18 พ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI)ได้จัดประชุมทางวิชาการเรื่อง “มาตรการทางภาษีด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์เฉพาะ(Earmarked Taxes)” โดยมี ศ.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) รวมทั้ง นักวิชาการ และนักสิ่งแวดล้อม เช่น นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง นายนิอับดูลฆอร์ฟา โต๊ะมิง และนางสาวสุลัดดา พงษ์อุทธา ร่วมเป็นวิทยากร
ศ.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ได้ชี้ให้เห็นว่า มาตรการที่เรียกว่าการเก็บภาษีตามวัตถุประสงค์เฉพาะเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่มีความสำคัญ เจมส์ บูคานัน (James Buchanan) ซึ่งเป็น ปรมาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจากสำนักทางเลือกสาธารณะได้ให้การสนับสนุน เพราะสามารถนำภาษีไปใช้สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะ สร้างบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า ได้รับการยอมรับจากประชาชน มีลักษณะเป็นสัญญาประชาคม แต่ต้องมีหลักยึดว่าเก็บภาษีอะไร เพื่อบริการสาธารณะอะไร ให้ประชาชนเข้าถึงหรือติดตามตรวจสอบได้ และผ่านความเห็นชอบของประชาชน
สำหรับกรณีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำเนินงานของการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะที่ผ่านมานั้น “สามารถปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นได้โดยการสร้างระบบธรรมาภิบาลที่แยกฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายกำกับ ทบทวนขนาดของกองทุนหรือปรับเพดานเงินทุนในระดับที่เหมาะสม การเปิดเผยข้อมูลการจัดสรรเงินทุนและกิจกรรม ประเมินความคุ้มค่าของการใช้จ่าย และการต้องแสดงให้เห็นว่าประชานชนภาคส่วนต่างๆเห็นพ้องด้วยว่าการดำเนินการนั้นเป็นประโยชน์และคุ้มค่า เป็นต้น” ศ.ดิเรกกล่าว
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ได้นำเสนอรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสารเคมีและภาษีสิ่งแวดล้อมประเภทต่างๆว่า ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทิศทางการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น การศึกษาของ OECD พบว่ามีมากถึง 375 รายการ โดยในจำนวนภาษีที่เก็บนี้เป็นประเภทภาษีที่ใช้ประโยชน์ในวัตถุประสงค์เฉพาะ มีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 เช่นในเดนมาร์ก เก็บภาษีสารเคมีเฉลี่ย 37% ของราคาขายปลีก นอรเวย์เก็บภาษีตามความเป็นอันตรายของสาร ปรากฏว่ามาตรการดังกล่าวซึ่งควบคู่กับการนำรายได้จากภาษีไปใช้ประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะในการสนับสนุนแนวทางเกษตรที่ไม่พึ่งพาสารเคมี ทำให้การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มประเทศดังกล่าวลดลงมาเหลือเพียง 30%-50% ของปริมาณการใช้เดิมเท่านั้น ในขณะที่สารพิษตกค้างในอาหารต่ำมากเหลือเพียงไม่เกิน 2-4% เท่านั้น
ด้าน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่าการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์จะเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ราคาสินค้าและบริการสะท้อนต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle) เป็นมาตรการที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ก่อมลพิษ และผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและดำเนินกิจกรรมที่ลดการสร้างมลพิษ
“ช่วง 4-5 ที่ผ่านมา นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผ่านการพิจารณาของหน่วยงานต่างๆและเข้าไปสู่ชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ก็ถูกตีกลับมาเพราะข้อจำกัดของระบบราชการซึ่งไม่สามารถปรับตัวยอมรับแนวทางการบริหารใหม่ๆที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน” เพ็ญโฉม กล่าว
ทางด้าน นายนิอับดูลฆอร์ฟา โต๊ะมิง นักวิจัยจากองค์การ Focus on the Global South แ และนางสาวสุลัดดา พงษ์อุทธา นักวิจัยจากสํานักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของมาตรการภาษีเกี่ยวกับการปลดปล่อยคาร์บอน และการเก็บภาษีน้ำตาลว่า ประสบการณ์ในต่างประเทศทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง และทำให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลได้ โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการจ้างงานของธุรกิจที่เกี่ยวข้องแต่ประการใด
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อมที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะว่า เป็นมาตรการสำคัญที่รับมือกับปัญหาใหม่ๆ สามารถนำมาแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับประโยชน์ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และสร้างความเป็นธรรมในระบบการคลัง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ประชาชนทุกส่วนจะต้องติดตามตรวจสอบการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ว่าจะต้องไม่มีบทบัญญัติใดที่จะห้ามการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะในอนาคต
ที่ประชุมยังเห็นพ้องต้องกันว่า การดำเนินงานของรัฐบาลชั่วคราว เช่น การกำหนดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการส่งเสริมการลงทุน อาจจะส่งผลกระทบต่อการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม และการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยรวมในอนาคต