นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลว่า ช่วงข้าวต้นฤดูนาปี หรือเดือนพฤศจิกายน 2558 - กุมภาพันธ์ 2559 กระทรวงพาณิชย์จะทดลองเปิดประมูลข้าวเสียจากคลังขนาดเล็กที่มีปริมาณข้าวไม่มากเข้าสู่อุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ และทดสอบกระบวนการประมูลข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม รวมทั้งมาตรการ ข้อกำหนด และกลไกภาคปฏิบัติในการควบคุมไม่ให้ข้าวเสียรั่วไหลสู่วงจรข้าวตามปกติ
เบื้องต้นกรมการค้าต่างประเทศจะประกาศเงื่อนไขการระบายข้าวเสื่อมและเปิดประมูลปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ซึ่งต่อครั้งระบายรวมไม่เกิน 1 หมื่นตัน ต่อจากนั้นหลังพ้นช่วงต้นฤดูนาปีไปแล้ว หรือเดือนมีนาคม 2559 เป็นต้นไป กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาปัจจัยผลจากภัยแล้งว่าผลผลิตในตลาดมีเพียงพอต่อการบริโภคและการส่งออกหรือไม่เพียงใดเพื่อกำหนดแผนการระบายให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
นางสาวชุติมา กล่าวว่า การบริหารจัดการข้าวในสต๊อกมีถึง 18 ล้านตันเศษ ซึ่งเป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพแล้วกว่าครึ่ง นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาได้พยายามดำเนินการด้วยความรอบคอบ รัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และภายใต้คำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2558 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ตามอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ คณะกรรมการ คณะทำงาน และบุคคล จากการรับผิดทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญา นั้น
เป็นมาตรการที่มีส่วนช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ภาคปฏิบัติมีความมั่นใจในการดำเนินงานมากขึ้นเป็นการแก้ไขข้อกังวลที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการข้าวในสต๊อกของรัฐ ระงับยับยั้งความเสียหายของรัฐจากภาระค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องแบกรับเอาไว้ ทำให้การแก้ไขปัญหาข้าวในสต๊อกของรัฐบาลดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวในสต๊อกของรัฐไปแล้วกว่า 5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 52,300 ล้านบาท