เอ็นจีโอโอดถูกตัดงบ ชี้ 101 บาท ไทยไม่ใช่ปท.รายได้ปานกลาง

ภาคประชาสังคมไทย ยื่นหนังสือต่อธนาคารโลก ส่งสัญญาณไม่เห็นด้วยต่อการจัดอันดับฐานรายได้กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ชี้ที่ผ่านมาหลายองค์กร ได้รับผลกระทบถูกตัดเงินสนับสนุนในการทำงาน

เมื่อวันที่ 17 พฤจิกายน 2558 มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ ประจำประเทศไทย (AHF Thailand) และเครื่องข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ออกมารวมตัวกันบริเวณ ลานเอนกประสงค์สยามสแคว์ซอย 5 เพื่อยื่นหนังสือต่อสำนักงานธนาคารโลก ประจำประเทศไทยขอให้ “พิจารณาทบทวนวิธีการจัดอันดับรายได้” ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้จัดการมูลนิธิเอดส์ เฮทล์ แคร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยกับทางสำนักข่าวอิศราว่า เมื่อปี 2543 ทางธนาคารโลก หรือ World Bank ได้จัดอันดับประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งใน 28ประเทศรายได้ต่ำสู่ประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งมองการตีความคำว่ารายได้ปานกลาง หมายถึงไม่มีความยากจน ประชาชนหนึ่งคนมีรายได้ต่อวันอยู่ที่ 2.86 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นไทยคือ 101บาท

“ถามว่า รายได้ หนึ่งร้อยบาทคุณจะใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานได้อย่างไร เทียบดูง่ายๆ ซื้อกาแฟแก้วหนึ่งได้ไหม หรือ นั่งรถไฟฟ้าไปกลับที่ทำงานก็หมดเเล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องมีการทบทวนในส่วนตรงนี้”

ผู้จัดการเอดส์ เฮทล์ แคร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากการจัดอันดับดังกล่าว ก็ส่งผลต่อการดำเงินงานในภาคประชาสังคม เพราะกองทุนต่างๆ อย่างเช่น กองทุนโลกหรือ Globle Found ซึ่งอิงมาตรฐานจากธนาคารโลกในการจัดสรรงบประมาณสนุบสนุนการทำงาน เมื่อไทยถูกจัดให้อยู่ในฐานะปานกลาง เงินในการสนับสนุนก็ลดลงตาม ทั้งๆ ที่หากลองมองในสังคมบ้านเราจริงๆ มีคนจนในเปอร์เซ็นต์ที่ยังสูงอยู่ และรัฐเองยังขาดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเผชิญการถูกตัดงบสนับสนุนจากนานาชาติส่งผลต่อการเข้าถึงการบริการต่างๆ รวมไปถึงการดำเนินงาน

“ตัวอย่างเช่นมูลนิธิทำงานเรื่องโรคเอดส์ เมื่อถูกตัดรายได้จากการจัดลำดับดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางซึ่งมีสัดส่วนของภาวะการติดเชื้อเอชไอวีใหญ่ที่สุด ต้องทำงานภายใต้งบประมาณสนับสนุนที่น้อยลง ถามว่าการดำเนินจากไปได้สักแค่ไหน เพราะการดำเนินงานก็ต้องอาศัยปัจจัยการเงินด้วยเช่นกัน”

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ทางธนาคารโลกส่งตัวแทนเข้ามาเจรจา และอนุญาตให้ตัวแทนเข้ายื่นหนังสือ นายชาติวุฒิ วังวล ให้สัมภาษณ์ว่า ในฐานะผู้จัดการมูลนิธิเอดส์ เฮทล์ แคร์ (ประเทศไทย) ขอให้ทางธนาคารโลก พิจารณาทบทวนวิธีการจัดอันดับรายได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ และควรสอดคล้องกับเกณฑ์รายได้ที่เพียงพอสำหรับประชาชนคนหนึ่งในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานได้

พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอให้ธนาคารโลกปรับฐานรายได้ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ให้อยู่ในระดับรายได้มวลประชาชาติต่อหัว หรือ GNI เกินกว่า 3,650 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 127,750 บาทต่อปี เฉลี่ย 350 บาทต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการมูลนิธิเอดส์ เผยว่า ทางธนาคารโลก ประจำประเทศไทยจะนำเรื่องที่เสนอเข้าที่ประชุมย่อยและจะยื่นเรื่องต่อไป ณ สำนักงานใหญ่เพื่อพิจารณา

แหล่งข่าว: 
สถาบันอิศรา

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด