บอร์ดบีโอไอออกมาตรการเร่งรัดการลงทุน

บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุน ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีกไม่เกิน 4 ปี พร้อมเพิ่ม 10 ประเภทกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด บีโอไอ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ยังลงทุนจริงน้อย โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติในปี 2557 มีผู้ลงทุนแล้ว เพียงร้อยละ 38 ของจำนวนโครงการที่อนุมัติไปแล้วทั้งหมด 2,300 โครงการ มูลค่ารวม 875,000 ล้านบาท และโครงการที่อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 2558 อีก 362 โครงการ มูลค่า 48,000 ล้านบาท ลงทุนจริงร้อยละ 10 ซึ่งบีโอไอประเมินว่า โครงการลงทุนในภาพรวมน่าจะลงทุนได้จริงในปี 2559 ในส่วนของบีโอไอ จำนวน 100,000 ล้านบาท และรวมกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของกระทรวงการคลังอีก 100,000 ล้านบาท รวมแล้วในปี 2559 น่าจะมีเงินลงทุนรวมทั้งหมดประมาณ 200,000 ล้านบาท

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเร่งเปิดโครงการ ทั้งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ทั่วไป ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขในการให้ส่งเสริม โดยโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ที่เริ่มมีการผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 1-4 ปี ซึ่งวิธีการให้สิทธิประโยชน์จะขึ้นอยู่กับมูลค่าเงินลงทุนจริงในแต่ละช่วงเวลาที่กำหนด ดังนี้

กรณีแรก มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของเงินลงทุนภายในเดือนมิถุนายน 2559 พื้นที่ทั่วไปและเขตพัฒนาเศรฐษกิจพิเศษ ยกเว้นเพิ่มเติม 4 ปี + ลดหย่อนร้อยละ 50 นาน 5 ปี กรณีมีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเงินลงทุนภายในเดือนมิถุนายน2559 พื้นที่ทั่วไปและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ยกเว้นเพิ่มเติม 3 ปี บวกลดหย่อนร้อยละ 50 นาน 5 ปี กรณีมีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเงินลงทุนภายในเดือนธันวาคม 2559 พื้นที่ทั่วไปและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ยกเว้นเพิ่มเติม 2 ปี บวก ลดหย่อนร้อยละ 50 นาน 5 ปี และกรณีมีการลงทุนต่อสร้างอาคารหรือซื่อเครื่องจักรไม่ถึงร้อยละ 50 ของเงินลงทุน ภายในเดือนธันวาคม 2559 แต่สามารถเริ่มผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560 พื้นที่ทั่วไปยกเว้นภาษีเพิ่มเติม 1 ปี และเพิ่มเป็น 2 ปีในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ส่วนตัวเลขยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558 ภาพรวมดีขึ้น โดยมียอดคำขอทั้งหมด 758 โครงการ 155,000 ล้านบาท อนุม้ติ 1,769 โครงการ 665,000 ล้านบาท ภาพรวมปีนี้ ตั้งเป้ายอดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมไว้ที่ 350,000 ล้านบาท จนถึงขณะนี้มียอดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้วเกือบครึ่ง โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนโครงการที่ยื่นคำขอเข้ามาทั้งหมด

หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
กรุงเทพธุรกิจ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด