“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ”เร่งผุด21โครงการลงทุนเป็นรูปธรรม

เป็นเด็กเรียนเก่งจากจังหวัดศรีสะเกษ ที่เข้ามาต่อมัธยมตอนปลายและปริญญาตรีในกรุงเทพมหานคร ทุกๆครั้งที่เขาต้องเดินทางกลับจังหวัดบ้านเกิดจะใช้บริการรถไฟชั้น 3 กรุงเทพฯ–ศรีสะเกษ ที่อัดแน่นไปด้วยผู้โดยสาร

เขาลองเลือกใช้วิธีนั่งรถ บขส.จากกรุงเทพฯไปลงโคราช เพื่อต่อรถไฟอีกที โดยหวังว่ารถไฟจะว่าง แต่หลายครั้งก็เจอรถไฟที่คงแน่นอยู่เหมือนเดิม จนต้องยืนไปถึงศรีสะเกษ

หลายครั้งเขาเลือกที่จะนั่งและนอนไปกับพื้นอันแสนสกปรกของรถไฟชั้น 3 พร้อมๆกับมีประกายความคิดขึ้นมาว่า...“หากในอนาคตได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารงานตรงนี้ จะปรับปรุงการให้บริการรถโดยสารสาธารณะให้ดีขึ้น”

ความคิดของเด็กคนนั้นกลายเป็นจริงในวันนี้ และเขาคงไม่เคยคิดมาก่อนว่าตลอดอายุการรับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จนขึ้นเป็นผู้บริหารเบอร์ 1 ในตำแหน่งเลขาธิการ สศช. วันหนึ่งกลับกระโดดข้ามห้วยมานั่งในตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม” ได้

วันนี้ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” มีโอกาสที่จะทำสิ่งที่เคยคิดในวัยเด็กให้เป็นจริงได้ ตามที่ได้กล่าวกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า งานของกระทรวงคมนาคมมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคืองานบริการประชาชนที่ต้องทำให้ดีที่สุด อีกส่วนคือการลงทุนในโครงการที่เป็นการวางรากฐานของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

งานทุกส่วนเป็นสิ่งที่ท้าทายการทำงานของเขา ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมถูกเร่งรัดและจับตามองว่าจะสามารถดำเนินโครงการต่างๆให้เป็น “รูปธรรม” ภายในรัฐบาลนี้ได้อย่างไร

แผนลงทุน 3 ขั้นสู่รูปธรรม

นายอาคมเปิดเผยกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า แผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ได้กำหนดเป็นเต็มรูปแบบไว้ 8 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2565 ครอบคลุมทั้งระบบถนน น้ำ ราง และอากาศ มูลค่ารวมกว่า 3.3 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันดำเนินการมาต่อเนื่องตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้นโยบายไว้ และอยู่ในขั้นตอน

โรดแมปที่ 2 คือ การจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนได้จริงช่วงปี 2558-2559 ส่วนโครงการที่เหลือก็จะนำเข้าสู่โรดแมปที่ 3 คือ การจัดเป็นแผนการลงทุนระยะยาว เพื่อเตรียมส่งมอบงานให้รัฐบาลชุดต่อไปทำต่อ

สำหรับการลงทุนโรดแมปขั้น 2 กระทรวงคมนาคมแบ่งภาคการลงทุนออกเป็น 2 ส่วน เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐาน บก น้ำ อากาศ ราง อีกส่วนเป็นการพัฒนาการให้บริการสาธารณะ

“นับตั้งแต่ผมเข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ช่วงเดือน ก.ย. ได้นำบัญชีโครงการ ลงทุนไปหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดเลือกว่าโครงการไหนมีความสำคัญและมีความพร้อม ก็รีบนำเข้าสู่แผนปฏิบัติการลงทุนระยะเร่งด่วนปี 2558-2559 เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยว่าควรมีไม่ต่ำ 17-18 โครงการ แต่ต่อมาก็ปรับเพิ่มเป็น 21 โครงการ และอาจเพิ่มได้อีกหากเห็นว่าเหมาะสม”

ขั้นตอนการทำงานที่ทำให้เกิดเป็นรูปธรรม หลักๆมี 3 ขั้นตอน รูปธรรมขั้น แรก คือ การนำพาโครงการให้ผ่านอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตรงนี้ สำคัญและใช้เวลามาก เพราะก่อนจะเสนอไปกระทรวงคมนาคมต้องจัดทำรายละเอียด ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รวมถึงนำผ่านการพิจารณาจากหน่วยงาน และผู้มีส่วนได้เสียให้เสร็จก่อน จนเมื่อเห็นว่าโครงการพร้อมแล้วถึงเสนอได้

หาก ครม.เห็นชอบจะเป็นการการันตีว่าโครงการนั้นจะเดินหน้าได้แน่ ไม่สะดุดแม้จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ตาม เช่น โครงการจัดหาผู้เดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่อนุมัติจากรัฐบาลก่อน แต่มาถึงรัฐบาลชุดนี้ก็เร่งหาผู้เดินรถให้เสร็จโดยเร็ว

ความเป็นรูปธรรมขั้นต่อมา เมื่อ ครม.อนุมัติแล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการไปจัดทำเงื่อนไขประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อเปิดประมูลหาผู้รับเหมามารับงานก่อสร้าง ขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่มาก แต่ก็ต้องทำอย่างโปร่งใส และหากการประมูลได้ผู้ชนะแล้ว และไม่มีใครร้องเรียน ก็สามารถก้าวไปสู่กระบวนที่ 3 คือการลงมือก่อสร้างตอกเสาเข็ม

ถือมีความเป็นรูปธรรมจับต้องได้มากสุด เพราะหมายถึงจะมีการเริ่มก่อสร้าง เบิกจ่ายงบประมาณ สั่งซื้อวัสดุ เครื่องมือเครื่องจักร การจ้างงานตามมา

โครงการเร่งด่วนบก–น้ำ–อากาศ

ปัจจุบันแผนปฏิบัติการลงทุนระยะเร่งด่วน มี 21 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 1.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นทางถนน 3 โครงการ ทางอากาศ 1 โครงการ ทางน้ำ 2 โครงการ และระบบราง 14 โครงการ ที่ผ่านมาได้ลงมือทำและคืบหน้าไปหลายโครงการ

เริ่มต้นจากทางบกได้ผลักดันโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง มูลค่ารวมกว่า 160,420 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้ว ที่สำคัญ 2 ใน 3 โครงการนี้ คือ เส้นพัทยา-มาบตาพุด กำลังเดินหน้าสู่ขั้นตอนการออกทีโออาร์ ตั้งเป้าจะจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จเดือน ธ.ค.2558 เพื่อให้ลงมือก่อสร้างทันไตรมาส 2 ปี 2559

ขณะที่เส้นบางปะอิน-นครราชสีมา และเส้นกาญจนบุรี- บางใหญ่ ได้ผลักดันให้เป็นโครงการให้เอกชนร่วมลงทุน ในโครงการของรัฐ (พีพีพี) เพื่อลดภาระการใช้งบประมาณรัฐบาล และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่มีกรอบโครงการพีพีพี ฟาสต์แทร็ค

โดยกำหนดให้กระทรวงคมนาคมขอความเห็นชอบโครงการภายในเดือน ธ.ค.2558 จากนั้นเสนอคณะกรรมการพีพีพี เดือน ก.พ.2559 และเสนอ ครม.ภายในเดือน มี.ค.2559 เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมโครงการในเดือน พ.ค.2559 ซึ่งหน่วยงานเตรียมร่างสัญญาทีโออาร์ล่วงหน้าไว้ก่อนได้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการประมูลและก่อสร้างต่อไป

ด้านการพัฒนาทางอากาศ มีแผนพัฒนาหลักคือ โครงการสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงินกว่า 51,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา การลงทุนทำได้ช้ามากเพราะ ครม.อนุมัติไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 และอีไอเอก็ผ่านหมดแล้ว แต่กลับไม่ก้าวหน้า เพราะต้องเผชิญทั้งการเปลี่ยนแปลงบอร์ด เปลี่ยนแปลงนโยบายกระทรวง รวมถึงการปรับราคาลดลง ดังนั้น จึงให้นโยบายว่าจะต้องเร่งให้การดำเนินการเร็วกว่านี้ จากเดิมมีแผนเริ่มก่อสร้างได้เดือน ก.พ. 2559

ขณะที่โครงการพัฒนาทางน้ำ มี 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง ท่าเรือแหลมฉบัง 1,864 ล้านบาท โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 อีก 2,031 ล้านบาท

เร่งรถไฟทางคู่–รถไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน การพัฒนาระบบราง ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและ มีการลงทุนมากสุด เริ่มจากโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดทาง 1 เมตร ในแผนระยะแรกต้องเร่งทำ 6 โครงการ รวม 118,025 ล้านบาท โดยโครงการช่วงฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ได้ผ่าน ครม.ไปแล้ว และกำลังรอประกวดราคาอยู่ ซึ่งจะเสร็จภายในปี 2558

นอกจากนี้ มีอีก 4 โครงการที่รอเข้า ครม. ต้นปีหน้า คือ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ซึ่งผ่านอีไอเอไปแล้ว ส่วนเส้นทางนครปฐม-หัวหิน รอแก้ไขอีไอเอ เช่นเดียวกับ เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ที่รอผลการศึกษาอีไอเอ ซึ่งจะเสร็จและทยอยเข้า ครม.ไล่เลี่ยกัน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ปัจจุบันมี 5-6 โครงการ โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 110,116 ล้านบาท ได้จัดทำรายละเอียดเสร็จแล้ว รอบรรจุเข้าวาระการประชุม ครม.

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 131,003 ล้านบาท ได้เสนอเข้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อรอขอความเห็นก่อนเสนอเข้า ครม. เช่นเดียวกับโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง 44,157 ล้านบาท จะทยอยเสนอเข้า ครม.ในต้นปีหน้า

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี 56,725 ล้านบาท กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง 54,768 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ 82,494 ล้านบาท ทั้ง 3 โครงการได้ผลักดันให้เป็นโครงการพีพีพี ฟาสต์แทร็ก มีกรอบเวลาทำงานเช่นเดียวกับมอเตอร์เวย์ 2 สายข้างต้น

นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มเติม ถือเป็นโบนัสให้กับประชาชน จากปัจจุบันที่กำลังสร้างทิศเหนือจากหมอชิต–คูคต และทิศใต้จากแบริ่ง–สมุทรปราการ จะพิจารณาเพิ่มฝั่งละ 4 สถานี จากสมุทรปราการเพิ่มไปถึงบางปู และคูคตไปถึงคลอง 5 ลำลูกกา เข้าไปในศูนย์เทคโนธานี คลอง 5 ซึ่งผ่านการศึกษาอีไอเอแล้ว

ขณะที่โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จากพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง เบื้องต้นจะขยายไปบางซื่อก่อน และค่อยขยายไปดอนเมือง

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง 155,774 ล้านบาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน 94,673 ล้านบาท อยู่ระหว่างการทำอีไอเอ แต่จะมีการผลักดันเข้าโครงการเร่งด่วนของพีพีพี เพื่อลงทุนร่วมกับเอกชน

เป้าหมายรถไฟร่วมจีน–ญี่ปุ่น

อีกหนึ่งไฮไลต์โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทาง 1.453 เมตร ไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-แก่งคอย-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-มาบตาพุด เข้าใจว่าคนคาดหวังอยากให้เกิดขึ้นรวดเร็ว แต่ต้องไม่ลืมว่าโครงการเหล่านี้มีขนาดใหญ่ใช้เงินมหาศาล กระทรวงคมนาคมจึงจำเป็นต้องศึกษาให้ดี รอบคอบก่อนลงมือทำ โดยที่ผ่านมาได้ประสานเช็กข้อมูลกับรัฐบาลจีนตลอด

แม้จะสร้างทางไม่ทันสิ้นปีนี้ ตามแผนก็จะมีการวางศิลาฤกษ์ศูนย์ควบคุมการเดินรถ บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ย่านเชียงรากน้อย จ.ปทุมธานี ก่อน เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์เริ่มต้นของโครงการว่าจะมีแน่นอน และตามแผนในเดือน พ.ค.2559 จะเริ่มตอกเสาเข็มได้แน่นอน

ส่วนความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ตอนนี้มีอยู่ 3 เส้นทางหลัก คือ รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, ความร่วมมือพัฒนาเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-มาบตาพุด-สระแก้ว และเส้นทางตาก-มุกดาหาร

โดยเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-สระแก้ว หลังหารือกับที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแล้ว จะเป็นเส้นแรกที่เป็นรูปธรรมก่อนใคร

ในช่วงสิ้นเดือน พ.ย.นี้ ที่รองนายกฯ สมคิดเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ก็จะลงนามความร่วมมือพัฒนาเป็นรูปธรรมใน 3 ด้าน 1.การปรับปรุงทางเดี่ยวช่วงกาญจนบุรี–กรุงเทพฯ–แหลมฉบัง–สระแก้ว ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องทำอีไอเอเพราะอยู่ในแนวเส้นทางเดิม จึงเริ่มเข้าไปทำได้เลยปีหน้า ปรับปรุงส่วนต่อขยาย ราง ทางข้ามอันตราย เพื่อช่วยเพิ่มความเร็วในการเดินรถ ตลอดจนเตรียมเชื่อมโยงไปสู่เขตอุตสาหกรรมพิเศษทวาย

2. ไทยจะเสนอจัดตั้งบริษัทเดินรถร่วมกัน โดยให้ ร.ฟ.ท.เข้ามาลงทุนร่วมกับบริษัทญี่ปุ่น เพื่อบริหารเดินรถในเส้นทางนี้ 3. จะเสนอพัฒนาเส้นทางนี้จากทางเดี่ยวเป็นทางคู่ พร้อมขยายเส้นทางจากกาญจนบุรีไปถึงพุน้ำร้อน เพื่อรอเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ส่วนนี้คาดทำอีไอเอ 1 ปี

******************************
สุดท้าย รมว.คมนาคม กล่าวถึงการเข็นเมกะโปรเจกต์ให้เกิดได้ ภายในรัฐบาลนี้ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่เป็นโครงการใหญ่ใช้เงินมาก การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาบางโครงการต้องใช้เวลานาน 3–5 ปี แต่วันนี้พยายามแก้ไขกระบวนการพิจารณาต่างๆให้เร็วขึ้น

นายกรัฐมนตรีก็ปรารถนาดีเสนอทางเลือก ให้ใช้มาตรา 44 มาช่วยลดขั้นตอนของงานที่ไม่จำเป็น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะข้ามขั้นตอน เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรองรับ

“กระทรวงคมนาคมพยายามทำงานให้เร็วที่สุด ตอนนี้ขั้นตอนอีไอเอ สศช. พีพีพี ก็ถือว่าเร่งกันอยู่ ซึ่งเมื่อดูแล้วจึงเสนอนายกฯว่า อาจไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 แค่ใช้มติ ครม.หรือข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้ปฏิบัติตาม เพื่อช่วยลดขั้นตอนล่าช้า”

แต่สิ่งที่ต้องทำแน่นอนคือการปรับระบบบริหารระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหาบริษัทที่รับทำอีไอเอเก่งๆ เพื่อลดเวลาอีไอเอจาก 3-5 ปี ให้เหลือไม่ถึง 1 ปีได้ และ สศช.และกระทรวงคมนาคมต้องทำงานร่วมกันใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มต้นศึกษาความคุ้มค่าของโครงการกันเลย

ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า โครงการลงทุนระยะเร่งด่วนไม่ต่ำกว่า 20 โครงการ มูลค่ามากกว่า 1,881,671 ล้านบาท จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจในประเทศได้ทันในปี 2558–2559 แน่นอน

หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
ไทยรัฐ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด