บอร์ด สสค.เดินหน้าจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว แก้ปัญหาเด็กยากจนที่สุด 20% ล่างของประเทศ 1.5 ล้านคน ชี้ความยากจนเป็นปัญหาอันดับ 1 ที่ทำให้เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา (ที่มาภาพประกอบ: toysforthailand.org)
18 พ.ย. 2558 หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์รายงานว่าเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมาที่ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ครั้งที่ 3/2558 มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ สสค. เป็นประธานในที่ประชุม ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวถึงโครงการวิจัยพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ ว่า เด็กยากจนเป็นปัญหาอันดับ 1 ของการหลุดออกจากระบบการศึกษา จากผลการวิจัยบัญชีรายจ่ายการศึกษาแห่งชาติของ สสค.พบว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กยากจนชั้น ป.1-ม.3 เพียง 0.5% ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด แต่ยังมีเด็กยากจนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะขาดกลไกการค้นหาเด็กยากจนจริง ทำให้เงินไปไม่ถึงตัวเด็กยากจนทุกคน นอกจากนี้ จำนวนเด็กที่โรงเรียนรายงานมามีมากกว่าเกณฑ์ยากจนจริงกว่า 2 เท่า จึงใช้วิธีจัดสรรงบด้วยระบบโควตาไม่เกิน 30-40% ของจำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียน ทำให้เด็กยากจนจริงไม่ได้รับเงินอุดหนุนเต็มตามอัตราที่กำหนดไว้ เพราะต้องเกลี่ยเงินไปให้เด็กที่ยากลำบากน้อยกว่า และเงินอุดหนุนที่ได้รับก็เป็นการจัดซื้อของ ซึ่งอาจไม่ตรงตามเป้าหมายลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนยากจนที่แท้จริง
ดร.ไกรยสกล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปเงินอุดหนุนเพื่อเด็กยากจนจึงต้องเปลี่ยนระบบโควตาเงินอุดหนุนเป็นระบบเงินที่จ่ายตรงไปที่ตัวเด็กยากจน โดยต้องมี "ระบบสารสนเทศระดับโรงเรียนเพื่อเป็นเครื่องมือคัดกรองเด็กที่มีความยากจนอย่างแท้จริง" โดยมีการคำนวณเงินอุดหนุนแก่เด็กยากจนในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดของประเทศ 20% แรก ครอบคลุมประชากรเด็กยากจนในระบบการศึกษาที่แท้จริงจำนวน 1.5 ล้านคน พร้อมกับติดตามพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กยากจนจนจบการศึกษาภาคบังคับ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนงบประมาณถึงตัวเด็ก ซึ่ง สพฐ.ได้ให้ความสำคัญ และกำลังดำเนินการร่วมกับ สสค.เพื่อนำงานวิจัยนี้ไปปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาให้ถึงตัวเด็กยากจน 1.5 ล้านคนโดยตรงภายในปีการศึกษา 2559
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานยกระดับคุณภาพการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อพัฒนากำลังคนรองรับเศรษฐกิจฐานราก ในพื้นที่ 4 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ จ.ตราด สระแก้ว ตาก หนองคาย โดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐ และท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคนรองรับเศรษฐกิจฐานราก ทั้งการ เตรียมความพร้อมเยาวชนทั้งในและนอกระบบในพื้นที่ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน การพัฒนาศักยภาพของลูกจ้าง และการจัดทำฐานข้อมูลตลาดแรงงาน ทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ และทิศทางอาชีพที่เกิดความต้องการในอีก 5 ปีข้างหน้า