เบทาโกรชี้ยุโรปส่งสัญญาณคุมแรงงานคล้ายอุตสาหกรรมประมง เร่งจัดทำมาตรฐาน "Betagro Labor Standard" รับมือ พร้อมวาง Sustainable Way 4 ประการ สร้างความยั่งยืนธุรกิจในอนาคต เผยยอดธุรกิจปีนี้ 2558 ได้แค่ 97,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย จากปัจจัยหลักราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โอเวอร์ซัพพลาย เศรษฐกิจโลกชะลอ
นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสัญญาณจากประเทศคู่ค้าต่าง ๆโดยเฉพาะสหภาพยุโรป เริ่มให้ความสำคัญเรื่องแรงงาน แม้จะยังไม่ออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเหมือนกับอุตสาหกรรมประมง แต่ทางเครือเบทาโกรได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และมีการเตรียมตัวโดยจัดทำมาตรฐานขึ้นมาเฉพาะเรียกว่า "Betagro Labor Standard" จะเป็นมาตรฐานที่ให้ความสำคัญด้านแรงงาน โดยยึดมาตรฐานสากลเป็นหลัก และถือเป็นมาตรฐานแรงงานที่สูงกว่ากระทรวงแรงงานของไทย และมีความพยายามจะทำให้ดีกว่ามาตรฐานที่สากลกำหนด แต่ต้องทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจประมาณ 25,000 คนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงผู้เลี้ยงไก่ในคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับเครือเบทาโกรทั้งหมด ซึ่งได้มีการจัดอบรมไปแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
"เราต้องมาช่วยกันพัฒนา และต้องหาทางยกระดับมาตรฐานแรงงาน อย่าไปคิดว่าเป็นต้นทุน เพราะแรงงานถือเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นอาวุธลับทางธุรกิจ ถ้าเราไม่เตรียมตัวหรือโปร่งใสถือว่าอันตรายมาก เรามีหน่วยงาน HR ต้องศึกษาเชิงลึกทางกฎหมายแรงงาน เราทำได้ดีขนาดไหน เรามีจุดล่อแหลมอะไรที่ต้องทบทวนพัฒนาให้ดีขึ้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาเครือเบทาโกรคิดถึงเรื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยยึดนิยามความยั่งยืนของเบทาโกร หรือ Sustainable Way 4 ประการ ได้แก่ 1.จริยธรรม 2.สังคม การมีส่วนร่วม 3.สิ่งแวดล้อม และ 4.คุณภาพ การทำธุรกิจของเครือเบทาโกรคำนึงถึง 4 ด้านหลักนี้ และพยายามผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและคุณภาพที่ดี ในราคาที่ไม่แพง"
นายวสิษฐกล่าวต่อไปว่า สำหรับคาดการณ์ยอดขายปี 2558 มีมูลค่าประมาณ 96,000-97,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 13-14% ถือว่าต่ำกว่าเป้าเดิมที่ตั้งไว้ที่ 15% เทียบปี 2557 ที่มีรายได้ประมาณ 86,000 ล้านบาท โดยปัจจัยใหญ่ที่ทำให้พลาดเป้าหมายมาจากราคาปศุสัตว์ทั้งไก่ ไข่ หมู ทั้งปีอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำมาตลอด แต่บริษัทยังรักษาระดับการผลิตตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
ส่วนคาดการณ์ปี 2559 ถือว่าเครือเบทาโกรยังดำเนินธุรกิจได้ตามกรอบแผนงาน 10 ปี (พ.ศ. 2010-2020) ที่วางไว้มาตลอด วันนี้มาครึ่งทางได้ยอดประมาณ 90,000 ล้านบาทแล้ว ถือว่าเป็นไปตามแผน และปี 2020 จะทำให้ได้เป้าหมาย 140,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้ปัจจุบันแบ่งภายในประเทศ 80% จากการส่งออก 20% และในปี 2020 คาดว่ารายได้ภายในประเทศจะเพิ่มเป็น 81-82% และส่งออกจะเหลือประมาณ 18-19%
"ปีนี้คิดว่าทิศทางราคาปศุสัตว์น่าจะลงมาในจุดต่ำสุดของราคาปศุสัตว์บางตัว ปีหน้าราคาน่าอยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีเท่าไร จีน รัสเซีย ยังมีปัญหามาก ส่งผลให้ราคาปศุสัตว์ในตลาดโลกยังมีแนวโน้มอ่อนตัวลงอยู่
ปัจจุบันกำลังการผลิตปศุสัตว์ในเครือเบทาโกร แบ่งเป็นไก่เนื้อ 4 ล้านตัวต่อสัปดาห์ หมูขุน 4,000-5,000 ตัวต่อสัปดาห์ ไข่ไก่ 4 ล้านฟองต่อวัน ขณะที่การแปรรูปมีกำลังการผลิตไส้กรอก 4,000-5,000 ตันต่อวัน มียอดขายยาและเคมีภัณฑ์ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทต่อปี และไตรมาส 1 ปี 2559 จะมีการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่ม
สำหรับแผนการลงทุนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการก่อสร้างศูนย์คอมเพล็กซ์ที่ปทุมธานี บนเนื้อที่ 56 ไร่ในนิคมนวนคร ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1.โรงงานแปรรูป 2.โรงบรรจุและคัดแยกไข่ และ 3.ศูนย์กระจายสินค้า รวมมูลค่า1,500 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบ ตามแผนจะเสร็จปี 2560 โดยจะให้บริการครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลักนอกจากนี้ มีแผนขยายโรงงานในระดับภูมิภาค
สำหรับแผนการลงทุนในต่างประเทศใน 1-2 ปีนี้มีแผนลงทุนโรงงานอาหารสัตว์ในประเทศลาวและเมียนมา ขนาดกำลังการผลิตเฟสแรก 6,000 ตัน และขยายกำลังการผลิตได้เต็มที่ประมาณ 12,000 ตัน ขณะที่ในกัมพูชา เพิ่งเปิดโรงงานอาหารสัตว์ เฟส 1 กำลังการผลิตประมาณ 8,000 ตัน และพร้อมขยายเฟส 2 ได้ นอกจากนี้ มีฟาร์มสุกรที่เสียมเรียบ 2,500 แม่ ขณะที่ในลาวจะมีฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ขยายจาก 1,500 แม่ เป็น 5,000 แม่ ในเมียนมามีการเลี้ยงไก่พันธุ์ และมีแผนสร้างโรงงานอาหารสัตว์แห่งใหม่เช่นกัน
นายวสิษฐกล่าวถึงกรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกรายงานผลวิจัยเรื่องอันตรายจากการรับประทานไส้กรอกและเบคอนว่า ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ไม่ควรรับประทานเกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์ จากข้อมูลดังกล่าวหากนำมาเปรียบเทียบเป็นปีเท่ากับ 1 คนต้องบริโภคถึง 26 กรัมต่อคนต่อปี ซึ่งหากย้อนมาดูปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ของคนไทยเฉลี่ยประมาณ 16-17 กรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น