันสูตรพลิกศพแล้วทั้ง 2 กรณี แน่นอนว่าต้องชันสูตรฯโดยไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ แต่...

1) การชันสูตรพลิกศพ ได้กระทำตาม ป.วิ.อ. ม.150 ครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งต้องทำโดยตำรวจท้องที่ที่ศพอยู่และแพทย์นิติเวช และ ก่อนการชันสูตรฯ แจ้งญาติคนหนึ่งคนใดทราบหรือไม่ เป็นต้น = หากไม่แจ้งมีข้อสงสัยว่าทำไมไม่แจ้ง?

2) การชันสูตรพลิกศพ ต้องมีพนักงานสอบสวน แพทย์นิติเวชฯ อัยการ และพนักงานฝ่ายปกครองท้องที่ที่ศพอยู่ อยู่ร่วมเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ (ตาม ป.วิ.อ. ม.150 ว.3)

3) เมื่อชันสูตรฯ แล้ว ให้มีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ให้มีอัยการเข้าร่วมร่วมกับพนักงานสอบสวน (ตาม ป.วิ.อ.ม. 150 ว.4 + 155/1) =ถ้าการสอบสวนไม่มีอัยการ ก็ผิดกฎหมาย หรือ ไม่มีการทำสำนวนสอบสวนก็ผิดกฎหมาย

4) อัยการต้องทำคำร้องขอไต่สวนฯ เพื่อให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย (ญาติผู้ตายเข้าร่วมไต่สวนและแต่งตั้งทนายความได้)= ถ้าอัยการไม่ทำคำร้องก็ผิดกฎหมาย

5) คำสั่งศาล ให้ถึงที่สุด

ดังนั้น การที่ผู้เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะออกแถลงการณ์อะไรจะให้ข้อมูลอะไร ที่ถือว่าแจ้งต่อสาธารณชนและระบุว่าญาติไม่ติดใจถึงการตายก็ตาม ก็ไม่อาจจะเป็นเหตุยกเว้นที่จะไม่ทำตามกฎหมาย การตายของทั้ง 2 กรณี จึงจำต้องมีการไต่สวนการตายเกิดขึ้น

เนื่องจากโดยหลักแล้ว การชันสูตรพลิกศพ รัฐมีหน้าที่จะต้องคุ้มครองสิทธิของพลเมือง อันเป็นหลักประกันในชีวิตของประชาชน รัฐมิใช่จะมุ่งที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือแถลงข่าวความคืบหน้าในคดีที่ขบวนการแอบอ้างเบื้องสูงเพียงอย่างเดียว แต่รัฐก็ต้องให้ความสำคัญและทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอน การกระทำใดที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ย่อมถือว่าเข้าข่ายกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ( ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6เดือนถึง2 ปี หรือปรับตั้งแต่10,000บาท ถึง40,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ปวิอ.ม.150ทวิ และระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ป.อ.ม.157)

มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในเรือนจำ

ความเป็นอยู่ในเรือนจำหรือฑัณทสถานหรือสถานที่กักขัง ซึ่งเป็นสถานที่คุมขัง สำหรับผู้ที่ต้องโทษทางอาญา และผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวว่ากระทำความผิดทางอาญา ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมนั้น นับวันยิ่งแออัด เบียดเสียด คำบอกเล่าจากผู้ต้องขังว่า หากจะลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำก็อาจเสียที่นอนเอนกายได้ รวมถึงปัญหาของมาตรฐานความปลอดภัยของเรือนจำ ถือเป็นปัญหาสำคัญอีกประการที่สะท้อนถึงความเอาใจใส่ของรัฐได้เป็นอย่างดี งบประมาณแผ่นดินหลายแสนล้าน ถูกนำไปใช้บริหารจัดการในเรื่องนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้งบประมาณทางด้านความมั่นคงของประเทศหรือในด้านอื่นๆ

เมื่อความตายของนักโทษหรือผู้ต้องขังที่เกิดขึ้นหลายครั้ง และหลายสาเหตุ แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือชี้มูลที่แท้จริงว่าความตายเกิดจากสาเหตุใด เช่น ถูกรุมทำร้าย ถูกซ้อม ผูกคอตาย หกล้ม อาหารเป็นพิษ รวมถึงอาการที่อ้างว่าเจ็บป่วย ติดเชื้อในกระแสเลือด หัวใจวาย เป็นต้น ตอกย้ำว่า ความปลอดภัยทางกายภาพของเรือนจำ เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย กล้องวงจรปิด ระบบการตรวจสอบ ระบบเตือนภัย ระบบมาตรฐานทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และความรู้ ทักษะของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการให้ความสำคัญกับผู้ต้องขังในคดีสำคัญๆ ในปัจจุบัน ย่อมเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงระดับการให้ความคุ้มครองทางด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างชัดเจน เพราะผู้ต้องขังก็คือมนุษย์ คือพลเมืองของประเทศ หากพ้นโทษก็ต้องกลับคืนสู่สังคม

นอกจากนี้ผู้ที่ต้องถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนระหว่างพิจารณาคดีในศาล เขาเหล่านั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากต้องเสียชีวิตในเรือนจำ ผู้ที่ต้องถูกเพ่งเล็งก็คือ เจ้าหน้าที่ และมาตรฐานความปลอดภัย ความจำเป็นในการพิสูจน์ความตายจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะนั่นคือ ความตายที่ไม่มีใครเห็นนอกจากคนในเรือนจำ การชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตาย จึงเป็นเพียงมาตรการเดียวที่มีอยู่ในขณะนี้ที่จะทำให้ญาติผู้ตายได้รับความเป็นธรรม

"โอกาสที่จะมีก็เพียงน้อยนิด แล้วไม่คิดจะมอบให้เขาอีกหรือ?"

หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
ประชาไทออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด