จี้ คสช.หยุดเรียกรายงานตัว-สอดแนมชีวิตส่วนตัว-กลับเข้ากรมกอง

11 พ.ย. 2558 รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พะเยาว์ อัคฮาด ญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม พ.ค. 53 สาวตรี สุขศรี อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. และธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารวารสารฟ้าเดียวกัน ร่วมแถลงข่าวที่ห้องจารุพงษ์ มธ. ท่าพระจันทร์ เรียกร้องให้ คสช. กองทัพ และผู้เกี่ยวข้อง หยุดเรียกบุคคลใดๆ เข้ารายงานตัว เว้นแต่มีหมายของศาลโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงหยุดการสอดแนมชีวิตส่วนตัว การคุมประพฤติ หรือปฏิบัติการทางจิตวิทยาใดๆ กับบุคคลที่ไม่ได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุด และขอให้เรียกทหารกลับเข้ากรมกอง และปฏิบัติภารกิจจริงๆ ของตนตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย

ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าว เปิดให้บุคคลทั่วไปร่วมลงชื่อที่เพจของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM)

รังสิมันต์ ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า จุดประสงค์การแถลงข่าววันนี้ เพื่อสะกิดเตือนสังคมไทยว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งการมีทหารไปบ้านประชาชนถูกเรียกรายงานตัว การที่ผู้ปกครองซึ่งไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองถูกทหารเรียกตัว โทรมาคุย มาหาที่บ้าน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ

รังสิมันต์ กล่าวว่า ที่เลือกออกมาพูดวันนี้ ซึ่งเป็นช่วงหลังการเลือกตั้งในพม่าไม่นาน ต้องการชี้ว่า ขณะที่โลกมันหมุนไปในที่ดีขึ้น แต่ประเทศไทยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การคุกคามประชาชนยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

เขาชี้ว่า อยากให้สังคมกลับมามองเรื่องเดิมๆ ที่ยังเกิดขึ้น อยากให้สังคมรู้สึกอีกครั้งว่าเราควรหยุดวิธีการแบบนี้ได้หรือยัง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นแทบไม่ต่างจากระบบกฎหมายในสมัยอยุธยา หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีการคุกคามคนในครอบครัวที่ไม่ใช่คู่กรณีกับ คสช. เลย

"ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อนาคตเต็มไปด้วยความหวัง แล้วสังคมไทย อนาคตของเราคืออะไร" รังสิมันต์กล่าว

ธนาพล ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีของตนเองอาจจะเบาที่สุดแล้ว คือมีคนในชุดทหาร ขับรถฮัมวี่ มาหาทุกเดือน ซึ่งจริงๆ แล้วการที่มีทหารไปที่บ้านพลเรือนทุกเดือนนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ และที่ผ่านมา ก็มีหลายคนที่โดนแบบนี้และอาจจะโดนมากกว่านี้ด้วย

"บ้านเมืองมันไม่ปกติที่มันเป็นอย่างนี้ เพราะว่าผ่านไปปีกว่าๆ ทหารก็ยังทำ จนมันเป็นความเคยชินแล้ว ซึ่งเราอยากบอกว่า มันไม่ใช่ มันไม่ควรเป็นความเคยชิน" ธนาพล กล่าวและย้ำว่า อยากให้สังคมตระหนักว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้และทำอย่างต่อเนื่อง

แถลงการณ์เรื่อง การเรียกบุคคลเข้าพบทหาร หรือส่งทหารไปพบบุคคล

ตามที่ได้เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และหลังจากนั้นได้มีการจับกุม หรือเรียกนักวิชาการ สื่อมวลชน นักกิจกรรม นักการเมือง และประชาชนอีกจำนวนมากให้ไปรายงานตัว และบังคับปรับทัศนคติโดยเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือน ภายใต้การสั่งการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนั้น แม้การทำรัฐประหารจะผ่านมานานเกือบ 1 ปีครึ่งแล้ว แต่กลับยังมีปฏิบัติการของ คสช. ในลักษณะ “คุมประพฤติ” ผู้เคยถูกปรับทัศนคติดังกล่าว ด้วยการเรียกให้ไปพบเจ้าหน้าที่ทหารที่หน่วยเฉพาะกิจ ค่ายทหาร ที่ร้านกาแฟ หรือมิเช่นนั้นก็ส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปพบบุคคลเหล่านั้นที่บ้านหรือที่ทำงานของเขา ทั้งที่ผู้ถูกติดตามจำนวนมากไม่ได้เคลื่อนไหว แสดงออก หรือดำเนินกิจกรรมใดๆ อันเป็นความผิดต่อกฎหมาย หรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

พวกเราดังมีรายนามท้ายแถลงการณ์นี้ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของ คสช. นอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณประเทศชาติ เสียเวลาราชการไปโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังเป็นการ “คุกคาม” ผู้มีความเห็นต่าง สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้เกิดทั้งแก่บุคคลผู้ถูกตามตัวเอง และแก่คนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน

ในฐานะผู้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามตัว และในฐานะประชาชนผู้ไม่เคยเห็นด้วย ทั้งกับการรัฐประหาร และกับการคุมประพฤติหรือปฏิบัติการจิตวิทยาที่ทำกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ราวกับเขาเป็นอาชญากร จึงขอเรียกร้อง คสช. กองทัพ และผู้เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1. หยุดเรียกบุคคลใดๆ เข้ารายงานตัวไม่ว่า ณ สถานที่ใด หรือหยุดส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปพบบุคคลเหล่านั้นที่บ้าน บริษัทห้างร้าน หรือที่ทำงาน เว้นแต่มีหมายเรียก หรือหมายจับของศาลโดยชอบด้วยกฎหมาย

2. หยุดการสอดแนมชีวิตส่วนตัว การคุมประพฤติ หรือปฏิบัติการทางจิตวิทยาใดๆ กับบุคคลที่ไม่ได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดโดยกระบวนการยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากลว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว

3. เรียกทหารกลับเข้ากรมกอง และปฏิบัติภารกิจจริงๆ ของตนตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ การดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ เป็นไปตามกลไกปกติ และตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

แหล่งข่าว: 
ประชาไทออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด