16 พ.ย. 2558 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างแถลงข่าว ภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ครั้งที่ 8/2558 ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและ สังคมรายพื้นที่ แต่เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงให้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตาม 3 หลักเกณฑ์ คือ 1. หลักเกณฑ์ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง 2. หลักเกณฑ์ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และ 3. สภาพเศรษฐกิจและสังคมรายพื้นที่ และในภาพรวมของประเทศ โดยใช้ข้อมูลของคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและข้อมูลคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเป็นฐานในการพิจารณา
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 2 ท่าน มีผู้ช่วยปลัดกระทรวงเป็นประธาน ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ มาศึกษาวิเคราะห์ร่วมกัน และสรุปผลโดยเร็ว ไม่เกิน 6 เดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฏิรูประบบอัตราค่าจ้างให้มีความเป็นธรรม และเป็นสากล
“การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหลังจากนี้ จะเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ และมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ พิจารณาภายใน 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2559 ” ม.ล.ปุณฑริก กล่าว
ทั้งนี้ นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และนายสมบัติ น้อยหว้าผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งร่วมแถลงข่าวกับปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เป็นไปตามข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่