จากกรณีที่ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรรมการแพทยสภา เขียนบทความชื่อ “ขอเรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุขตรวจสอบด่วน! เกี่ยวกับกระบวนการสรรหากรรมการบอร์ด สปสช. และกรรมการควบคุม” เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 58 ผ่านทางเว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ โดยบทความพยายามชี้ให้เห็นว่ากระบวนการสรรหาบอร์ดกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช และกรรมการควบคุม มีลักษณะผิดปกติ เล่นพรรคเล่นพวกเพื่อให้เกิดการลงคะแนนเสียงด้วยกลุ่มคนที่เป็นพรรคพวก (block vote) ส่งผลให้ประเทศชาติเสียหาย แทนที่จะได้ตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงและมีคุณภาพ กลับเกิดการคัดสรรบุคคลเวียนเทียนอยู่ในวงจำกัด ไม่ตรงความเชี่ยวชาญที่กำหนด และเอื้อต่อการทำงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและผิดกฎหมาย พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรรมการตลอด 4 วาระที่ผ่านมา คือวาระที่ 1 (6 พค 2546 – 2550) วาระที่ 2 (พ.ศ.2550 – 2554) วาระที่ 3 (22 พ.ย 2554 – 2558) และวาระที่ 4 (พย 2558 – 2562) และท้ายบทความได้เรียกร้องให้ ปิยสกล สกลสัตยาธร ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสาธารณสุข ดำเนินการให้เด็ดขาด (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุด (18 พ.ย. 58) นายพงษภัทร หงษ์สุขสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ที่มีสิทธิร่วมลงคะแนนคัดเลือกกรรมการสัดส่วนองค์กรเอกชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากที่ได้อ่านบทความของ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่มีข้อความกล่าวหาภาคประชาชนว่าลงคะแนนเสียงให้พวกตัวเองนั้น ต้องขอขอบคุณ พญ.เชิดชูที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ หากเจตนาจะเป็นไปเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพก็ขอให้ตรวจสอบฝ่ายวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิบางกลุ่มด้วย
“ดูจากการกระทำของพญ.เชิดชูแล้วอดคิดไม่ได้จริงๆ ทีพวกเดียวกันมองไม่เห็นแต่พอเป็นฝ่ายตรงข้ามปุ๊บเห็นขึ้นมาทันที ไม่ทราบว่า พญ.เชิดชูเอาอะไรมาตัดสินว่ากระบวนการในการสรรหาของ สปสช. ไม่โปร่งใสจริงๆ เพราะคนที่ประชาชนเค้าเลือกเข้าไปเป็นคนที่จะเข้าไปขัดผลประโยชน์ของตัวเองหรือไม่” นายพงษภัทร กล่าว
นายพงษภัทร กล่าวว่า จากรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งบอร์ด สปสช. พบว่า ฝ่ายวิชาชีพก็มีการวนเวียนดำรงตำแหน่งในวงจำกัดเช่นกัน อาทิเช่น ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการหลัก วาระที่ 1-2 และดำรงตำแหน่งกรรมการควบคุม วาระที่ 3-4, รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง ดำรงตำแหน่งกรรมการหลัก วาระที่ 1, 3, 4 และดำรงตำแหน่งกรรมการควบคุม วาระที่ 2 และ รศ.พรจันทร์ สุวรรณชาติ ดำรงตำแหน่งกรรมการควบคุม วาระที่ 1, 2, 4 ฯลฯ
“ซึ่งการที่จะวนเวียนดำรงตำแหน่งนี้ไม่ใช่เรื่องผิด ตามกฎหมายก็ระบุไว้ว่าเป็นได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน และไม่ใช่เรื่องแปลกที่แต่ละฝ่ายก็จะเลือกคนที่ตัวเองมั่นใจว่าจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนที่ดีของตนได้ ภาคประชาชนก็เลือกตัวแทนนี้ ฝ่ายวิชาชีพก็เลือกตัวแทนตามหลักการนี้ จึงมีชื่อของกรรมการวนเวียนอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ก็ไม่ได้เป็นเกิน 2 วาระติดต่อกัน ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดทุกอย่างที่ระบุว่า กรรมการที่มาจากการคัดเลือกจะดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันไม่ได้” นายพงษภัทร กล่าว
นายพงษภัทร กล่าวต่อว่า สปสช. ได้มีการเปิดกว้างประชาสัมพันธ์ให้ทุกองค์กรขึ้นทะเบียนองค์กรเข้ามาคัดเลือก ซึ่งผู้แทนองค์กรที่ส่งมาคัดเลือกต้องเป็นกรรมการขององค์กรเท่านั้น และ สปสช.จะทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารการขึ้นทะเบียน ในกรณีเอกสารไม่ครบให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมได้ภายใน 1 สัปดาห์ และกรณีผู้แทนที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นเคยเป็นบอร์ดมาแล้วติดต่อกัน 2 วาระก็ต้องถูกยกเลิกไปเพราะผิดกฎหมายและต้องมีผู้แทนองค์กรในที่ประชุม รับรองอย่างน้อย 5 คน
นายพงษภัทร กล่าวว่า เรื่องการบล๊อคโหวตไม่มีแน่นอนเพราะการคัดเลือกใครต้องดูที่ผลงาน ไม่ว่าจะเป็น น.ส.สารี อ๋องสมหวัง นางสุนทรี เซ่งกิ่ง ดร.ยุพดี ศิริสินสุข เคยเป็นบอร์ดมาเมื่อสมัยที่เพิ่งหมดวาระไปและได้พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า พวกเขาสามารถเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้แทนองค์กรทั้ง 9 ด้านจะพร้อมใจเลือก
“การที่ผมลุกขึ้นเดือดร้อนแทนตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกนั้น ใช่ผมมีผลประโยชน์แน่ เพราะผมคือคนที่ใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทองคนหนึ่ง ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบของผมและเป็นของคนไทยทุกคน ดังนั้นผมก็อยากเห็นระบบหลักประกันนี้พัฒนาให้ดีขึ้นไป” นายพงษภัทร กล่าวและว่า ส่วนประเด็นที่ว่า การที่บางองค์กรมีที่อยู่เดียวกันนั้น เป็นเพราะมาจากกลุ่ม อสม.ที่ใช้ที่อยู่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ทำงานอยู่ด้วยกัน
ด้าน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์ของการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนที่เอาไปอวดประชาคมโลกได้อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปนำเสนอในเวทีสหประชาชาติ แต่ตอนนี้มีบุคคลบางกลุ่มกำลังสร้างกระแสเพื่อกดดันให้ หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 เพื่อบ่อนทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ จึงขอให้นายกฯหนักแน่นและใช้ข้อมูลความรู้ในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมที่สุด