น่าเป็นห่วง ผลสำรวจชี้ ความปลอดภัยของไทย อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่มหานครโตเกียวรั้งอันดับ 1 เมืองปลอดภัยที่สุดในโลก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ The Economist Intelligence Unit ได้จัดอันดับ 50 เมืองที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการอยู่อาศัยประจำปี 2558 โดยวัดจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความปลอดภัยทางดิจิทัล ความปลอดภัยด้านสุขภาพ ความปลอดภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความปลอดภัยส่วนบุคคล ซึ่งเมืองไทย กรุงเทพมหานคร ติดอันดับ 39 จากผลการจัดอันดับความปลอดภัยเมืองใหญ่ทั่วโลกได้ 63 คะแนนจาก 100
สรุปได้ว่าความปลอดภัยในเมืองไทยยังอยู่ในระดับกลางค่อนข้างต่ำถือว่ามีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดอย่างมีความถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีตัวอย่างที่เกิดในประเทศไทยเอง เช่น เหตุการณ์สึนามิ ปี 2547 เหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 และล่าสุดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายปี 2557
รศ.เอนก ศิริพานิชกรประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวในงานแถลงข่าวเรื่อง “ประเทศไทย VS ภัยพิบัติ…คนไทยเตรียมพร้อมหรือยัง?” ว่าภัยพิบัติที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญมีหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ (Natural Diasters) สำหรับประเทศไทยมี 8 ประเภท ประกอบไปด้วย
1. แผ่นดินไหว (Earthquakes) ดังที่เคยเกิดแผ่นดินไหวที่ อ.แม่ลาว เมื่อปี 2557 ซึ่งปรากฏพบว่าอาคารขนาดเล็ก (สูงไม่เกิน 15 ม.) ที่ไม่ใช่อาคารวิศวกรรมควบคุมเกิดความเสียหายมาก ซึ่งปัจจุบันมีความพยายามที่จะประกาศให้เป็นอาคารควบคุม และมีวิศวกรดูแลในบริเวณ 2 ตามประกาศกฎกระทรวงฯ
2. คลื่นใต้น้ำ (Tsunami) ซึ่งอาจเป็นผลจากการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากในรอยเลื่อนใกล้ภาคใต้ประเทศไทย
3. วาตภัย เป็นพายุโซนร้อนที่เกิดเป็นประจำตามฤดูกาล เกิดเพิ่มมากขึ้นจากการที่ประเทศไทยมีบรรยากาศที่ร้อนขึ้นจากการใช้พลังงานที่มีอัตราเพิ่มสูงมากในปัจจุบัน มีผลทำให้อาคาร สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่พังเสียหาย
ทั้งนี้ปัจจุบันกรมโยธาธิการ และผังเมืองได้ออกมาตรฐานอาคารรับแรงลม (มยผ. 1311) โดยกำหนดความเร็วลมในการออกแบบไว้ในช่วง 90-110 กิโมเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งต่ำกว่าในหลายประเทศที่มีปัญหาจากไต้ฝุ่น แต่วิศวกรผู้ปฏิบัติงานยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้
4. อุทกภัย (Floods) ซึ่งมีผลพวงเกิดจากการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 รวมทั้งการระบายน้ำฝนที่ท่วมขังในกรุงเทพมหานคร ที่ใช้ค่าคาบการเกิดซ้ำของน้ำฝนในการออกแบบระบบระบายน้ำในอดีตไว้ต่ำ (ปกติใช้ค่านี้เท่ากับ 2-10 ปี)
5. ภัยแล้ง (Droughts) ที่ไม่ได้กระทบเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกเท่านั้น ยังมีผลต่อการคืบคลานของน้ำเค็ม ที่เกิดขึ้นเหนือสถานีสูบน้ำดิบ บ้านสำแล จังหวัดปทุมธานี และจะมีผลโดยตรงกับการผลิตน้ำของการประปานครหลวง
6. อัคคีภัย (Fires) ที่เกิดขึ้นอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ใช้อาคารจำเป็นต้องเตรียมพร้อม และซ้อมการผจญเพลิง และหนีไฟ
7. ดินถล่ม (Landslide) ที่เกิดขึ้นกับผู้มีบ้านเรือนอยู่ในลาดเชิงเขา โดยเฉพาะการสร้างที่พักบริการประชาชนนักท่องเที่ยว
8. โรคระบาดในคน และสัตว์ (Human Epidemics and Animal Diseases) ซึ่งเกิดขึ้นในหลาย ๆ ภูมิภาค และต้องเผชิญหน้ารุนแรงมากขึ้นในอนาคตจากระบบขนส่งที่ทันสมัยในปัจจุบัน
แนวทางเร่งด่วนในประเด็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ วสท. จะดำเนินการในด้านแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเกิดจากการพ้องคลื่นของการสั่นธรรมชาติของอาคารกับผลตอบสนองของดินอ่อนในแอ่งกรุงเทพฯ ซึ่งจะแตกต่างอย่างมากกับผลตอบสนองของแผ่นดินไหวโดยตรงในเขตที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง เช่น ภาคเหนือ
ทั้งนี้ วสท.จะติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (Seismometer) อันแรกที่อาคาร วสท. และจะสร้างเครือข่ายของความสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนในการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวในอาคารของตนเอง และจะร่วมบริหารจัดการข้อมูลกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้ได้ข้อมูลการสั่นสะเทือนเพื่อออกแบบอาคารให้ปลอดภัย และประหยัดมากขึ้น
ในส่วนของการประปานครหลวง วสท.ได้ลงนามให้ความร่วมมือทางวิชาการ และจะร่วมกับการเสนอวิธีการจัดการส่งน้ำดิบจากสำแลมายังโรงกรองสามเสน และการสำรวจเพื่อจัดเก็บน้ำประปาในหอสูงที่กระจายอยู่ทั่วไปในกรุงเทพ ฯ เพื่อใช้เป็นปริมาณสำรอง และปรับบังคับความดันน้ำในชั่วโมงการใช้น้ำสูงเพื่อลดค่าพลังงานในการผลิตน้ำประปา
ด้านศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า เนื่องด้วยการก้าวหน้าทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีมี่เจริญก้าวหน้ามากขึ้น เราควรที่จะเริ่มต้นคิดถึงการรับมือสถานการณ์เช่นนั้นอย่างจริงจังและมีวิธีการที่เราสามารถใช้เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที หากคนไทยมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ก็จะสามารถเอาชีวิตรอดและฟื้นฟูเมืองได้อย่างรวดเร็ว