มติชนรายวัน วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
เซอร์ไพรส์กันไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับคะแนนเสียงขาดลอยที่ชาวพม่าจรดนิ้วก้อยมอบให้พรรคเอ็นแอลดีของนางอองซานซูจี แม้จะเป็นที่คาดการณ์มาก่อนแล้วว่าพรรคดังกล่าวน่าจะคว้าชัย แต่ผลโหวตอย่างถล่มทลายก็ทำเอานักวิชาการหลายแขนงออกมาวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงทิศทางความเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้ง ซึ่งยังมีสถานการณ์และปัญหาที่น่าจับตา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นชาติพันธุ์และศาสนาที่ถูกมองว่าจะยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ยิ่งกว่านั้นอาจทวีความซับซ้อนมากขึ้นด้วยซ้ำไป
ไหนจะเศรษฐกิจ ที่มีการตั้งคำถามว่า จะส่งผลมากน้อยเพียงใดต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติซึ่งอาจคุ้นเคยต่อการตกลงธุรกิจกับรัฐบาลทหารพม่ามานาน ไม่เว้นแม้แต่ด้านสุนทรียะ อิสระทางการแสดงออกซึ่งจะถูกปลดปล่อยอย่างจริงแท้หลังการปกครองโดยผู้นำทางความคิดที่มีภาพลักษณ์ด้านประชาธิปไตยหรือไม่?
หรือความคาดหวังที่มีต่อพม่าหลังการเลือกตั้ง จะไม่ได้งดงามสวยหรูอย่างที่โลกคาดหวังจะให้เป็น
"3 ก๊กพม่า" การเมือง เรื่อง(พหุ)ชาติพันธุ์
เริ่มต้นด้วยประเด็นแน่นหนัก อย่างชาติพันธุ์ที่ไม่อาจแยกออกจากศาสนา อันส่งผลต่อการเมืองพม่าอย่างเหลือล้น ผลกระทบหลังเลือกตั้งและแนวโน้มในอนาคตเป็นอย่างไร ต้องจ่อไมค์ไปที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์อย่าง ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ซึ่งมองว่าสถานการณ์ตอนนี้ หากพูดให้เห็นภาพอย่างเข้าใจง่ายๆ คือการเกิด 3 ก๊กในพม่า ได้แก่ ก๊กซูจี ก๊กทหาร และก๊กชาติพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันความสัมพันธ์ของฝ่ายทหารกับซูจีมีแนวโน้มประนีประนอมกันได้
ดังนั้น ปัญหาจึงตกไปอยู่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ ที่กลายเป็นผู้ไม่มีพันธมิตรทางการเมือง แม้ซูจีเองจะมีภาพลักษณ์ในด้านประชาธิปไตยและความเท่าเทียม แต่ท่าทีต่อกลุ่มชาติพันธุ์กลับเป็นไปอย่างคลุมเครือ และนี่ก็คือส่วนหนึ่งที่จะเป็นปัญหาต่อไป
"ตอนนี้ซูจีกับทหารคุยกันได้แล้ว เผลอๆ อาจมีแว้บๆ ออกมาว่าอาจให้เต็งเส่งเป็นประธานาธิบดีต่อไหม แล้วซูจีเป็นประธานรัฐสภา กระแสที่ออกมานี้อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่สะท้อนว่าซูจีกับกองทัพมีแนวโน้มตกลงกันได้ แต่ก๊กที่ 3 คือกลุ่มชาติพันธุ์ ค่อนข้างมีปัญหา ซึ่งแม้จะได้รับชัยชนะของรัฐตนก็จริง แต่จะเป็นพันธมิตรกับใครล่ะ เขาไม่มีแนวร่วมทางการเมืองเลย ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซูจีวางท่าทีไม่ชัดเจนคือรักษาระยะห่างจากความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ค่อนข้างสูง แน่นอนว่าเธอต้องแข่งขันทางการเมือง ซึ่งฐานเสียงสำคัญคือคนพม่าแท้ๆ พอใครไปสัมภาษณ์เรื่องนี้ จึงมักตอบด้วยคำพูดอมตะว่า มันมีความซับซ้อนสูง ยากจะอธิบาย"
ฐิติวุฒิบอกว่า การชนะในสนามรบคือการยุติปัญหาด้านชาติพันธุ์อันเป็นเงื่อนไขแบบหนึ่งที่หลายๆ รัฐต้องการ การสถาปนาอำนาจอธิปไตยของรัฐพม่าบนชีวิตชนกลุ่มน้อยคือความปรารถนาหนึ่งของทหาร ซึ่งไม่อาจละทิ้ง "เอกภาพของชาติ"
"ถ้าซูจีกับทหารคุยกันได้ กระบวนการเจรจาทางสันติภาพก็ดำเนินต่อ แต่จะเป็นลักษณะ Talking while fighting คือคุยไปด้วย รบไปด้วย กลุ่มไหนอยู่ในเกมของการเจรจาก็คุยไป แต่ต้องเข้าใจว่า หัวใจสำคัญของรัฐในมุมมองของกองทัพพม่าคือเอกภาพแห่งชาติ ดังนั้น ทหารต้องปราบปรามกองกำลังที่มีท่าทีไม่ยินยอมอยู่ในกรอบ โดยใช้วิธีเด็ดดอกไม้ทีละดอก คือจัดการกลุ่มที่อ่อนแอทีละกลุ่ม ซึ่งจะเป็นโจทย์สำหรับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มอื่นๆ ว่าจะเชื่อใจในการเจรจาหยุดยิงและสันติภาพต่อไปหรือเปล่า ใน 2-3 ปีนี้พม่าจะเจอโจทย์ใหญ่ค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่วันนี้จนถึงเดือนมีนาคม ที่จะมีการเจรจาเลือกประธานาธิบดี เป็นสนามหนึ่ง สนาม 3 ก๊กก็อีกสนามหนึ่ง ส่วนสนามรบก็อีกสนามหนึ่ง"
เมื่อไหร่ก็ตามที่พม่ายังไม่ตระหนักว่าตนเป็นรัฐพหุชาติพันธุ์อย่างแท้จริง ปัญหาก็จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
อีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้คือแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่ถูกบ่มเพาะในพม่า ซึ่งเรียกว่า Ethno Religious Nationalism เกิดขึ้นในพม่า เป็นชาตินิยมบนพื้นฐานศาสนา
"พระสงฆ์กับชาตินิยมในพม่าแยกกันไม่ขาดตั้งแต่สมัยที่พม่าได้รับเอกราช พระสงฆ์มีบทบาททางการเมืองพม่าอยู่เรื่อยๆ พอเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ชัดเจนระหว่างพุทธกับมุสลิม ในแง่ของโรฮีนจาที่ยะไข่ มันสร้างความแตกแยกระหว่างพุทธกับมุสลิมมากขึ้น ทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในพม่ายิ่งซับซ้อน" ฐิติวุฒิปิดท้าย
ด้าน สิทธิพร เนตรนิยม นักปฏิบัติการวิจัย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล ก็มองว่าประเด็นศาสนาในพม่าเป็นเรื่องซับซ้อน แม้กระทั่งภาพลักษณ์ของซูจีคือ "ประชาธิปไตย" ซึ่งต้องให้สิทธิทุกศาสนา แต่ในความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะมีเรื่องของคะแนนเสียงและความเชื่อมั่น
พระสงฆ์ในพม่า มีบทบาททางการเมืองตลอดมา
"ไม่รู้ว่าซูจีเป็นพุทธอนุรักษนิยมหรือเปล่า แต่อย่างน้อยก็ตัดสิทธิมุสลิมไม่ให้เป็น ส.ส. แรกๆ มุสลิมอาจเข้าใจ แต่ต่อๆ ไปอาจชักไม่เข้าใจแล้ว ระยะยาวมีปัญหาแน่"
เส้นทางเศรษฐกิจ กลีบกุหลาบ หรือขวากหนาม?
อีกประเด็นที่น่าจับตาก็คือเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ "เครื่องดื่ม" ซึ่งมีบริษัทใหญ่ของไทยไปลงทุน และเป็นธุรกิจที่ขยายตัวสูงในพม่า
สิทธิพรเล่าว่า สมัยเต็งเส่งเป็น ผบ. ภาคสามเหลี่ยมทองคำก็เคยให้สัมปทานบริษัทเบียร์ยี่ห้อหนึ่งของไทยไปปลูกข้าวมอลต์และบาร์เลย์ที่เชียงตุง แต่ต่อมาทางพม่าทำเอง โดยใช้สัญลักษณ์ทั้งเบียร์และน้ำดื่มคล้ายๆ กับของไทย
"แรกๆ อาจวุ่นหน่อย ต้องเปลี่ยนนาย แต่ระบบคงดำเนินไปเหมือนเดิม มีนักธุรกิจหน้าใหม่และกลุ่ม ส.ส.ที่ใส่หมวกนักธุรกิจหน้าใหม่ๆ เข้ามา แต่พอฮั้วกันได้แล้วก็ไม่น่ามีปัญหา" สิทธิพรวิเคราะห์
ประเด็นนี้ ณัฐวุฒิ ตันตระกูลทรัพย์ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองต่างมุมว่า นักธุรกิจปรับตัวมาตั้งแต่พม่าเปิดประเทศแล้ว
ดังนั้น ไม่ว่าผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไรก็ไม่น่าวุ่น
"การทำธุรกิจในลักษณะที่ต้องมีสายสัมพันธ์กับนายทหารระดับสูงเริ่มจางไปตั้งแต่ปี 2010 แล้ว เพราะการดำเนินธุรกิจต่างๆ เขาพยายามทำให้เป็นสากล แม้ยังไม่เต็มร้อย นักลงทุนก็เรียนรู้กฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนฉบับใหม่ที่เพิ่งออกในปี 2012 ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็คงดำเนินไปในทิศทางนี้อยู่แล้ว"
ศิลปะ และ "ฟรีด้อม" ของปลอมหรือเรื่องจริง?
นอกจากเศรษฐกิจแล้ว ณัฐวุฒิมองว่า การแสดงออกทางความคิด รวมถึงงานศิลปะแขนงต่างๆ ที่เคยถูกตีกรอบก็เริ่มคลี่คลายตั้งแต่หลังปี 2010 เช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฏบทบาทของนักร้องนักแสดงออกมาช่วยซูจีโดยการจัดคอนเสิร์ต, หาเสียงในโซเชียล และอีเวนต์ต่างๆ ของพรรคเอ็นแอลดี
สำหรับนักโทษการเมืองที่ถูกจับก่อนหน้านั้นก็ได้รับอิสรภาพไปแล้วไม่น้อย แม้ต่อมาจะมีการจับกุมเพิ่มเรื่อยๆ แต่ไม่นานก็ปล่อยตัว และมักไม่ใช่ผู้มีบทบาททางการเมืองสูง เป็นแค่แกนนำประท้วงระดับกลางและล่าง
"ยังไม่ต้องพูดเชื่อมโยงกับซูจีหรือผลการเลือกตั้ง เพราะหลังเปิดประเทศ งานศิลปะในพม่าเติบโตค่อนข้างเร็ว เชื่อมโยงกับกระแสการท่องเที่ยว นำมาซึ่งการเกิดแกลเลอรี่ในย่างกุ้ง ซึ่ง 40-50 เปอร์เซ็นต์เป็นภาพวาดทางการเมือง กระทบกระเทียบทหาร ก็จัดแสดงเป็นปกติ ไม่มีการปิดกั้น และทิศทางนี้คงจะดำเนินต่อไป ศิลปินที่เริ่มมีชื่อเสียงก็เกิดขึ้นเยอะ"
ความ "อินเตอร์" ของศิลปินพม่าสอดคล้องกับความเห็นของ สืบสกุล ศรัณพฤฒิ อาจารย์คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ที่บอกว่า ศิลปะการแสดงของพม่าโดดเด่นระดับโลก เพราะมีแรงกดดันจากสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิต ส่วนจิตรกรก็โดดเด่น แม้ไม่มีสถาบันศิลปะร่วมสมัยที่เป็นระบบ ปัจจุบันมีชาวต่างชาติสนใจลงทุนทำแกลเลอรี่ในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพลักษณ์การเปิดประเทศของพม่าจะทำให้ดูเหมือนศิลปินมีอิสระมากขึ้น แต่จากประสบการณ์ในวงการศิลปะพม่า สืบสกุลยืนยันว่าชีวิตจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
"จากที่คุยกับศิลปินพม่าเพื่อทำวิจัยเรื่องความคิด เครื่องมือ และบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้พบว่าแม้แต่การถ่ายรูป ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวไม่ค่อยมีปัญหา แต่ช่างภาพพม่าต้องระวังมาก บางครั้งทหารยึดฟิล์มยึดกล้องไปเลย ซึ่งยังมีเหตุการณ์อย่างนี้อยู่ ขนาดศิลปินที่มาแสดงภาพถ่ายอาเซียนที่ทางภาควิชาผมจัด เขาถึงขนาดประชด โดยการถ่ายภาพกดลงพื้น ผ่านเงาน้ำสะท้อนขึ้นไปข้างบน ซึ่งสื่อถึงการโดนกดขี่โดยรัฐบาลเผด็จการ ส่วนการแสดงผลงานต้องให้หน่วยงานราชการอนุญาตก่อน โดยเฉพาะเมืองนอก แต่ส่วนใหญ่ศิลปินมีคอนเน็กชั่นโดยไม่ผ่านรัฐบาล"
ส่วนหลังการเลือกตั้ง เขามองว่าอิสรภาพในการสร้างสรรค์งานศิลปะน่าจะมีทิศทางที่ดี แต่ก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นใน 2-3 ปี คงต้องใช้เวลา
ทั้งหมดนี้คือมุมมองจากนักวิชาการไทย ส่วนสนามการเมืองพม่าของจริงต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร โปรดอย่ากะพริบตา!