13 พ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวได้ราบแจ้งว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา หน้าทำเนียบรัฐบาล นางสาวนันทวัน หาญดี นายอุบล อยู่หว้า นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา นายนิมิตร์ เทียนอุดม นายสามารถ สะกวี และนายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนรวม 9 องค์กร นำโดยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน จำนวนประมาณ 150 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.จีเอ็มโอซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อบรรษัท รวมถึงการคัดค้านการเข้าร่วม ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ซึ่งจะทำให้เกิดการผู้ขาดเมล็ดพันธุ์และผลกระทบอื่นๆที่เกิดจากการขยายสิทธิผูกขาดด้านทรัพย์สินทางปัญญา
โดยก่อนการยื่นจดหมาย เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนได้จัดแสดงกิจกรรมเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการคัดค้าน โดยจัดให้มีชายแต่งตัวด้วยกางเกงทหารลายพรางใส่เสื้อสูทสีดำ สวมหมวกงอบชาวนาที่คาดด้วยสีธงชาติสหรัฐ แสดงท่าเหยียบย่ำพืชผลของเกษตรกร เพื่อสะท้อนถึงการเหยียบย่ำอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหาร
จากนั้นได้จัดแสดงการคัดค้านเชิงสัญลักษณ์และการอภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว และรวมถึงการแสดงความเห็นคัดค้านการเข้าร่วม TPP แล้ว ตัวแทนของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 9 องค์กรซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร, กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ประเทศไทย, เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์, เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ ได้ยื่นจดหมายคัดค้าต่อ นายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ทำเนียบรัฐบาล เป็นตัวแทนของรัฐบาลในการรับจดหมายดังกล่าว
โดยนายสุขสวัสดิ์ แจ้งแก่ผู้ชุมนุมว่าจะได้จัดส่งจดหมายฉบับดังกล่าวไปยังเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
จดหมายที่ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีมีข้อความดังต่อไปนี้
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
912 ซอยงามวงศ์วาน 31 ซอยย่อย 7
ถนนงามวงศ์วาน อำเภอเมือง
จังหวัดนนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 02-5911195
13 พฤศจิกายน 2558
เรื่อง ขอให้ชะลอการนำร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และไม่เข้าร่วมกับความตกลง TPP
เรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ตามที่มีการเสนอร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ.... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้จัดส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเพื่อขอความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตราเป็นกฎหมายต่อไปนั้น
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ดังรายนามผู้ลงนามในจดหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน และองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ได้ติดตามพัฒนาการและเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมานับตั้งแต่ พ.ศ.2544 เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ มีเนื้อหาที่บกพร่องอย่างร้ายแรงทั้งในเชิงกระบวนการพัฒนากฎหมายและเนื้อหา ดังต่อไปนี้
1. สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกจากการพิจาณาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 เนื่องจากมีการรวบรัดส่งไปให้พิจาณาอย่างเร่งรีบ และมีเนื้อหาที่เขียนเปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบในกรณีที่เกิดความเสียหายจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) และคณะกรรมการยกร่างและกระบวนการร่างกฎหมายนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมอย่างไม่อาจยอมรับได้
2. ร่างกฎหมายนี้ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรียังคงมีความบกพร่องอย่างร้ายแรงซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร วิถีชีวิตเกษตรกร ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และจะทำลายเศรษฐกิจการส่งออกผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารอย่างมิอาจประเมินมูลค่าได้ มีรายละเอียดดังนี้
2.1. มีเจตนาเพื่อเปิดเสรีพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) โดยมิได้นำหลักการที่สำคัญ ‘หลักการที่ว่าด้วยความปลอดภัยไว้ก่อน’ ในอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีมาปรับใช้ในการปกป้องความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการบริโภคพืชจีเอ็มโอ เช่น มะเร็ง ปกป้องทรัพยากรชีวภาพ รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
2.2. เปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์สามารถปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมได้อย่างเสรี และไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs)
2.3. มีเจตนาให้มีการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) อย่างแพร่หลาย ทำให้พืชจากเกษตรอินทรีย์อาจถูกปนเปื้อนจากพืชจีเอ็มโอ และทำให้สินค้าทางการเกษตรส่งออกของไทยต้องประสบปัญหาในการส่งออกในที่สุด
2.4. ทำให้ความหลากหลายของชีวภาพของแผ่นดินไทยตกอยู่ในการผูกขาดของอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลุกในฤดูกาลถัดไปได้ ต้องซื้อใหม่ทุกรอบการผลิต ที่สำคัญเกษตรกรไม่สามารถขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ แบ่งปันเชื้อพันธุ์ตามวิถีการผลิตที่เคยเป็นมาได้เลย ซึ่งเป็นการทำลายสิทธิเกษตรกรและซ้ำเติมชะตากรรมให้เลวร้ายขึ้นไปอีก
ข้าพเจ้าผู้มีรายนามท้ายจดหมายฉบับนี้ขอนำเรียน ฯพณฯ เพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
1) หยุดการนำร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
2) จากนั้นมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำร่างพ.ร.บ.นี้ไปจัดรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรรายย่อย ภาคประชาสังคม นักวิชาการอิสระ และภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบ เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้น โดยนำหลักการป้องกันไว้ก่อน (Precaution Principle) การป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การชดเชย และเยียวยาความเสียหายตามหลักผู้ก่อมลภาวะเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) การป้องกันปัญหาการปนเปื้อนซึ่งจะกระทบต่อการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ และทรัพยากรชีวภาพของชาติโดยภาพรวม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย มาบรรจุในร่างกฎหมายฉบับนี้
3) ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ ขอให้ ฯพณฯ มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 25 ธันวาคม 2550 มาเป็นแนวทางในการอนุญาตให้มีการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรม ตามข้อเสนอของ "คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย" ได้มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557
ทั้งนี้ การอนุญาตให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดและการปลูกจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ มีโอกาสจะสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย เกษตรอินทรีย์ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และผลต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของประเทศดังที่ประเทศในสหภาพยุโรปมากกว่า 16 ประเทศประกาศแบน และผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั้งในยุโรป(และมากกว่าครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา) ปฏิเสธอาหารที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม เป็นต้น
4) นอกจากนี้ ท่ามกลางการสร้างกระแสจากภาคธุรกิจส่งออกให้รัฐบาลพิจารณาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) โดยอ้างว่า ไทยจะตกขบวนและเสียประโยชน์ทางการค้านั้น ซึ่งในความตกลงดังกล่าวมีเนื้อหาที่จะบังคับให้ไทยยอมรับการเปิดเสรีพืชจีเอ็มโอและเปิดช่องให้อุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ขอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการพิจารณาเรื่องนี้ จนกว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(นางสาวนันทวัน หาญดี)
ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ , มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ประเทศไทย, เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอรฮอล์, เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ