
หลังจากรอกันมานานถึง 10 ปี กับการแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ในที่สุดวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่ (แก้ไขปี 2558 )ก็มีผลบังคับใช้ตามราชกิจจานุเบกษา โดยพ.ร.บ.ที่แก้ไขใหม่มี 6 เรื่อง (ดูตารางประกอบ)
วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ทหารไทย จำกัด ได้จัดเสวนาเรื่อง”เตรียมพร้อมรองรับพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปี 2558″ โดยมีวิทยากรจากบลจ.ทหารไทยฯ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและชี้ข้อดีของพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับแก้ไขใหม่
“ดร.สมจินต์ ศรไพศาล” กรรมการผู้จัดการบลจ.ทหารไทยฯ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่มี 2 เรื่อง คือ มาตรา (10 ) ที่เปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถออมในอัตราที่สูงขึ้นและมากกว่าที่นายจ้างสมทบได้ และมาตราที่ (23/4) ที่เปิดโอกาสของการออมให้ต่อเนื่องยิ่งขึ้น โดยสมาชิกกองทุนที่มีเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดสามารถขอโอนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF)ได้
ข้อดีของการเพิ่มอัตราการออมที่สูงขึ้น จะทำให้มีเงินออมเพียงพอสำหรับไว้ใช้หลังเกษียณ ประโยชน์นอกเหนือจากการออมที่มากขึ้นคือ การประหยัดภาษี เพราะกองทุนสำรองฯก็เหมือนกองทุนRMF และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) ที่สามารถนำเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีได้
ทั้งนี้ดร.สมจินต์แนะนำให้ผู้ที่ออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี ควรโอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองฯไปพักไว้ในกองทุนRMF เพราะนอกจากจะยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนเดิมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนได้ด้วย เพราะกองทุนRMF มีความยืดหยุ่นเรื่องนโยบายการลงทุนมากกว่า อีกทั้งเจ้าของเงินสามารถเลือกแผนลงทุนได้เองตามระดับความเสี่ยงที่รับได้
“การออมขั้นต่ำ 10 % ในปัจจุบันถือว่าน้อยไปแล้วเพราะผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่าง ๆมีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้นการออมขั้นต่ำ 15-20 % ของรายได้ ถือเป็นความจำเป็นเพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ”
ดร.สมจินต์กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบมีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 8 แสนล้านบาท พบว่ามีการลงทุนในตราสารหนี้สัดส่วน 80 % และลงทุนในหุ้น 20 % ด้านผลตอบแทนของกองทุนอยู่ที่ประมาณ 3-4 % ต่อปี ในจำนวนนี้มีสมาชิกที่คงเงินไว้ในกองทุนกว่า 8,000 คน เป็นเงินรวม 1.3 แสนล้านบาท
มาที่ตัวแทนจาก ก.ล.ต. ซึ่งเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการผลักดันให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดย”จอมขวัญ คงสกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและพัฒนาธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงานก.ล.ต. กล่าวว่าปัญหาที่พบจากพ.ร.บ.ฉบับเดิม มี 3 เรื่อง คือ ” ออมสั้น ออมน้อย และออมไม่เป็น” ดังนั้นพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขใหม่จึงปิดจุดบอด 3 เรื่อง โดยแก้ไขให้เป็น”ออมมาก ออมนาน และออมเป็น” โดยก.ล.ต.พบว่าปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนสำรองฯเพียง 16 %เท่านั้นที่ลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง
“การออมขั้นต่ำเดือนละ 4,000 บาท ไม่พอสำหรับเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ ดังนั้นก.ล.ต.ขอเรียกร้องให้นายจ้างแก้ไขข้อบังคับกองทุนสำรองฯเพื่อให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนได้มากกว่า 5 % ของรายได้ และตอนนี้มีนายจ้างมาแก้ไขข้อบังคับกองทุนกับก.ล.ต.แล้วประมาณ 700 บริษัท ”
“จอมขวัญ”กล่าวว่าอีกเรื่องที่ถือว่าเป็นสิ่งดี ๆสำหรับพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับแก้ไขใหม่ คือ ก.ล.ต.ได้เพิ่มทางเลือกให้ลูกจ้างมีทางเลือกออมเงินอย่างต่อเนื่อง สามารถโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยังกองทุนRMF หากนายจ้างเลิกกองทุน หรือลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ
โดยลูกจ้างที่โอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปไว้ที่กองทุน RMF ตามเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะได้รับประโยชน์จากการออมเงินต่อเนื่องในระยะยาว มีอิสระในการเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเทียบเท่ากับการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ ไม่ถูกบังคับให้ต่อเนื่องเหมือนกองทุน RMF ทั่วไป สามารถนับอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องกับกองทุน RMF ได้ เพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษีเมื่อมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด โดยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โอนไปนี้ไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลประจำปี
ขณะที่ในเบื้องต้นบลจ.ทหารไทยฯ และบลจ.ทิสโก้ฯ พร้อมที่จะรับโอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยัง กองทุนRMF ที่มีอยู่เดิม โดยจะมีระบบแบ่งแยกบัญชีและทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนออกจากกองทุน RMF ปกติ ในขณะที่บริษัทจัดการกองทุนรวมอื่น ๆ คาดว่าจะทยอยปรับปรุงระบบงานภายในเพื่อรองรับการบริการนี้ตามมา
ปิดท้ายที่”นิชชา พรตปกรณ์” ประธานคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกบข.เล่าประสบการณ์และมุมมองว่า ปัจจุบันกบข.มีพนักงานกว่า 200 ชีวิต บอกว่ากบข.ได้ยื่นเรื่องเพื่อแก้ไขข้อบังคับสำหรับให้สมาชิกสะสมเงินเพิ่มแล้ว และอยากให้สมาชิกองทุนออมมากกว่า 15 % ของรายได้ เพราะการออม 15 % เป็นการออมเพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้เท่านั้น
ขณะที่ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานกบข. กำหนดให้สมาชิกปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ 12 ครั้งต่อปี โดยมีสัดส่วนของพนักงานที่เลือกแผนการลงทุนเอง 70 %
ประธานคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกบข.กล่าวทิ้งท้ายให้ขบคิดว่า “อย่าออมเพื่อประหยัดภาษีอย่างเดียว แต่ให้คำนึงถึงการออมเพื่อสำรองเงินไว้ใช้ยามเกษียณด้วย”
บทสรุปจากงานเสวนาในครั้งนี้ได้ สิ่งที่วิทยากรสะท้อนได้ชัดที่สุด คือ มนุษย์เงินเดือนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรใช้ประโยชน์จากพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขใหม่นี้ ทั้งการเพิ่มสัดส่วนการออมได้มากขึ้นโดยมีเพดานสูงสุดที่ 15 % ของรายได้ นอกจากนี้สมาชิกที่พ้นสภาพจากที่ทำงานเดิมสามารถโอนเงินสะสมไปยังกองทุนRMF ได้ เพื่อคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้เช่นเดิม ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้มีชีวิตในบั้นปลายแบบ”เกษียณสุข”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,104 วันที่ 12 – 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558