'องค์กรเพื่อความโปร่งใส'เผยผลสำรวจว่าด้วยดัชนีการป้องกันคอร์รัปชันในกองทัพ ชี้ไทยได้ระดับ 'E' มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดทุจริต ร่วมกับ จีน ปากีสถาน ศรีลังกา ขณะที่ นิวซีแลนด์ เสี่ยงน้อยสุดในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก
เมื่อ 4 พ.ย. 2558 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เผยแพร่ “รายงานดัชนีป้องกันคอร์รัปชั่นในกองทัพ (Government defence Anti – Corruption Index - GI) ซึ่งจัดทำสำรวจการคอรัปชั่นในกองทัพ โดยมีคำถามย่อย 77 คำถามจากหลักเกณฑ์ทั้งหมด5 ด้านได้แก่ 1. ด้านการเมืองการปกครอง 2. ด้านงบประมาณ การคลัง 3. ด้านบุคลากร 4. ด้านการดำเนินงาน และ 5. ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง
โดยการสำรวจนี้ แบ่งตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ในส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการสำรวจทั้งหมด 17 ประเทศ โดยการจัดลำดับแบ่งเป็น 6 ระดับ A-F (จากดีที่สุดไปแย่ที่สุด)
การสำรวจครั้งนี้ "นิวซีแลนด์" เป็นประเทศเดียวที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม A คือโปร่งใสที่สุด รองลงมาคือ ออสเตรเลีย
ในขณะที่กลุ่มประเทศอย่าง อินโดนีเซีย อินเดีย และบังกลาเทศ อยู่ในระดับ D ซึ่งถือว่าในอันดับที่ดีกว่าไทย โดยประเทศไทยอยู่ในระดับ E ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดคอร์รัปชั่นในกองทัพ สำหรับกลุ่มประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกับไทย ได้แก่ จีน ปากีสถาน ศรีลังกา
ส่วนของกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด ได้ระดับ F จำนวน 2 ประเทศ คือ กัมพูชาและพม่า
ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าวระบุว่า ภายหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ในประเทศไทย การตรวจสอบกองทัพเป็นไปอย่างไม่มีอิสรภาพ โดยเฉพาะในการจัดสรรงบประมาณที่ขาดความโปร่งใส ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าจะมีการรัฐประหาร องค์กรตรวจสอบดูเเลเรื่องคอรัปชั่น อย่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ดูเหมือนจะดำรงสถานะเป็นผู้คุมกฎหมายในเรื่องนี้ แต่ภายหลังการรัฐประหารบทบาทองค์กรก็ดูจะลดลงไปด้วย ซึ่งรวมไปถึงการขาดศักยภาพในการตัดขั้วอิทธิพลทหารต่อการขยายอำนาจของอาชญากรรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้และกลุ่มทหารพราน
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ มองว่า การคอรัปชั่นของไทยไม่ใช่แค่เพียงบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ ทว่ายังกัดกร่อนฐานความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชนชาวไทยลงไปด้วย
ทั้งนี้ทางองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้เสนอแนะให้ทางการไทยต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในเรื่องต่างๆ เช่น
1. เสนอให้กลับมาจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนตรวจสอบดูเเลเรื่องนโยบายและการเงินของกองทัพ (RE-ESTABLISH CIVILIAN OVERSIGHT OVER THE DEFENCE POLICY AND BUDGET) แนะนำให้ทางรัฐบาลจัดทำรายการการอนุมัติงบประมาณ รวมไปถึงรายละเอียดในการจัดซื้อต่างๆ เช่น เรื่องการบำรุง การฝึก (อาวุธยุทโธปกรณ์) เงินเดือนต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้องค์กรภาคประชาชนตรวจสอบได้ว่า งบถูกใช้ไปตามเป้าและความต้องการของประเทศจริงๆ หรือไม่
2. การขจัดกลุ่มมาเฟียในกองทัพ (ELIMINATING ORGANISED CRIME IN THE MILITARY) จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า มีเจ้าหน้าที่ในกองทัพเกี่ยวพันกับการกระทำผิดกฎหมายหลายรูปแบบเช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้าแรงงานมนุษย์ การพนัน เป็นต้น จึงต้องการให้ทางกองทัพมีมาตรการในการจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง พบที่ผ่านมาการติดสินบนเจ้าหน้าที่ ทำให้ยังสามารถดำเนินการด้านอาชญากรรมเหล่านี้ได้
3. การออกกฎเกณฑ์เพื่อขจัดการเล่นพรรคเล่นพวก (Establish Clear Criteria for Promotions to avoid nepotism) โดยเฉพาะในการคัดเลือกบุคลากรระดับกลางถึงสูงภายในกองทัพ พบว่าที่ผ่านมายังขาดความโปร่งใสไม่สามารถตรวจสอบได้ ทางองค์กรจึงเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการรับสมัครบุคลากรเข้ารับตำแหน่ง โดยให้มีอิสระ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
และ 4. รายงานยังกล่าวถึงลักษณะการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพที่ขาดความโปร่งใส โดยเฉพาะในกลุ่ม นายหน้าที่มีการฮั้วประมูลกันไว้แล้ว ก่อนที่รัฐมนตรีฯ กลาโหมจะได้รับทราบคำขอจัดซื้อของรายการนั้นๆ เสียอีก ทำให้การจัดซื้อในแต่ละครั้งมีต้นทุนสูงกว่าปกติถึง 30-40%
โดยทางองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ แนะว่า หากรัฐต้องการสร้างความเข้มเเข็งให้เกิดขึ้นในองค์กร ทุกการจัดซื้อต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส องค์กรภายนอกสามารถตรวจสอบอย่างอิสระ ไม่ถูกคุกคาม และให้มีการลงโทษอย่างจริงจังในกรณีที่พบการทุจริต
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และ คสช. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงผลสำรวจดังกล่าวว่า า ยังไม่ทราบรายละเอียด ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบก่อนว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติใช้หลักเกณฑ์อะไรในการประเมิน และมีจุดไหนบ้างที่พาดพิงกองทัพบก หลังจากนั้นจึงจะรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาให้ทราบ ซึ่งวันนี้ก็มีหลายฝ่ายโทรศัพท์เข้ามาสอบถามข้อมูลในส่วนนี้เช่นกัน
อ่านประกอบ:http://government.defenceindex.org/view-report-dataset/