พลิกโฉมยางพารา เล็งตั้ง′วิทยาลัยนานาชาติไทย-จีน′ ยกระดับ-อัพราคาผลิตภัณฑ์

อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล-เรื่อง
พัทรยุทธ ฟักผล - ภาพ

"ยางพารา" เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

เเต่ที่ผ่านมายางพาราประสบปัญหาราคาตกต่ำ เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ ทำให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรเจ้าของสวนอย่างต่างพยายามหาวิธีแก้ไขกันอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในทางออกที่มีการพูดถึงกันอย่างมากคือการพัฒนาให้เกิดการแปรรูปยางพารา ตลอดจนยกระดับจากภาคผลิตสู่อุตสาหกรรมในอนาคต

มีการจับมือกับภาคธุรกิจหลายส่วนรวมถึงประเทศจีนเพื่อหาทางออกร่วมกัน ผลักดันยางพาราไทยสู่ภาคอุตสาหกรรมที่ครบวงจร และในวันนี้ก็เป็นอีกก้าวสำคัญของแวดวงยางพารา เมื่อ สภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ร่วมกับ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ประจำกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิงเต่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ร่วมลงนามสัญญาความร่วมมือ 5 ฝ่าย และเปิดวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีนขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

พินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ บอกว่า การลงนามความร่วมมือ 5 ฝ่ายครั้งนี้เป็นความสำเร็จที่จะมีผลต่ออนาคตอย่างมาก เกิดจากการขับเคลื่อนงานมหกรรมยางพาราที่จังหวัดบึงกาฬร่วมกับบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี ต่อยอดจนเกิดการตั้งวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่เน้นเรื่องยางพาราโดยเฉพาะเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

ความร่วมมือครั้งนี้เป็นความร่วมมือในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตยางพารา ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ ยางล้อเครื่องบิน ยางล้อรถจักรยานและมอเตอร์ไซค์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางพาราทุกประเภท

"มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ชิงเต่ามีความร่วมมือกับเยอรมนี และมีความร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ต่างๆ มากมายที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก ครั้งนี้มีความร่วมมือในการสร้างบุคลากรเกี่ยวกับวงการยางและการแปรรูปยางพาราทั้งหมด จะมีการเรียนการสอนและความร่วมมือในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การผลิต ที่จะทำให้เกษตรกรพึ่งตัวเองได้ จากเดิมที่ขายเป็นน้ำยางดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ต่อไปเกษตรกรจะสามารถพัฒนาร่วมกันด้วยการสร้างโรงงานแปรรูปผลผลิตได้" พินิจอธิบาย

ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ บอกอีกว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่มหาวิทยาลัยทุ่มเทและมองเห็นช่องทางที่จะเป็นโอกาสให้เกษตรกรได้พัฒนาก้าวหน้า เป็นก้าวใหญ่และก้าวสำคัญไปสู่การแปรรูปวัตถุดิบยางพารา ซึ่งเราพยายามผลักดันให้แปรรูปและให้ใช้ยางพารามากขึ้น

"ตอนนี้ถ้าเกษตรกรขายน้ำยางดิบ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลกรัม 100 บาท ถ้านำมาแปรรูปเป็นหมอน 1 ใบ ใช้ยางพารา 3 กิโลกรัม แต่ขายได้ถึง 700 บาท เป็นการเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีก ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะพลิกโฉมยางพารา จากการขายวัตถุดิบสู่การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีการแปรรูปยางพาราเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า และเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อไป จากเดิมมูลค่ายางพาราผลิตทั้งส่งออกและสำเร็จรูป ปีหนึ่ง 600,000 กว่าล้านบาท ถ้าสามารถแปรรูปได้มูลค่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าล้านล้านบาทในอนาคต เพราะถึงอย่างไรตลาดโลกก็ต้องใช้ยางพารา" พินิจทิ้งท้าย

ขณะที่ รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่า วิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีนที่จัดตั้งขึ้น เป็นความร่วมมือระหว่าง 5 ภาคส่วนที่สำคัญ การเรียนการสอนจะเป็นระบบนานาชาติ คือเรียนด้วยภาษาอังกฤษ อาจจะมีภาษาจีนมาเสริมบ้าง วางเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักศึกษาทั้งจากประเทศไทยและประเทศอาเซียน จะเปิดหลักสูตรปริญญาตรี 2+2 คือเรียนที่ประเทศไทย 2 ปี ประเทศจีนอีก 2 ปี และหลักสูตรปริญญาโท 1+1 คือเรียนที่ประเทศไทย 1 ปี และประเทศจีนอีก 1 ปี ซึ่งนักศึกษาที่จบจากโครงการนี้จะรับปริญญา 2 ใบ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิงเต่า

"วิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน ตั้งขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมล้อยางที่มีบริษัทจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนมากขึ้น ผมคาดหวังว่านักศึกษาที่จบจากที่นี่จะสามารถทำงานบริษัทผลิตยางรถยนต์หรืออุตสาหกรรมยางพาราได้ทันที โดยจะเริ่มเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2560 แต่ระหว่างนี้ก็จะเปิดอบรมระยะสั้นให้ความรู้เรื่องยางพารากับเกษตรกรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพารา รวมถึงเปิดอบรมเพิ่มเติมเรื่องยางพาราให้บุคลากรที่จบทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถทำงานกับบริษัทอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศจีนที่เข้ามาเปิดตัวที่ประเทศไทยแล้วในตอนนี้ โดยมีบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ให้การสนับสนุน" รศ.ดร.ชูศักดิ์กล่าว

เกา ชิง เลขาธิการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิงเต่า บอกว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นความร่วมมือระยะยาวที่มีความหมายต่อการแปรรูปยางพารา ซึ่งจะช่วยเรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศไทย โดยจะส่งเสริมให้ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่ผ่านมาความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นไปอย่างราบรื่น ตรงตามนโยบายของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งตามนโยบายของภาครัฐ และตรงตามความต้องการของภาคเอกชนที่อยากให้ยางพาราในประเทศไทยมีความเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น

สอดคล้องกับการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน ที่มีเป้าหมายเพื่อผลิตบุคคลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมยางพารา โดยหลักสูตรปริญญาตรีจะแบ่งเป็น 3 คณะ แต่ละคณะจะมีนักศึกษา 100 คน รวมจะผลิตบุคลากรที่มีความรู้เรื่องยางพาราและระบบเครื่องจักรกลที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางพาราปีละ 300 คน และหลักสูตรปริญญาโท 100 คนต่อปี ส่วนเนื้อหาที่ใช้เรียนจะจัดตามความต้องการของอุตสาหกรรมยางพาราด้วย

"เรามีความพร้อมที่จะดูแลเรื่องเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ยาง รวมถึงบุคลากรทั้งนักศึกษาและอาจารย์ผู้สอน เพราะการที่จะพัฒนายางพาราได้อย่างแท้จริงจะต้องพัฒนาไปพร้อมกันทั้งระบบ ซึ่งบุคคลที่จบจากวิทยาลัยนอกจากจะมีความรู้เรื่องยางพาราแล้วยังเป็นนบุคคลที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนให้ดียิ่งขึ้น ผลักดันเรื่องอุตสาหกรรมยางพาราไทยจีนทั้งระบบอย่างแท้จริง" เลขาธิการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิงเต่ากล่าว

ด้านผู้ผลิตจากภาคอุตสาหกรรม บุคคลสำคัญผู้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือครั้งนี้อย่าง จาง เหย็น ประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด และรองผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารจัดการโครงการรับเบอร์วัลเล่ย์ ประเทศจีน ระบุว่า การศึกษาเรื่องยางพาราเป็นเรื่องที่เราต้องเอาจริงเอาจัง ซึ่งวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยทั้งระบบ เพราะบุคลากรที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะปลุกปั้นให้การแปรรูปเกิดเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น อันเป็นนโยบายของภาครัฐทั้งจีนและไทยที่อยากจะตั้งโรงงานในประเทศไทย ซึ่งการรวมตัวของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิงเต่าและบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ฯ เป็น 2 หน่วยงานที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน ทางมหาวิทยาลัยมีความรู้ มาบวกกับด้านอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งรับเบอร์มีเรื่องเทคโนโลยี ทำให้เป็นการรวมตัวที่สมบูรณ์แบบ

"ประเทศจีนเรามีทุน มีความรู้เกี่ยวกับลำดับขั้นตอนในการทำงานด้านอุตสาหกรรมยางพารา แต่ถ้ามาลงทุนที่ประเทศไทยแล้วไม่มีบุคลากรที่พร้อมมาทำงานก็ทำให้ดำเนินการได้ยาก ดังนั้นบุคลากรที่รองรับการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ และในเมื่อเรามีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับยางพารา ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ยางพารา และมีเทคโนโลยีอยู่แล้ว เราพร้อมที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ที่ครบครัน" จาง เหย็นย้ำ

ด้าน หลี่ จื๋อ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอลแอลไอที ประเทศไทย จำกัด หรือ "หลิงหลง" บริษัทผลิตยางรถยนต์จากประเทศจีนที่มาก่อตั้งโรงงานที่ประเทศไทย บอกว่า เราเป็นยักษ์ใหญ่เรื่องยางรถยนต์ มีโรงงานผลิต 11 แห่ง ตั้งแต่ผลิตมาโรงงานที่ประเทศไทยมีการพัฒนาเรื่องของตัวเลขการผลิตได้เร็วที่สุดวันละ 28,000 เส้น ส่งออกขายไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงในประเทศไทยด้วย ถือเป็นโรงงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด การเติบโตในตลาดประเทศไทยเร็วกว่าที่คาดคิด

"แต่ปัจจุบันบุคลากรส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการ รวมถึงช่างในโรงงานส่วนใหญ่เป็นคนจากประเทศจีนอยู่ เพราะเขามีความรู้ความสามารถที่จะมาทำงานในด้านนี้ แต่ในระยะยาวอยากได้บุคลากรที่ฝึกฝนในประเทศไทย ที่เป็นคนไทยท้องถิ่นมาทำงานให้มากขึ้น เพราะเรื่องของเทคนิคการแปรรูปยางพารา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของบุคลากรและองค์ความรู้ที่บุคลากรต้องมี รู้สึกดีใจมากที่มีความร่วมมือที่จะเปิดวิทยาลัยนานาชาติยางพารา เพราะสามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพจากท้องถิ่นมาทำงานที่โรงงานผลิตยางรถยนต์ได้" หลี่ จื๋อกล่าว

อีกหนึ่งบริษัทผลิตยางรถยนต์จากประเทศจีนที่มาก่อตั้งโรงงานที่ประเทศไทยเช่นกัน หลิน ยวี่ หยู๋ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า เหตุผลที่โรงงานจากประเทศจีนมาตั้งโรงงานในประเทศไทยมากขึ้นเนื่องจากประเทศไทยมีผลิตผลทางด้านวัตถุดิบยางธรรมชาติมากที่สุดในโลก มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดี เหมาะสมกับการลงทุน ผู้คนเป็นมิตร แต่สิ่งที่ไทยยังขาดอยู่คือเรื่องของเทคโนโลยีและความรู้เรื่องยางพาราไม่เพียงพอต่อความต้องการ ถ้าคนไทยมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยียางพาราจะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะภาคอุตสาหกรรมต้องการบุคลากรที่เป็นคนในท้องถิ่น

"การตั้งวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ดีมากเป็นหนึ่งแบบแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางได้ทั้งระบบ เพราะเรื่องบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำสำเร็จยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น" หลิน ยวี่ หยู๋บอก

นับเป็นอีกความร่วมมือครั้งสำคัญที่จะยกระดับความสัมพันธ์ไทย-จีน และพัฒนาระบบยางพาราทั้งระบบให้ดีขึ้นอีกขั้น

หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
มติชนออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด