ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวเปลือก ปีการผลิต 2558/59 โดยสถานการณ์ผลิตข้าวเปลือกของ จ.อุดรธานี ปีการผลิต 2558/59 คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 831,777 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผลผลิตประมาณ 914,040 ตัน หรือลดลงร้อยละ 8.99 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จะเพาะปลูกข้าวเปลือกเหนียว ปริมาณ 582,244 ตัน และร้อยละ 30 เพาะปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ ปริมาณ 249,533 ตัน รวมทั้งตรวจติดตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน และ 27 ตุลาคม 2558 ดังนี้
1.โครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โดย ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อชะลอการจำหน่าย ขายผลผลิตโดยใช้ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียวเป็นหลักประกันในพื้นที่ภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วงเงินสินเชื่อข้าวหอมมะลิชนิดสีได้ต้นข้าว 36 กรัม ตันละ 13,500 บาท ข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 11,300 บาท และข้าวเหนียวคละ ตันละ 10,300 บาท ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ 1 พ.ย. 2558 - 28 ก.พ. 2559 วงเงินค่าใช้จ่าย 29,040 ล้านบาท โดยจังหวัดอุดรธานี มีผู้เข้าร่วมโครงการ ทุกประเภท จำนวน 119 ราย ปริมาณข้าวทั้งสิ้นจำนวน 4,995.77 ตัน โดยแยกเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ จำนวน 3,150.06 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว จำนวน 1,845.71 ตัน วงเงินกู้ 69,449,646 บาท
2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก โดยจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่กู้ยืมเงินจากธนาคาร โดยมีสต๊อกข้าวเปลือกหรือข้าวสารที่รับซื้อจากเกษตรกร เป็นหลักประกัน (Packing Stock) ในอัตราร้อยละ 3 ระยะเวลาเก็บสต๊อกไม่น้อยกว่า 2-6 เดือน เป้าหมาย 3 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ช่วยดึงอุปทานออกจากตลาด ส่งผลให้ราคาตลาดข้าวเปลือกมีเสถียรภาพ ทางด้านความคืบหน้า ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์แจ้งความประสงค์การเข้าร่วมโครงการจากผู้ประกอบการค้าข้าวแล้ว จำนวน 8 ธนาคาร ผู้เข้าร่วมโครงการ 299 ราย ต้นเงินกู้รับซื้อข้าวเปลือกในการเก็บสต๊อก 79,802.76 ล้านบาท คิดเป็นข้าวเปลือกประมาณ 8.55 ล้านตันข้าวเปลือก สำหรับจังหวัดอุดรธานี มีผู้เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสิ้น 9 โรงสี ปริมาณการเก็บสต๊อกตามโครงการ ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2558 ประมาณ 77,000 ตัน