
ศุภกาญจน์ เรืองเดช-สัมภาษณ์
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการต่อสู้คดีจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงกรณีรัฐบาลออกคำสั่งทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
- เรื่องคดีจำนำข้าวมาถึงวันนี้มีแนวทางการต่อสู้อย่างไร
ครั้งแรกที่มีการกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯนั้น ในกระบวนการของ ป.ป.ช. ผมก็มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องของการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง จะเรียกว่าตายใจก็ได้ เพราะรู้สึกว่ามีกรรมการเพียงบางคนเท่านั้นที่มีอคติแบบนั้น เชื่อว่าหากได้ชี้แจงโดยผู้ถูกกล่าวหาแล้วด้วยพยานหลักฐานและเอกสารต่างๆ ที่มี เขาน่าจะมีความเข้าใจและยุติเรื่องราว แต่ในที่สุดก็นำไปสู่การมีมติถอดถอนของ ป.ป.ช. ทั้งที่ไปดูหลักฐานก็บอกว่าไม่พบว่ามีการกระทำทุจริต และไม่พบว่าตัวผู้ถูกกล่าวหาคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้จัดทำนโยบายนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนอื่นทุจริต นี่คือสิ่งที่ต้องย้ำเพราะคนไปเข้าใจว่ามีการทุจริตแล้ว
ส่วนเรื่องความเสียหายผมก็ได้ชี้แจงไปว่า โครงการนี้ก็เป็นเหมือนหลายๆ โครงการ เหมือนกับโครงการประกันราคาที่ต้องใช้งบประมาณของรัฐเข้าไปดูแล แต่เป็นโครงการที่มีความคุมค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผมจึงมีความเชื่อว่าเรื่องนี้จะต้องยุติลงไปตั้งแต่มีการกล่าวหาที่ ป.ป.ช. จนนำไปสู่การเสนอให้ สนช.ถอดถอน ผมก็ยังเชื่ออีกว่า สนช.ประกอบด้วยคนมากมายน่าจะมีผู้ที่มีคุณวุฒิ มีความเป็นกลางพอจะรับฟังประเด็นเหล่านี้ แต่ก็ไม่เป็นไปดังคาด แล้วก็นำไปสู่การลงมติถอดถอน
หลังจากถูกถอดถอนก็มีกระบวนการต่อคือจะไปดำเนินการกับนักการเมืองตามขั้นตอนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงแหน่งทางการเมืองก็เชื่อว่าจะต้องมีกระบวนการกลั่นกรองที่ดี เพราะต้องทำโดยอัยการ ก็คงพิจารณาข้อมูลเรื่องนี้ด้วยข้อมูลอย่างเพียงพอ ทีแรกก็รู้สึกสบายใจที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ มีอดีตรองอัยการสูงสุดเป็นประธานคณะกรรมการ และพบว่าสำนวนของ ป.ป.ช.มีข้อไม่สมบูรณ์หลายประการ ไม่สามารถไปดำเนินการไปฟ้องร้องศาลฎีกาฯด้วยข้อมูลเพียงเท่านั้นได้ แต่ปรากฎว่ามีการดำเนินการฟ้องร้องโดยข้อมูลที่หน่วยงานของตัวเองชี้ว่าไม่สมบูรณ์นั้น จนมาถึงขั้นตอนที่นายกฯและรัฐมนตรีคลังคนก่อนแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงโดยอ้างอิงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะเรียกร้องเอาผิดให้มีการชดเชยความเสียหายจากการดำเนินการจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เมื่อมาถึงตรงนี้ผมก็รู้สึกว่าความเข้าใจของผมนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดไปแล้ว แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่าจะต้องดำเนินการชี้แจงในขั้นตอนต่างๆ อย่างเต็มที่ เมื่อมีกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ครั้งแรกก็มีหนังสือเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปชี้แจง โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มอบหมายให้มีผู้ชี้แจงและเขาก็เรียกเพียง 2 ท่าน คือ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผม ในวันที่เขาเรียกผมติดภารกิจแต่ได้แจ้งล่วงหน้า แต่ได้รับทราบทางวาจาว่าไม่อนุญาต และหากไม่มาชี้แจงก็จะยุติและใช้สำนวนจาก ป.ป.ช.ที่เคยให้การไว้ ผมก็รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติแล้ว ผมจึงทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ (นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์) ถามว่าจะเอากันอย่างนี้หรือ จะไม่ฟังหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาอย่างนั้นหรือ ได้รับหนังสือแจ้งมาว่ายินดีให้เข้าชี้แจง กระบวนการที่ผมเล่ามาทั้งหมดก็ชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อที่ว่าเรื่องนี้ไม่ควรเป็นปัญหาเพราะเป็นการกระทำตามนโยบายของรัฐบาล และไม่ได้เลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย โดยประโยชน์ก็จะวนกลับมาสู่ทั้งระบบนั้นผิดตรงไหน ผมจึงรู้สึกว่ากระบวนการนี้ไม่ใช่กระบวนการที่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องเสียแล้ว และในบางขั้นตอนผมรู้สึกมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีกระบวนการที่จะดำเนินการต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างไม่เป็นธรรม แล้วการทำแบบนี้จะมีผลข้างเคียงต่อในอนาคต
ต่อไปจะมีนายกฯที่ไหนที่จะมายินดีปฏิบัติตามนโยบายของรัฐเพื่อดูแลประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งโครงการนี้ไม่ใช่โครงการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์คิดขึ้นด้วยซ้ำ เป็นโครงการที่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคิด และเป็นสัญญาประชาคมกับประชาชน ถ้าเป็นโครงการที่ผิดกฎหมายทำไมต้นทางไม่ท้วง และพรรคการเมืองหลักๆ ล้วนแต่เสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างไปทั้งนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา แล้ววันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังถูกดำเนินการคนเดียว ถ้าจะให้ยุติธรรมก็ควรดำเนินคดีกับทั้ง ครม.เลยดีไหม
- มองเรื่องการเรียกเงินคืนโดยรัฐบาลโดยใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อย่างไร
ประเด็นเรื่องการดำเนินการทางกฎหมาย ผมเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะฉะนั้นผมมีหน้าที่ต้องรู้ ต้องเข้าใจ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ อย่างดี เพราะเป็นกฎหมายซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุกคนที่มา ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้ พ.ร.บ.นี้ ผมยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ควรถูกดำเนินการ ถ้าดึงดันจะดำเนินการคดีจริงๆ เคยมีทางเลือก 2 ทาง คือการไปฟ้องแพ่งให้ชดเชยความเสียหาย แต่ว่าการดำเนินการตรงนั้น ดูเหมือนว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ทำ เพราะว่ามีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา โดยอ้างอิง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ คณะกรรมการจะสอบข้อเท็จจริง สอบแล้วอาจจะพิจารณาว่าไม่ผิดก็ได้ หรืออาจพิจารณาว่าผิดก็ได้ เมื่อพิจารณาแล้วก็จะส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีคลัง ถ้ารัฐมนตรีมีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิด ท่านก็จะส่งต่อไปยังคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด และคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิดก็อาจจะนำไปสู่การพิจารณาเรียกให้ผู้เกี่ยวข้องหรือในกรณีนี้ อาจจะหมายถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ด้วยเงินจำนวนเท่าไหร่ก็ว่าไป กระบวนการตรงนี้หากว่าผู้ถูกกล่าวหารู้สึกว่าไม่เป็นธรรมก็มีสิทธิจะไปฟ้องร้องในศาลปกครอง เพื่อขอความคุ้มครอง อยากจะชี้ให้เห็นว่ากระบวนการนี้มันกลับตาลปัตร ดังนั้น ถ้าหากรัฐมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะใช้ พ.ร.บ.กับใครก็ตามต้องดูเรื่องความเหมาะสม ถูกต้อง ชอบธรรมให้เต็มที่
ในกรณีที่ใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถ้าท่านไปดูตามเจตนารมณ์ คือเอาไว้เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยซ้ำ และข้อความในระเบียบสำนักนายกฯในการประกอบ พ.ร.บ.ฉบันนี้ในการป้องกัน บอกว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องกลัว จะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยให้ผู้เกี่ยวข้องได้สิทธิในการชี้แจงเพียงพอ อย่างเต็มที่ เพราะในยุคนั้นก่อนออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่งไม่กล้าดำเนินการอะไร เพราะกลัวจะเป็นความผิด เพราะฉะนั้นโดยเจตนารมณ์เพื่อป้องกัน แต่ปรากฏว่าการเอามาใช้ในกรณีนี้ สิ่งที่ผมสังเกตได้ อาจจะเป็นความเห็นส่วนตัวผมก็ได้ว่า ขั้นตอนในการให้สิทธิในการชี้แจง ให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ น่าจะมีปัญหา เพราะครั้งแรกพยายามจะรวบรัดสรุปกันโดยสอบข้อเท็จจริงเพียงสองสามคน ถ้าผมไม่ไปเรียกร้องขอสิทธิในการชี้แจงอย่างเปิดกว้างต่อสาธารณชนหรือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ผมอาจจะไม่ได้รับสิทธินั้นแล้วก็ได้ แต่เมื่อมีการดำเนินการให้สิทธิผมไปชี้แจง ก็ยังรู้สึกว่ามีกระบวนการเร่งรัด รวบรัด ผู้ช่วยผมได้รับการติดต่อจากฝ่ายเลขาของคณะกรรมการ ว่าเอกสารข้อมูลต่างๆ พร้อมจะนำส่งต้องนำส่งภายในวันนั้น วันนี้ ผมแค่ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ เป็นอยู่ขณะนี้ จริงอยู่กระบวนการไม่ไปถึงไหนก็ให้สังคมจับตาดูก็แล้วกันว่าท่านพยายามจะปิดวันไหน มีความเห็นออกมาเป็นอย่างไร
- การออกมาตรา 44 มาคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเกี่ยวกับคดีจำนำข้าวมีผลอย่างไร
คนที่ไม่ได้ตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดพอเห็นประกาศมาตรา 44 ความปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่ว่าไม่ต้องถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี ก็คงรู้สึกไม่สบายใจ เพราะว่าประกาศมาตรา 44 น่าจะเป็นอันแรกที่ดูเหมือนก้าวเข้าไปใกล้กับการแทรกแซงอำนาจตุลาการ คือถ้าเกิดเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีการปฏิบัติผิด ผู้ได้รับผลกระทบเสียหายจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะเป็นใครก็แล้วแต่ ควรมีสิทธิฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ แต่การออกมาบอกว่าไม่มีสิทธิจะไปฟ้อง ผมว่าคนจำนวนมากรู้สึกว่าเกือบเป็นการก้าวล่วงแล้ว หมายถึงไม่ให้อำนาจตุลาการมีสิทธิพิจารณาเรื่อง แต่สำหรับผมอ่านละเอียด พบว่าประกาศฉบับนี้ ไม่ให้ฟ้องร้อง ถ้าเป็นการปฏิบัติโดยสุจริต ดังนั้น ถ้าพูดถึงตามตัวอักษร ประกาศฉบับนี้ไม่มีสาระ เพราะว่าถ้าเกิดเขาปฏิบัติโดยสุจริต
ผู้เสียหายไม่ฟ้องอยู่แล้ว อยากถามว่าคนที่ไปแนะนำให้มีประกาศฉบับนี้คิดอะไรอยู่ แล้วกำลังพยายามสื่อสารกับสังคมว่าอย่างไร ดังนั้น คิดว่าน่าจะยกเลิกกระบวนการของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนี้ แล้วก็รอให้ผลการพิจารณาของศาลฎีกามีความชัดเจนเสียก่อน ข้อเท็จจริงทั้งหลายแหล่จะพรั่งพรูออกมาเอง
การที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่าต้องรีบดำเนินการเรื่องนี้เพราะมีอายุความ เป็นเท็จ เพราะอายุความยังไม่เริ่มนับเลย อายุความทางแพ่ง จะนับก็ต่อเมื่อคุณรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว และคุณรู้ถึงยอดความเสียหายที่ต้องการจะเรียกร้องต่อเขาแล้ว ถ้าเกิดรู้แล้ว แล้วยังไม่ดำเนินการอะไรเด็ดขาด ก็เป็นเรื่องอายุความที่เริ่มนับ แต่ขณะนี้ยังไม่เริ่มนับ เพราะยังไม่มีการกล่าวหา ผมว่าน่าจะเป็นความเข้าใจผิดของนักกฎหมายระดับสูงของประเทศ ทั้งนี้ ผมเคยเห็นแต่รัฐบาลนี้พูดในเชิงลบกับโครงการนี้ เพราะฉะนั้นถ้าท่านรู้สึกเชิงลบกับโครงการนี้ การจะมาใช้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง นำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด ล้วนแล้วแต่เป็นฝ่ายประจำของทางราชการทั้งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราฉะนั้นอยากเรียกร้องว่าควรจะสั่งให้มีการยุติบทบาทของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงลงเสียขณะนี้ แล้วรอดูข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกา แล้วเมื่อมีข้อเท็จจริงออกมาทั้งหมดแล้ว ท่านก็รวบรวมข้อเท็จจริงเหล่านั้น เข้าไปสู่ในกระบวนการการดำเนินการ ไม่ต้องห่วงอะไรในเรื่องอายุความ เพราะยังไม่มีการนับ
- รัฐบาลต้องถามว่าเรียกร้องให้ยุติบทบาทของคณะกรรมการเป็นเพราะกลัวจะสอบเจออะไรหรือไม่
ไม่เห็นว่ามีอะไรต้องกลัว กระบวนการสอบข้อเท็จจริงที่ศาลยุติธรรมต้องการดำเนินการ ท่านอนุญาตให้มีการดำเนินการทั้ง 2 ฝ่าย มีพยานมากกว่า 60 ปาก มีเอกสารรวมกันทั้ง 2 ฝ่าย น่าจะเกือบแสนหน้า ตรงนั้นไม่เป็นข้อเท็จจริงที่จะออกมาหรือ ถามกลับว่าแล้วที่ท่านพยายามรวบรัด ท่านกลัวความจริงต้องออกมาอย่างถูกต้องหรือเปล่า ถ้าไม่กลัวความจริงออกมาถูกต้อง ก็ให้เอาความจริงที่ถูกต้องออกมาจากกระบวนการทางตุลาการที่สังคมยังมีความมั่นใจอยู่
- ถ้าพูดถึงเรื่องเงินเข้าใจว่าเงินจ่ายให้ชาวนาไปแล้ว ทำไมอดีตนายกฯต้องนำเงินตรงนี้มาใช้คืน
โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีตัวเลขขาดทุนทางบัญชี เพราะมีรายรับจำนวนมาก เมื่อมาหักกับส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายส่วนต่างของราคาใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการในการจัดเก็บการระบายต้นทุนของเงินอะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายเมื่อนำรายรับมาตั้งคำนวณรวมกับค่าใช้จ่าย จึงออกมาเป็นตัวเลขกำไรหรือขาดทุน ในกรณีนี้คือการขาดทุน ดังนั้นถ้ามอง 2 โครงการ คือโครงการประกันราคา และโครงการรับจำนำข้าว คือการดูแลชาวนาโดยการใช้จ่ายเงินของรัฐ ใช้เงินงบประมาณ ถ้าจะเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดเชยตรงนั้น คิดว่าสังคมจำนวนมากก็จะสงสัยว่าแล้วทำไมเงินชดเชยชาวนาที่เป็นไปตามโครงการประกันราคา นายกฯของรัฐบาลที่ดูแลโครงการนั้นไม่ต้องชดเชยด้วยหรือ แต่ผมไม่ได้อยากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ มาชดเชย เพราะคิดว่านายอภิสิทธิ์ก็ไม่ต้องชดเชยคืน ยกเว้นว่าจะมีข้อมูลมาว่านายอภิสิทธิ์รู้เห็นเป็นใจให้มีการจดทะเบียนที่ดินมาเพื่อรับเงินชดเชยสูงกว่าความเป็นจริงโดยไม่มีการระงับยับยั้ง ดังนั้น ผมก็คิดว่านายอภิสิทธิ์ก็ไม่ต้องชดเชย น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ต้องชดเชย ไม่ต้องชดเชยเหมือนๆ กับทุกนายกรัฐมนตรีใช้โครงการอุดหนุนเกษตรกร
- นอกจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นจดหมายเปิดผนึกไปร้องขอความเป็นธรรมแล้ว จะมีกระบวนการอะไรนับจากนี้หรือไม่
สิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ดำเนินการ ก็ทำไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ตามสิ่งสิทธิที่มี เมื่อโดนดำเนินการโดย ป.ป.ช. น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เคยทำจดหมายเปิดผนึกว่า ป.ป.ช. ไม่ให้ความเป็นธรรม นอกจากชั้นที่มีแต่การพิจารณาโดย สนช. คิดว่าน่าจะมีสิทธิชี้ให้เห็นว่าแปลกประหลาด น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่เคยไปทำจดหมายเปิดผนึกถึงประธาน สนช.ว่าท่านไม่ได้มาจากประชาชนเสียหน่อย แล้วจะมาดำเนินการถอดถอนอดีตนายกฯมาจากประชาธิปไตย โดยไม่ฟังคำชี้แจง คนที่ท่านได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงด้วยซ้ำ แต่ในวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำจดหมายเปิดผนึก คิดว่าท่านก็เริ่มรู้สึกว่าท่านจะได้รับความเป็นธรรม
ในกรณีนี้ผมยังมอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในแง่ดี ท่านก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ความคิดผมอาจจะผิดก็ได้นะ เพราะฉะนั้นการที่มีนักกฎหมายไปชี้แจงท่านว่าให้ช่องทางนี้ ผมอยากตำหนินักกฎหมายคนนั้นจะเป็นใครก็แล้วแต่ เพราะการไปเสนอให้ใช้ตรงนี้มันรังแต่จะนำไปสู่การที่สังคมเห็นว่าใช้กระบวนการ เส้นทางที่ไม่เป็นธรรม
หากเปรียบเรื่องคดีรับจำนำข้าวกับการเล่นฟุตบอล ไม่ว่าเกมฟุตบอลจะเล่นกันรุนแรงแค่ไหน แต่พวกผมยืนยันว่าจะเล่นตามกฎ กติกา ไม่มีการเล่นนอกเกมอย่างแน่นอน เพราะผมเชื่อว่าท้ายที่สุดคนที่ดูเกมฟุตบอลจะรู้อยู่เสมอว่ากฎ กติกา นั้นเป็นอย่างไร