ข่าวสารการประท้วงทั่วไทย 9-15 พ.ย. 2558

ชาวบ้านปทุมฯร้องสื่อกองถ่ายละคร ขอปิดถนนหกโมงเช้าถึงหกโมงเย็น

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้ถนนปทุมธานี-บางปะหัน มุ่งหน้าปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 347 ม.4 ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ว่ามีการปิดช่องการจราจรทางด่วน ไปเพื่อถ่ายทำละคร ทำให้ผู้ใช้รถที่วิ่งผ่านมาจุดนี้ ต้องชะลอตัวเพื่อใช้ทางคู่ขนานแทน

ผู้สื่อข่าวจึงไปสอบถามดู ก็พบว่า มีการปิดการจราจรถ่ายละครจริงของช่องโมโน29 เรื่อง หักเหลี่ยมมัชจุราช แต่มีการทำหนังสือถึง พ.ต.อ.สาโรจน์ คุ้มทรัพย์ ผู้กำกับ สภ.สามโคก แล้ว ขอถ่ายทำละครเป็นเวลา 2 วันตั้งแต่ 06.00 น.-18.00 น. แต่ก็ไม่นึกว่า จะมีประชาชนจะเดือดร้อนในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งเช้าและเย็น จึงได้ร้องเรียนมาด้าน พ.ต.ท.ชัยวัฒน์ สลักคำ สว.อก. สภ.สามโคก รักษาการหัวหน้างานจราจร บอกว่า ที่ตนเองต้องปิดกั้นจราจร เพื่อเก็บกวาดดินที่ตกอยู่บนพื้นถนนส่วนที่มีการปิดการจราจร เพื่อถ่ายทำละครนั้น ทางกองถ่ายได้ทำหนังสือขออนุญาตผู้กำกับแล้ว และตนเองก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยการจราจรช่วงเวลาการถ่ายทำละครด้วยนายชัยวัฒน์ ปานเพชร หัวหน้าหมวดทางหลวงปทุมธานี บอกว่าการปิดกั้นถนนถ่ายละครนั้นครั้งนี้ ทางแขวงการทางปทุมธานี ไม่ได้รับหนังสือในการขออนุญาตจากกองถ่ายละคร จนมีประชาชนร้องเรียนไป ตนจึงลงมาดูก็พบว่า มีการทำละครจริง แต่เมื่อกองถ่ายได้ตั้งอุปกรณ์ถ่ายทำแล้ว ตนจึงชี้แจงกับกองถ่ายว่า ถ้าจะปิดถนนถ่ายทำละครเช่นนี้ ก็ให้ทำหนังสือถึงแขวงการทางปทุมธานีก่อน และขอว่าในช่วงเวลาเร่งด่วนคือ เวลาเช้าและเย็น จะมีประชาชนใช้ถนนเส้นนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อไปทำงาน ก็ให้กองถ่ายละหยุดถ่ายไปก่อน ให้มาถ่ายทำช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีรถใช้ถนน ด้านกองถ่ายละครก็เข้าใจ และรับปากว่าจะทำหนังสือถึงแขวงการทางทันที

(Nation TV, 9/10/2558)

ชาวบ้านร้องเรียนพระต่างด้าวเรื่ยไรเงิน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 9 พ.ย. ที่วัดตะล่อม แขวงคลองขวาง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ พ.ท.สุรพร สุธรานันท์ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 9 (ผบ.ชป.พท.ป.พัน.9) พร้อมด้วย พ.ต.อ.พิทักษ์ สุทธิกุล ผกก.สน.บางเสาธง พ.ต.ท.นครินทร์ งามถ้อย รอง ผกก.สส.สน.บางเสาธง ร.ต.อ.วิจารย์ แก้ววิเศษ รอง สว.กก.2 บก.สส.สตม. นายโฆษิต อักษรชาติ ผอ.เขตภาษีเจริญ เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และพระมหาบุญถึง ชุติน ธิโร เจ้าอาวาสวัดตะล่อม ร่วมกันจัดทำประวัติพระสงฆ์ที่พักอยู่ในวัดตะล่อม ภายหลังมีชาวบ้านร้องเรียนว่า มีบุคคลต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยอยู่ในวัดดังกล่าว มีการแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ และเดินเรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน

ทั้งนี้ ภายในวัดดังกล่าว มีพระสงฆ์และสามเณรอยู่หลายสัญชาติรวมไทย ประมาณ 407 รูป เจ้าหน้าที่ทหาร จึงได้สนธิกำลังร่วมกับตำรวจ สน.บางเสาธง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน บก.สส.สตม. สำนักงานเขตภาษีเจริญ เจ้าหน้าที่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดวางกำลังประจำจุดตรวจเอกสาร ประกอบด้วย หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ตและวีซ่า) หนังสือสุทธิ และเอกสารยืนยันกรณีเข้ามาเรียนหนังสือในประเทศไทย จำนวน 5 จุด แบ่งเป็น จุดที่ 1-3 สำหรับพระสงฆ์และสามเณรจากประเทศพม่า จุดที่ 4 สำหรับพระสงฆ์และสามเณรจากประเทศอื่นๆ อาทิ บังคลาเทศ กัมพูชา ลาว เวียดนาม อินเดีย และจุดที่ 5 เป็นจุดสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่บก.สส.สตม.จะทำการตรวจหนังสือเดินทางอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบว่าพระสงฆ์ที่ได้รับการตรวจเข้าเมืองและมีสิทธิอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องหรือไม่ เบื้องต้น ไม่พบการกระทำผิด มีเพียงพระสงฆ์ที่ไม่ได้ยื่นเอกสารยืนยันตัวตนกับทางวัดตะล่อมก่อนที่จะมีการตรวจ จำนวน 4 รูป ทำให้ไม่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนของวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ลงชื่อเพิ่มในทะเบียนให้

โดย พ.ท.สุรพร เปิดเผยว่า การตรวจสอบเอกสาร เพื่อจัดทำประวัติพระสงฆ์วันนี้ สืบเนื่องจาก มีประชาชนร้องเรียนมาว่า มีพระสงฆ์ต่างด้าวเข้ามาอยู่ในวัด แถมยังเรี่ยไรเงินชาวบ้าน ซึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ตรวจสอบพระสงฆ์ที่พักอาศัยในวัดตะล่อมอย่างละเอียด ปรากฏว่า มีพระสงฆ์ชาวกัมพูชา จำนวน 2 รูป ที่หนังสือเดินทางหมดอายุ เจ้าหน้าที่จึงให้สึกและดำเนินคดี ก่อนประสานสตม.ผลักดันกลับประเทศไป เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดอีก เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงมีมาตรการจัดระบบพระสงฆ์ในวัดนี้ขึ้น เพื่อตรวจสอบรายชื่อพระสงฆ์ทุกรูปในวัดรวมถึง หนังสือเดินทางและเอกสารยืนยันจากสถานศึกษา โดยก่อนหน้านี้ ทางวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมกัน มีมติให้ทางวัดจัดทำรายชื่อพระสงฆ์ งดรับพระจากต่างประเทศเพิ่มและจะต้องไม่เกิดการทำผิดอีก โดยหลังจากตรวจรายชื่อวันนี้แล้ว สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบว่า พระสงฆ์ที่แจ้งว่ามาเรียน เรียนจริงหรือไม่ จากนั้น จะจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อหามาตรการรองรับหากมีการกระทำผิดต่อไป

ด้าน พระมหาบุญถึง ชุติน ธิโร เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีพระสงฆ์จากต่างประเทศเข้ามาพักอาศัยในวัดตะล่อม ประมาณ 375 รูป แบ่งเป็น พม่า 248 รูป พม่า(อาระกัน) 71 รูป บังคลาเทศ 23 รูป กัมพูชา 28 รูป ลาว 2 รูป เวียดนาม 2 รูป และอินเดีย 1 รูป ส่วนพระสงฆ์ไทยมี 32 รูป รวมทั้งหมด 407 รูป กรณีที่มีชาวบ้านร้องเรียนว่ามีคนต่างด้าวแต่งกายคล้ายพระสงฆ์จากวัดไปเรี่ยไร อาตมาขอชี้แจงว่า ไม่มีการเรี่ยไรแต่อย่างใด มีเพียงพระสงฆ์ทุกรูปต้องบิณฑบาตช่วงเช้าในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านร้องว่า มีรถแท็กซี่มารับส่งพระสงฆ์ที่วัดนั้น มีจริง แต่ไม่ได้มาประจำ เพราะของพระสงฆ์มีมาก ทำให้เดินทางไม่สะดวก ทั้งนี้ พระสงฆ์ต่างประเทศที่พักอาศัยในวัด ส่วนใหญ่เดินทางมาเพื่อศึกษาศาสนา เนื่องจากอยู่ใกล้กับสถานศึกษา คือ ม.มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ศูนย์วัดศรีสุดารามวรวิหาร และที่อื่นที่ห่างไกล เช่น ม.มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ก่อนรับทางวัดมีกฎระเบียบและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย โดยการตรวจสอบ ทั้งหนังสือเดินทาง หนังสือสุทธิ และเอกสารทางการเรียน แต่ตอนนี้ต้องหยุดรับตามมติที่ประชุม

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10/11/2558)

ประชาคมล่ม! ชาวบ้านหวั่นมลพิษ ฮือต้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่พัทลุง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 พ.ย.58 ที่ศาลากลางหมู่บ้าน หมู่ 5 ต.พนมวังก์ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง นายเกลื่อม พูลสง ที่ปรึกษานายกอบจ.พัทลุง เป็นประธานในการในการเวทีประชาคม การก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า จ.พัทลุง โดยมีบริษัทฟลอร่า เทคโนโลยี จำกัด ร่วมกับ อบต.พนมวังก์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดขึ้น มีประชาชนในพื้นที่หมู่ 1- 8 ต.พนมวังก์ อ.ควนขนุน ประมาณ 500 คน เข้าร่วมทำประชาคม

ขณะที่นายเกลื่อม พูลสง ที่ปรึกษานายก อบจ.พัทลุง เปิดการประชุม แล้วชี้แจงกับชาวบ้านถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า และผลประโยชน์ที่ท้องถิ่น ประชาชนจะได้รับจากการก่อสร้างโรงงานดังกล่าว ได้มีกลุ่มชาวบ้านทั้งชายและหญิงกรูกันเข้าไปในศาลากลางหมู่บ้าน พร้อมทั้งตะโกนว่า พวกตนไม่ต้องการโรงงานกำจัดขยะ ทำให้เหตุการณ์ตึงเครียด ท่ามกลางความตื่นตกใจของ หัวหน้าส่วนราชการที่เข้าร่วมการทำเวทีประชาคมในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม นายสมชาติ รักชุม นายก อบต.พนมวังก์ ได้กล่าวกับชาวบ้านผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะ ว่า การก่อสร้างโรงงาน จะต้องผ่านการทำเวทีประชาคมของชาวบ้าน หากชาวบ้านส่วนใหญ่ลงมติคัดค้าน การดำเนินงานก่อสร้างโรงงานก็จะยุติลงทันที ขอให้ชาวบ้านรับฟังเหตุผลของตัวแทนบริษัทฟลอร่าฯ และหัวหน้าส่วนราชการ แต่ชาวบ้านกลับไม่ยอมฟัง พร้อมทั้งกรูกันเข้ามาในศาลา จนเหตุการณ์ส่อเค้าวุ่นวาย ทางด้านนายเกลื่อม เห็นท่าไม่ดีจึงได้สั่งปิดการทำเวทีประชาคม ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจของกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาคัดค้าน

นายฉลาด มากรอด อายุ 45 ปี แกนนำชาวบ้านที่คัดค้าน เผยว่า การก่อสร้างโรงงานกำจักขยะมูลฝอยแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า จ.พัทลุง ในครั้งนี้ จะสร้างมลพิษให้กับประชาชนใน ต.พนมวังก์ และพื้นที่ข้างเคียงอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ก่อนหน้านี้พวกตนได้เข้าไปร้องขอนายพสิษฐ์ ปานเพชร กำนัน ต.พนมวังก์ และนายสมชาติ รักชุม นายก อบต.พนมวังก์ ให้ยุติการจัดทำเวทีประชาคม แต่เมื่อยังดึงดันทำประชาคม พวกตนและชาวบ้านจึงลุกฮือขึ้นคัดค้านดังกล่าว

(ไทยรัฐ, 10/11/2558)

โวยโรงงานบดอัดแป้งมัน ปล่อยลอยฟุ้ง-หายใจขัด

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านหมู่ 5 ต.หนองปากโลง อ.เมือง จ.นครปฐม กว่า 200 คน เข้ายื่นหนังสือให้นายชาติชาย อุทัยพันธุ์ ผวจ.นครปฐม เพื่อร้องทุกข์กรณีโรงงานบดอัดแป้งมันสำปะหลังแห่งหนึ่ง ปล่อยฝุ่นแป้งลอยฟุ้งไปทั่วบริเวณสร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้าน เนื่องจากฝุ่นแป้งลอยตกลงไปติดเสื้อผ้าที่ตากไว้ ตกใส่รถยนต์-หลังคาบ้าน โดยเฉพาะช่วงอากาศหนาวและมีฝนตกลงมาเล็กน้อย ฝุ่นแป้งจะติดตามเสื้อผ้า แต่เนื่องจากผวจ.นครปฐม ติดราชการจึงได้มอบให้นายกำธร ตุ้มสวัสดิ์ รอง ผวจ.นครปฐม เป็นตัวแทนรับมอบ

นายประสิทธิ์ บุญญะทวีวัฒน์ อายุ 70 ปี บิดาของเซียนพระชื่อดังในนครปฐม ซึ่งมีบ้านอยู่ตรงข้ามกับโรงงาน กล่าวว่า ฝุ่นแป้งจากโรงงานลอยเข้ามาถึงบ้านของตน ทุกคนในบ้านได้รับความเดือดร้อน กระทบต่อระบบหายใจ จนต้องเข้ารับการผ่าตัดโพรงจมูกลูกหลานหายใจติดขัดกันไปหมด เรื่องนี้มีการร้องเรียนตั้งแต่ปี 38 จนถึงปัจจุบันยังไม่แก้ไข ชาวบ้านไม่ได้ต้องการให้ปิดโรงงานแต่ขอให้แก้ไขให้เรียบร้อย ขณะที่ชาวบ้านอีกคนบอกว่าเดือดร้อนมานาน ร้องเรียนไปที่ไหนก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนไปตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงศูนย์ดำรงธรรม แต่ไม่เป็นผลทุกหน่วยงานผลักความรับผิดชอบ ปัจจุบันต้องเลือกตากผ้าเวลาที่โรงงานหยุดผลิตส่วนหลังคาบ้านต้องฉีดน้ำล้างทุกวัน หากปล่อยไว้จะสะสมเป็นแผ่นหนา เวลาลมพัดจะปลิวเข้าบ้านเข้าจมูก เข้าคอ เกิดปัญหากับระบบหายใจ จึงอยากให้ผู้มีอำนาจช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านด้วยอย่าปล่อยให้ทุกคนตายผ่อนส่ง

(เดลินิวส์, 10/11/2558)

ชาวบ้านล่ารายชื่อต่อต้านโรงคัดแยกขยะ

กรณีบ้านป่าตึงน้อย หมู่ที่ 1 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านได้ขึ้นป้ายคัดค้านไม่เอาขยะทางเข้าหมู่บ้าน หลังจาก อบจ.เชียงใหม่ได้เสนอบริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้ามาดำเนินการจัดเก็บและทำโรงคัดแยกขยะในพื้นที่ครั้งที่ 4 นายทอง พวงเสน ที่ปรึกษาคณะกรรมการหมู่บ้าน พร้อมชาวบ้านบางส่วนกล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านทุกครัวเรือนกว่า 200 มีมติจากการประชาคมกันไปเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ศาลาอเนกประสงค์ดงหอของหมู่บ้าน โดยเป็นตัวแทนบ้าน 1 คน เพื่อลงความเห็นไม่ยอมรับการเปิดโรงงานคัดแยกและทิ้งขยะ นับเป็นครั้งที่ 4โดยบริษัทเดิมที่เคยดำเนินการ ทั้งนี้เกิดปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ กลิ่นขยะ สุขภาพ จากการฝังกลบขยะต่างๆ ทำให้ชาวบ้านไม่เกิดความเชื่อมั่นที่ต้องการให้กลับมาเปิดอีกครั้ง โดยเฉพาะบริษัทดังกล่าวที่ขาดคุณภาพมาตรฐานในการจัดการจนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ แล้วยังมีหมู่บ้านใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อยนับพันครัวเรือน ซึ่งทุกคนทุกหมู่บ้านทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ก็ไม่เห็นด้วยและคัดค้านร่วมกันที่จะไม่รับการเปิดโรงคัดแยกและทิ้งขยะเป็นครั้งที่ 4

อย่างไรก็ตาม นายทองกล่าวอีกว่า ทางชาวบ้านวอนทางนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ช่วยเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้าน ขณะนี้ได้ล่ารายชื่อชาวบ้านทุกหลังคาเรือน ซึ่งทุกคนคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะให้เปิดโรงงานกำจัดขยะในรอบที่ 4 และมีการทำประชาคมไปแล้ว เพื่อเสนอความเดือดร้อนและไม่ยอมรับของประชาชน ให้ยุติการดำเนินการลดผลกระทบต่อชาวบ้าน ซึ่งก่อนนี้มีการขึ้นป้ายรอบหมู่บ้านแต่ก็ถูกลักขโมย ก็ร่วมกันมาทำติดกันใหม่ พร้อมได้ยกเลิกคณะกรรมการจัดเก็บขยะแต่คงคณะกรรมการหมู่บ้านไว้ ตอนนี้ชาวบ้านจะเดินหน้าให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ยอมรับให้เป็นพื้นที่รับขยะอีกครั้ง

ด้านนายเฉลิม สารแปง นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด กล่าวว่า หลังจากที่มีข่าวชาวบ้านไม่ยอมให้นำขยะมาทิ้งแล้วทาง อบจ.เชียงใหม่อ้างว่า ได้ทำบันทึกความร่วมมือการจัดการขยะมูลฝอยในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 4 อำเภอประกอบด้วย อ.ดอยสะเก็ด สันกำแพง สันทราย และแม่ออน เพื่อจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยตามระเบียบกฎหมาย ตามแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ทางตนในฐานะเป็นนายกเมื่อชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ไม่เห็นด้วย จึงไม่ได้ไปร่วมลงนามด้วย กลับถูกต่อต้านว่าตนเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับทาง อบจ. ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงทาง อบจ.ต้องมาสอบถามคนในพื้นที่ก่อน จึงอยากให้หน่วยงานที่จะเข้าทำขยะให้มาสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ก่อน เพราะในอดีตที่ผ่านมาเคยถูกชาวบ้านปิดโรงงานมา 3 ครั้งแล้ว

(ไทยรัฐ, 10/11/2558)

ถนนพังหนักมาก! 30 ปีไม่เคยซ่อมบำรุง ชาวบ้านท่าแซะ โวย ขาดคนซ่อมแซม

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 58 ชาวบ้านจากหมู่ 8 ต.ท่าข้าม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ร้องทุกข์ความเดือดร้อนเรื่องถนนลาดยาง สายเขาพาง-บ้านสวน ระยะทาง 15 กม. พังเป็นหลุมเป็นบ่อขนาดใหญ่ตลอดเส้นทาง ได้รับความเดือนร้อนมานานกว่า 20 ปี ไร้หน่วยงานที่รับผิดชอบลงมาดูแล พร้อมกับนำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ให้เห็นกับสายตา ซึ่งพบว่าเป็นถนนสายหลักที่ชาวบ้านจำนวน 5 หมู่บ้าน ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำสวนปาล์ม ยางพารา สวนทุเรียน สวนกาแฟ และพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ที่ต้องขนย้ายผลผลิตด้วยรถยนต์กระบะ รถบรรทุก ต้องใช้ถนนเส้นนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักออกไปส่งขายให้พ่อค้า และใช้สัญจรไปมาระหว่างถนนเพชรเกษม เข้าตัวเมืองชุมพร ปัจจุบันได้พังเสียหาย เป็นหลุมเป็นบ่อขนาดใหญ่ บางจุดเป็นหลุมลึกเกือบถึงหน้าแข้ง ขณะที่ บางช่วงจากเดิมเป็นถนนลาดยางชำรุดจนกลายเป็นถนนลูกรังยาวกว่า 100 เมตร จนชาวบ้านไม่สามารถขับหลบหลุมได้เลย เนื่องจากเป็นหลุมบ่อขรุขระตลอดเส้นทาง

สำหรับถนนสายดังกล่าวก่อนหน้านี้ อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานเร่งรัดชนบท (รพช.) ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรมทางหลวงชนบท ซึ่งได้โอนย้ายให้อยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ตั้งแต่ช่วงหลังเกิดพายุเกย์ เมื่อปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน นานเกือบ 30 ปีแล้ว ถนนสายนี้ขาดการดูแลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาซ่อมแซมบำรุง ทำให้พังเสียหายมากขึ้น และชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นตามไปด้วย

นายบุญธรรม โพธิ์สูง อายุ 60 ปี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ถนนเส้นนี้ยังไม่เคยได้รับการซ่อมบำรุงจากหน่วยงานเกี่ยวข้องเลย ชาวบ้านหลายพันครัวเรือนที่ต้องใช้ถนนเส้นนี้เดือดร้อนมาก มีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หลายคัน ตกหลุมลึกจนช่วงล่างพังเสียหาย นักเรียนขี่จักรยานยนต์ไปเรียนหนังสือ รถตกหลุมล้มบาดเจ็บก็หลายราย ฝุ่นฟุ้งกระจายเข้าบ้านตลอดเวลา จนชาวบ้านเป็นโรคภูมิแพ้หลายราย ยิ่งหน้าฝนแทบจะสัญจรไปมาไม่ได้เลย เนื่องจากอันตรายอย่างมาก ที่ผ่านมา ชาวบ้านเคยแจ้งผู้เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการลงมาดูแล ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานรับผิดชอบจะลงมาช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเสียที

(ไทยรัฐ, 12/11/2558)

เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายสลายผู้ชุมนุมยึดสวนปาล์ม

13 พ.ย. 2558 เวลา 10 .00 น.วันที่ 13 พ.ย.58 กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร จนท.ตำรวจ จนท. ป่าไม้ และ จนท.หน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ประมาณ 1,100 คน ได้สนธิกำลัง เพื่อปฏิบัติตาม แผนปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เพื่อดำเนินการผลักดันกลุ่มมวลชนที่เข้าบุกรุก ยึดถือครอบครองสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่หมดอายุการอนุญาต และที่ยังไม่หมดอายุการอนุญาต ตลอดจนที่ดินของเอกชนที่มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่อำเภอปลายพระยา สำหรับแนวความคิดในการปฏิบัติ จะมุ่งเน้นผลักดัน ตรวจค้น จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ ในพื้นที่ที่มีการบุกรุกยึดถือครอบครองดังกล่าว โดยนัดรวมพลที่หน้า สภ.ปลายพระยา

ต่อมาเวลา 09.00 น. กำลัง จนท.ทั้งหมด ได้เคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ ม.9 ต.ปลายพระยาซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ได้รับอนุญาตใช้พื้นที่จากจังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี และยังไม่หมดอายุการอนุญาต โดยมีกลุ่มสมาคมคนไทยไร้ที่ทำกิน โดยมีนายสุมนตรี สุขดำ เป็นแกนนำยังคงปักหลังยึดที่ดินสัมปทานปลูกปาล์มน้ำมันของบริษัทแห่งหนึ่ง ม.9 ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำที่ดินที่หมดอายุสัมปทาน มาจัดสรรให้กับคนจนตามมติครม.2546 โดยกระจายปลูกเพิงพักในพื้นที่สวนปาล์ม เนื้อที่กว่า 8,000 ไร่ ซึ่งจะหมดอายุสัมปทาน ในปี 2566 โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนมที่มาปักขวางหน้าประตูทางเข้าจำนวนกว่า 60 คน ซึ่งไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้น ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมยึดสวนปาล์มขับรถหลบหนี เจ้าหน้าที่ใช้เวลาเจรจานานกว่า1 ชั่วโมง เพื่อให้ชาวบ้านที่มาชุมนุมยอมออกจากพื้นที่ไปบางส่วน หากยังไม่ออกก็จะดำเนินการใช้กำลังผลักดัน จากนั้นกลุ่มชาวบ้านทยอยกันหลบหนีไปอยู่ใจกลางสวนปาล์ม เจ้าหน้าที่จึงนำกำลังเข้าทำการตรวจค้นและควบคุมตัวใส่รถควบคุมตัวผู้ต้องขัง นำส่งกองร้อยตำรวจตระเวนที่ 426 กระบี่ ดำเนินคดีตามกฎหมาย

ต่อมานายสุมลตรี สุขดำ นายกสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกิน ที่ปักหลักอยู่ในพื้นที่สวนปาล์มในพื้นที่ ต.กระบี่น้อย อ.เมือง ประมาณ 200 คน ได้เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณถนนทางเข้าท่าอากาศยานนาชาติกระบี่ เพื่อกดดันและตอบโต้เจ้าหน้าที่ที่นำกำลังเข้าสลายการชุมนุมสมาชิกในสวนปาล์มหมดสัมปทาน อ.ปลายยา ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่กว่า 2 กองร้อย เพื่อป้องกันก่อความวุ่นวายหรือเข้าไปในบริเวณสนามบิน

ต่อมาได้มีกลุ่มชาวบ้านประมาณ 50 คน ที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องที่ดินสวนปาล์มออกมากดดันเจ้าหน้าที่บริเวณทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ เนื่องจากกลัวเสียภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ก็ได้เข้าไปห้ามปรามและต่อว่ากลุ่มผุ้ชุมนุม จนเกิดการโต้เถียงกันและเกิดการปะทะตุบตีกันได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.นันทเดช ย้อยนวล ผบก.ภ.จว.กระบี่ พ.ต.อ.บุญทวี โตรักษา รอง ผบก.ภ.จว.กระบี่ พ.ต.อ.วิฑูรย์ กองสุดใจ รอง ผบก.ภ.จว.กระบี่ ที่ปักหลักอยู่ภายในสนามบินออกมาอย่าศึก พร้อมเจรจาให้ยุติ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ได้สลายตัวไป โดยล่าสุดเหตุการณ์ทั่วไปกลับสู่สภาวะปกติ ในขณะที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดกระบี่ห้ามนำรถทุกคันเข้าจอดบริเวณหน้าศาลากลาง และมีเจ้าหน้าที่ อส.จ.กระบี่กว่า 50 นาย ตั้งด่านตรวจ เนื่องกลุ่มผู้ชุมนุมขู่ว่าจะเดินทางมาปิดศาลากลางจังหวัดกระบี่เช่นกัน

(ข่าวสด, 13/11/2558)

ญาติสิบเอกประท้วงอีกรอบ หลังตร.จ่อชี้เป็นคดีอุบัติเหตุ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 14 พ.ย. ที่บริเวณหน้าที่ทำการ สภ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มญาติสนิท และคนสนิทของ ส.อ.ดำรงค์ ด้วงรุ่ง อายุ 36 ปี สังกัดกรมทหารพรานที่ 42 จ.ปัตตานี กว่า 300 คน จาก อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณีพบศพ ส.อ.ดำรงค์ ถูกทิ้งไว้ บนถนนสายเอเชีย 41 พื้นที่ อ.ชะอวด เมื่อคืนวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา สร้างความเคลือบแคลงสงสัยถึงสาเหตุว่า ผู้ตายอาจถูกฆาตกรรม ก่อนนำศพมาจัดฉากให้รถชนเพื่ออำพรางคดีว่า เป็นอุบัติเหตุ แต่พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีกลับรีบด่วนสรุปสาเหตุว่าเป็นอุบัติเหตุ ค้านความรู้สึกของพวกตน จึงรวมตัวเรียกร้องให้มีการสืบสวนและพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตให้แน่ชัดอีกครั้งหลังเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการแห่ศพส.อ.ดำรงค์ มาประท้วงที่หน้าสภ.ชะอวดแล้วครั้งหนึ่ง โดยพ.ต.อ.ธรรมนูญ ไฝจู ผกก. และผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช รับปากว่า จะเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนและรื้อฟื้นคดีใหม่ จนเป็นที่พอใจและสลายตัวไปในในค่ำวันเดียวกัน และรอผลการดำเนินการของตำรวจสภ.ชะอวดตามที่รับปากเอาไว้“

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์ ยังไม่มีความคืบหน้า และมีแนวโน้มของคดีว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสรุปคดีเป็นการเสียชีวิตเหมือนเดิม เนื่องจากทางตำรวจมีพยานหลักฐานชี้ชัด สร้างความไม่พอใจให้ญาติของ ส.อ.ดำรงค์ จึงมีการรวมตัวชุมนุมประท้วงที่หน้าโรงพักชะอวดอีกครั้ง เป็นรอบที่ 2 โดย พ.ต.อ.ธมนูญ ได้ระดมกำลังตำรวจ สภ.ชะอวด และ นปพ.จำนวนหลายสิบนายมารักษาความสงบเรียบร้อย และลงเจรจาพูดคุยกับกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง และยืนยันว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวน ยังไม่สรุปสำนวนแต่อย่างใด แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เชื่อ และเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเจรจา“

(เดลินิวส์, 14/11/2558)

สลายม็อบยึดสวนปาล์ม แกนนำเรียกร้อง รบ.แก้ปัญหาอย่างจริงใจ

ความคืบหน้ากรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สลายการชุมนุมกลุ่มมวลชนที่เข้ายึดสวนปาล์มน้ำมัน เบื้องต้น จนท.นำตัวไปทำประวัติ และส่งกลับภูมิลำเนา วอน รบ.แก้ไขปัญาด้วยความจริงใจ ด้าน ผอ.ป่าไม้ที่ 12 ร่วมกับชุดลาดตระเวนเข้าตรวจสอบพื้นที่ หากพบบุกรุกจับ-ดำเนินคดีทันที...

ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ป่าไม้ และปกครองสนธิกำลังกว่า 1,100 คน เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มมวลชนจากกลุ่มต่างๆ ที่เข้ายึดสวนปาล์มน้ำมันในหลายหมู่บ้านของ ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ซึ่งเป็นสวนปาล์มน้ำมันของ บริษัท ยูนิวานิช จำกัด (มหาชน) ทั้งที่หมดสัมปทานและไม่หมดสัมปทาน เนื้อที่กว่า 2 หมื่นไร่ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวชาวบ้านที่อยู่ภายในสวนได้กว่า 140 คน และทำประวัติก่อนปล่อยตัวให้เดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากพบว่า มีการชักจูงมาเพื่อหวังว่าจะได้ที่ดินทำกิน ขณะเดียวกัน สมาชิกของสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกินจำนวนหนึ่ง ได้ไปเรียกร้องที่หน้าสนามบินกระบี่ อ.เหนือคลอง จนเกิดการปะทะกับกลุ่มชาวบ้านที่ไม่พอใจ เพราะไม่ต้องการให้ปิดสนามบิน

ความคืบหน้าในส่วนของชาวบ้านที่ถูกควบคุมตัวไว้ ที่ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 426 กระบี่ จำนวนกว่า 140 คน วันนี้ มีการปล่อยตัวกลับไปหมดแล้วตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา โดย นายชูวงศ์ มณีกุล ประธานภาคีเครือข่ายไร้ที่ดินทำกินภาคใต้ ซึ่งนำมวลชนเข้าไปยึดสวนปาล์มในพื้นที่หมดสัมปทาน ม.7 ต.ปลายพระยา กล่าวว่า ทางกลุ่มมีมวลชนประมาณ 200 คน ได้นำสมาชิกออกจากพื้นที่ และเก็บทรัพย์สินออก ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา เพราะไม่ต้องการให้เกิดการปะทะและการจับกุม แต่ต้องการเรียกร้องไปยังรัฐบาล ให้เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินอย่างจริงใจ เนื่องจากที่ดินหมดสัมปทานใน จ.กระบี่ มีกว่า 7 หมื่นไร่ ปัจจุบันนายทุนยังคงครอบครองเก็บเกี่ยวผลต่อเนื่องนานกว่า 10 ปีแล้ว จึงควรนำมาจัดสรรตามมติ ครม. ปี 2546

ด้าน นายไชยฤทธิ์ เรืองเสือ อายุ 39 ปี สมาชิกของกลุ่มประชาชนเพื่อประชาชน ที่ยึดสวนปาล์มน้ำมันหมดสัมปทานที่ ม.5 ต.ปลายพระยา กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่ได้ตั้งตัว และไม่มีการเก็บทรัพย์สินใดๆ ออกมา เมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาในพื้นที่และชาวบ้านได้วิ่งหนี วันนี้เมื่อกลับไปตรวจสอบ พบว่า ขนำที่พักถูกทำลายหมด รถจักรยานยนต์ 7 คัน และรถยนต์ 1 คัน สูญหาย เครื่องปั่นไฟ 3 เครื่อง และทรัพย์สินอีกจำนวนมากหายไป ต้องการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ด้าน นายบุญสืบ สมัครราช ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ กล่าวว่า ภายหลังจากได้สนธิกำลังเข้าสลายการชุมนุมยึดสวนปาล์ม ขณะนี้ไม่มีมวลชนอยู่ในพื้นที่ ทางป่าไม้ ร่วมกับฝ่ายปกครอง ได้จัดชุดลาดตระเวนออกตรวจสอบ หากมีการเข้าไปในพื้นที่อีก ก็จะดำเนินการจับกุมในข้อหาบุกรุกป่าสงวนทันที ส่วนทรัพย์สินใดๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ให้ไปติดต่อกับทางตำรวจท้องที่ ซึ่งอาจยึดไปเป็นของกลาง เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินหมดสัมปทานนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะดำเนินการกับที่ดินเหล่านี้อย่างไร เนื่องจากเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานหลายปี ทางจังหวัดไม่สามารถตัดสินใจได้

(ไทยรัฐ, 14/11/2558)

“เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี” เปิดเวทีถ่านหินเทพา ชี้ประเด็นอ่อนไหวที่ไม่มีใครพูดถึง

(14 พ.ย.) ที่ อ.เทพา จ.สงขลา เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้เปิดเวทีให้ความรู้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ม.4 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อให้ชาวชุมชนได้รู้ข้อมูลผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่กำลังถูกผลักดันให้มีการก่อสร้างในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา โดยมีประชาชนในชุมชนให้ความสนใจมาร่วมคึกคัก

นายดิเรก เหมนคร สมาชิกเครือข่ายฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน และ กฟผ.จะชอบบอกคนไทยว่า ต้องรีบสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะอีกไม่นานก๊าซจะหมดจากอ่าวไทย ไฟจะดับ คนจะเดือดร้อน แต่ความจริงคือ โรงไฟฟ้าจะนะตั้งอยู่ใน อ.จะนะ จ.สงขลา ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงที่ 2 ขนาด 750 เมกะวัตต์ และเพิ่งเปิดใช้เมื่อปี 2557 นี้เอง ซึ่งใน อ.จะนะ จ.สงขลา เพียงพื้นที่เดียวมีโรงไฟฟ้าถึง 2 โรง อ.จะนะ และ อ.เทพา มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกัน ดังนั้น หากก๊าชจะหมดจริงๆ รัฐ หรือกลุ่มทุนจะลงทุน 6 หมื่นล้านสร้างโรงไฟฟ้ามาทำไม

เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาล และ กฟผ.กำลังผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน พื้นที่ อ.เทพา ขนาด 2,100 เมกะวัตต์ โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของคนในพื้นที่ และฝ่ายเจ้าของโครงการฯ ก็จะใช้ทุกวิธีการเพื่อผลักดันให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นให้ได้ อย่างเช่นเวทีรับฟังความเห็น ค3. ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ก็ออกหนังสือห้ามชาวบ้านที่มีความเห็นต่างเข้าร่วมเวที

นายดิเรก กล่าวอีกว่า พื้นที่ อ.เทพา เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ มีความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเทพา รู้ไหมทะเลเทพาเป็นทะเลเดียวกับหนองจิก จ.ปัตตานี จะเป็นที่รับรู้ของชาวประมงมาตั้งแต่อดีตถึงความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแม่น้ำลำคลองหลายสายไหลลงทะเล เช่น แม่น้ำเทพา คลองตูหยง คลองเกาะหม้อแกง คลองชลประทานคลองตุยง แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำเหล่านี้จะพัดพาอินทรียวัตถุไหลลงทะเลเทพา และทะเลปัตตานี

อ.เทพา มีพื้นที่ป่าสงวน ป่าโกงกางผืนใหญ่ มีลำคลองหลายสายเชื่อมโยงใยกันเหมือนเส้นเลือดในร่างกายของคนเรา ทำให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่มาก เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ แต่พื้นที่มีความสมบูรณ์เช่นนี้จะเกิดหายนะขึ้นแน่นอนถ้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเกิดขึ้นมา

นายดิเรก กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กฟผ.ไม่เคยบอกความจริงต่อชาวบ้าน หากศึกษาจากเอกสารรายงาน เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 3 (ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 ก.ค.2558 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง (อบต.ปากบาง) อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นเวทีที่ฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ออกคำสั่งห้ามเข้าร่วมเวที และผลสรุปเวที ค.3 ผ่าน เป็นการผ่านโดยไม่รับฟังความคิดเห็นคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ประเด็นสำคัญจากเอกสารเวที ค3. พบว่า ในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,960 ไร่ มีมัสยิด 2 แห่ง กุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง คือ มัสยิดมุตนาเอ็นน๊ะ และมัสยิดบ้านคลองปะดู่ โรงเรียนปอเนาะ 1 แห่ง คือ ปอเนาะตะเยาะซูตีบอ และต้องย้ายชุมชนกว่า 200 ครอบครัว ข้อมูลเหล่านี้มีใครกี่คนที่รับรู้ ซึ่ง กฟผ.ไม่เคยบอกชาวบ้าน ถือได้ว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญ และอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น เวทีชาวบ้านที่ทางเครือข่ายฯ จัดขึ้น คนในชุมชนจะได้รับรู้ และมีข้อมูลผลกระทบโดยตรงเพื่อใช้ในการตัดสินใจต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 14/11/2558)

ชาวบ้านต้นเปาเดือด! ชูป้ายประท้วงกลางพิธีเปิดงานมหกรรมโคมโวยจัดงานไม่โปรงใส ไร้ส่วนร่วม

รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่า ช่วงค่ำวันที่ 13 พ.ย.58 ที่ผ่านมา ในระหว่างที่นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมโคมลอยบ้านหนองโค้งและหัตถกรรมสันกำแพง ประจำปี 2558 ที่บ้านหนองโค้ง ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายสุภคิน วงศ์ษา นายกเทศมนตรีเมืองต้นเปา พร้อมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมจำนวนมาก ได้มีกลุ่มชาวบ้านในตำบลต้นเปาจำนวนหนึ่งรวมตัวกันชูป้ายบริเวณหน้าเวทีที่ทำพิธีเปิดงาน และตะโกนต่อว่าโจมตีเกี่ยวกับการจัดงานดังกล่าว ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 พ.ย.58 โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับความโปร่งใสการใช้งบประมาณ และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชาวบ้านในพื้นที่

ทั้งนี้ ทันทีที่กลุ่มชาวบ้านได้ทำการชูป้ายประท้วง และกล่าวโจมตีนายกเทศมนตรีเมืองต้นเปา ทางเจ้าหน้าที่เทศกิจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามช่วยกันนำตัวชาวบ้านที่ชูป้าย และโจมตีออกจากไปจากพื้นที่จัดงาน โดยเจ้าหน้าที่ได้พยายามหักทำลายป้ายของกลุ่มชาวบ้านด้วย จนเกิดการโต้เถียง และกระทบกระทั่งกัน

จนสุดท้ายทางเจ้าหน้าที่ต้องยินยอมให้ชูป้ายต่อไปได้ แต่มีการกันให้ออกห่างจากบริเวณเวทีที่ใช้ทำพิธีเปิดงาน ซึ่งกลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวประท้วงจนกระทั่งเสร็จสิ้นพิธีเปิด จึงแยกย้ายกันกลับ ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองต้นเปา ที่ถูกชาวบ้านชูป้ายประท้วง และกล่าวหาเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดงานครั้งนี้ไม่ยอมให้ความเห็น หรือชี้แจงใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 14/11/2558)

แหล่งข่าว: 
ประชาไทออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด